ยอดติดเชื้อรายใหม่ 20,420 ราย เสียชีวิต 43 ราย โคม่าใกล้แตะ 1 พัน "ครม." ไฟเขียวปรับค่าใช้จ่ายรักษาโควิด-19 แต่ไม่กระทบคุณภาพการรักษาทุกกลุ่มระดับอาการ "สธ." ประเดิมระบบ OPD รักษาผู้ป่วยโควิดแบบเจอ-แจก-จบ คู่ขนานระบบ HI และ CI "สปสช." ปรับสายด่วน 1330 เพิ่มคัดกรองความเสี่ยงก่อนจ่ายยาตามอาการ
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,420 ราย ติดเชื้อในประเทศ 20,183 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19,826 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 357 ราย เรือนจำ 66 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 171 ราย หายป่วยเพิ่ม 18,297 ราย อยู่ระหว่างรักษา 215,725 ราย อาการหนัก 990 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 284 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 43 ราย เป็นชาย 25 ราย หญิง 18 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 31 ราย มีโรคเรื้อรัง 9 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย และเป็นเด็กชาย 1 ปี 1 ราย มีโรคหัวใจแต่กำเนิด
ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 2,912,347 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,673,646 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,976 ราย ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 28 ก.พ. 241,185 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 123,809,855 โดส สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 437,070,803 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,975,015 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากสุดได้แก่ กทม. 2,752 ราย, นนทบุรี 1,292 ราย, ชลบุรี 1,197 ราย, สมุทรปราการ 1,060 ราย, นครศรีธรรมราช 719 ราย, ภูเก็ต 678 ราย, ระยอง 593 ราย, นครปฐม 592 ราย, พระนครศรีอยุธยา 554 ราย และนครราชสีมา 538 ราย
ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 8) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป ตามที่ สธ.เสนอ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายรักษาโรคโควิด-19 สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
น.ส.รัชดากล่าวว่า การปรับอัตราค่าใช้จ่ายจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกลุ่มระดับอาการทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง 1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระดับกลุ่มอาการของผู้ป่วย นับแต่รับหรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ ฉบับนี้ และกำหนดให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่ปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือกรณีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
2.การตรวจคัดกรองด้วยวิธี Real time PCR แบ่งเป็น 1.กรณี 2 ยีน (เหมาจ่าย) ปรับลดเหลือ 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท 2.กรณี 3 ยีน (เหมาจ่าย) ปรับลดเหลือ 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท 3.การตรวจคัดกรองด้วย ATK แบ่งเป็น 1. ATK วิธี Chromatographic immunoassay จ่ายตามจริงไม่เกิน 250 บาท/ครั้ง (จากเดิม 300บาท/ครั้ง) 2. ATK วิธี FIA จ่ายตามจริงไม่เกิน 350 บาท/ครั้ง (จากเดิม 400 บาท/ครั้ง)
4.ปรับปรุงรายการและอัตราค่าบริการเหมาจ่ายกลุ่มสีเขียว กรณี HI CI Hotel Isolation Hospitel โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ให้เบิกได้เฉพาะค่ายาพื้นฐาน ค่าบริการพยาบาลทั่วไป ค่าติดตามอาการ ค่าให้คำปรึกษาของแพทย์ ค่า PPE ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าอาหาร 3 มื้อ รวมถึงค่าที่พักเฉพาะกรณี HI Hospitel โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม หากรักษาตั้งแต่วันที่ 1-6 วัน เหมาจ่าย 6,000 บาท กรณีรักษา 7 วันขึ้นไป เหมาจ่าย 12,000 บาท และ 5.ยา Favipiravir และยา Remdesivir ให้เบิกจ่ายจาก สธ.โดยตรง
วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมบริการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบระบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD วันแรก ที่โรงพยาบาลราชวิถีว่า บริการตรวจรักษาดังกล่าวเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยแบบสมัครใจ นอกจากระบบ HI และ CI ตามปกติ โดยระบบบริการตรวจแบบ OPD นี้ จะเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ให้บริการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เป็นการรักษาแบบเจอ-แจก-จบ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป
