เปิดโต๊ะเจรจาหย่าศึก ยูเครนจี้รัสเซียถอนทหาร ‘ปูติน’สั่งเตรียมนิวเคลียร์!

แฟ้มภาพ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (Photo by Ramil SITDIKOV / SPUTNIK / AFP)

ยูเครนและรัสเซียส่งตัวแทนเจรจากันครั้งแรกที่เบลารุสเมื่อวันจันทร์ ยูเครนตั้งเงื่อนไขให้รัสเซียหยุดยิงและถอนทหาร "เซเลนสกี" เรียกร้องอียูรับยูเครนเป็นสมาชิกทันที ขณะ "ปูติน" ออกคำสั่งให้กำลังรบนิวเคลียร์เตรียมพร้อมขั้นสูง "บิ๊กตู่" เรียกถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห่วง ศก.ไทยได้รับผลกระทบหากยืดเยื้อ สั่งเตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน  การค้าการลงทุน "ดอน" ยันไทยไม่เลือกข้าง “ธปท.” ประเมินแซงก์ชันรัสเซียไม่กระทบระบบการชำระเงินไทย มั่นใจนักธุรกิจรับมือได้

รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการพบเจรจากันเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีออกมาในวันเดียวกับที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเปิดเผยว่า มีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในยูเครนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเป็นมากกว่า 500,000 คนแล้ว ขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างว่าทหารสามารถยึดเมืองขนาดเล็กในแคว้นซาโปริซเซีย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนได้เพิ่มอีก 2 เมือง แต่ความพยายามบุกเข้ายึดกรุงเคียฟ และเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน ยังเผชิญการต้านทานจากทหารยูเครน

 เอเอฟพีและรอยเตอร์กล่าวว่า หลังจากปฏิเสธการนัดพบที่เบลารุส เพื่อนบ้านทางเหนือที่เปิดทางสะดวกให้ทหารรัสเซียรุกข้ามแดนเข้ามาโจมตียูเครน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ตัดสินใจยอมส่งตัวแทนไปเจรจากับรัสเซียที่เมืองชายแดนในเบลารุสเมื่อวันจันทร์ ภายหลังได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส

คณะผู้แทนของยูเครนซึ่งเดินทางไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โอเล็กซีย์ เรซนิคอฟ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีโคลา โทชิตสกี ส่วนผู้แทนของรัสเซียรวมถึงเลโอนิด สลุตสกี ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ  สภาผู้แทนราษฎร

เซเลนสกีไม่ได้คาดหวังว่าการเจรจาครั้งนี้จะมีความคืบหน้าอันใด แต่เขายอมเปิดโอกาสให้รัสเซียได้พูดคุย  สำนักงานของเขากล่าวในแถลงการณ์ว่า ประเด็นสำคัญสำหรับการพูดคุยครั้งนี้คือ ต้องการให้รัสเซียหยุดยิงทันทีและถอนทหารออกจากยูเครน โดยรายงานกล่าวว่า เชื่อแน่ว่ารัสเซียจะปฏิเสธ รัสเซียเคยกล่าวไว้ว่าจะไม่ประกาศจุดยืนอย่างเป็นทางการก่อนพูดคุย กระนั้น วลาดิมีร์ เมดินสกี  ผู้ช่วยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ร่วมคณะเจรจาด้วย กล่าวว่ารัสเซียมีความสนใจจะบรรลุข้อตกลงบางอย่างเท่าที่ทำได้

 ในคำแถลงผ่านวิดีโอครั้งใหม่ ประธานาธิบดีเซเลนสกี ซึ่งสวมเสื้อยืดสีเขียวทหารที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเขาแล้วในตอนนี้ กล่าวเรียกร้องทหารรัสเซียยอมวางอาวุธแล้วออกจากสนามรบไปเพื่อรักษาชีวิตตนเอง เขาอ้างว่านับแต่ปูตินสั่งบุกโจมตียูเครน มีทหารรัสเซียเสียชีวิตแล้วมากกว่า 4,500 นาย

คำกล่าวอ้างของเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างอิสระ  ขณะที่รัสเซียยอมรับว่ามีทหารบาดเจ็บล้มตายในปฏิบัติการที่ปูตินเรียกว่า "ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ" แต่ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลข

เซเลนสกียังบอกด้วยว่า ยูเครนจะปล่อยนักโทษที่มีประสบการณ์รบเพื่อให้คนเหล่านี้มาช่วยสู้รบปกป้องประเทศชาติ "เราต้องตัดสินใจในสิ่งที่ไม่ง่ายในมุมมองทางศีลธรรม แต่เป็นประโยชน์ในมุมมองของการป้องกันประเทศของเรา" เขากล่าว

เขายังขอบคุณโลกตะวันตกอีกครั้งที่ "สนับสนุนพันธมิตรต่อต้านสงครามของเราอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่เคยปรากฏมาก่อน" ขณะเดียวกันเขาเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (อียู) รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกทันทีผ่านระเบียบขั้นตอนพิเศษแบบใหม่

การเจรจาเมื่อวันจันทร์เกิดขึ้น หลังจากโลกตะวันตกเพิ่มการคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียในวันจันทร์อ่อนค่าลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา  และธนาคารรัสเซียหลายแห่งถูกตัดออกจากระบบโทรคมนาคมข้ามธนาคารหรือสวิฟต์ นอกจากนี้ อียู, อังกฤษ  และแคนาดายังประกาศปิดน่านฟ้าห้ามเครื่องบินของรัสเซียบินผ่าน

ไม่เพียงโลกตะวันตก ในเอเชียทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประกาศร่วมการคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียพ้นจากระบบสวิฟต์ โดยเกาหลีใต้ยังประกาศห้ามการส่งออกสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ไปยังรัสเซียด้วย ส่วนสิงคโปร์ประกาศจะร่วมการคว่ำบาตรรัสเซียทั้งด้านการทำธุรกรรมและการส่งออกสินค