"เจอคือตรวจเชื้อพบผลบวก แจกคือการแจกความรู้สร้างความเข้าใจแนะนำให้เข้าถึงระบบ และจบ คือผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบบริการครบวงจร หากผู้ป่วยตรวจ ATK ด้วยตนเองพบผลบวก แนะนำให้โทร.สายด่วน สปสช.1330 เพื่อให้แพทย์ประเมินคัดกรองความเสี่ยง หากเสี่ยงน้อย ก็จะประสานการรักษาผ่าน OPD หรือ HI/CI ตามความสมัครใจ หากผู้ป่วยต้องการเดินทางมารักษาในระบบ OPD ที่คลินิกทางเดินหายใจ หรือ ARI คลินิก ที่ รพ.ก็ทำได้ โดยต้องป้องกันตนเองสูงสุดไม่ให้แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือหากใช้รถสาธารณะก็ต้องป้องกันตนเองสูงสุด" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ส่วน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้ประสาน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ รองรับการดูแลผู้ป่วยโควิดในระบบ OPD โดยเฉพาะ กทม. ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขกว่า 60 แห่งที่มีคลินิกทางเดินหายใจสามารถรองรับผู้ป่วยได้วันละ 10,000 ราย
"OPD โควิดเป็นบริการเสริมที่เป็นทางเลือก ไม่ใช่ทดแทน HI รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีภาวะเสี่ยง ไม่มีประกัน แต่ให้เป็นความสมัครใจ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่หน้างาน" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ในการจ่ายยาเน้นจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผล เหมาะกับผู้ป่วย และไม่ได้รับผลกระทบหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยาเกินจำเป็น โดยสูตรยาที่จะแจกให้กับผู้ติดเชื้อโควิดจะแบ่งไปตามกลุ่มอาการ ได้แก่ 1.สูตรยารักษาตามอาการ 2.สูตรยารักษาการติดเชื้อที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ก็จะจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ รวมถึงยาแก้แพ้ 3. สูตรยาที่มีอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย และจ่ายยาฆ่าเชื้อ 4.สูตรยากลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการแพ้อะม็อกซีซิลลิน 5.สูตรยาที่มีการผสมฟ้าทะลายโจร 6.สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม และ 7.สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ติดเชื้อน้ำหนัก 90 กิโลกรัม
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้ปรับบทบาทของสายด่วน สปสช.1330 จากเดิมที่รับลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการรักษาที่บ้าน ได้เพิ่มบทบาทเป็นผู้ทำหน้าที่คัดกรองความเสี่ยงให้ประชาชนที่ตรวจ ATK แล้วพบผลบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยตามขั้นตอนของ สธ. หากประชาชนมีอาการทางเดินหายใจหรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเองหากผลเป็นบวก นอกจากจะเดินทางเพื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลในส่วนของผู้ป่วยนอกเพื่อรับการประเมิน หากไม่มีภาวะเสี่ยงก็เข้าสู่แนวทางเจอ- แจก-จบ และเข้ารับบริการ tele-health กับโรงพยาบาลนั้น แต่หากมีภาวะเสี่ยง คือเป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มากจะให้เข้าระบบ HI/CI, Hotel Isolation และฮอสพิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล
"กรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต้องการเดินทางไปที่โรงพยาบาล สามารถโทร.1330 ซึ่ง สปสช.และสถานพยาบาลที่รับดูแลจะคัดกรองอาการเบื้องต้น ส่วนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ต้องการเข้าระบบการรักษาที่บ้าน ก็ตัดสินใจร่วมกับผู้ที่ประเมินอาการ เพื่อเข้ารับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และได้รับการดูแลตามระบบได้เช่นเดียวกัน สำหรับหน่วยบริการที่ดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองนั้น สปสช.ยังคงดูแลเหมือนเดิม หน่วยบริการก็จะได้รับการเบิกจ่ายตามอัตราที่กำหนด รวมถึงหากมีอาการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าโรงพยาบาล ก็เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามอัตราที่กำหนดเหมือนที่เคยดำเนินการ ทั้งหมดนี้ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน" เลขาฯ สปสช.กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด
ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ
บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง
"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้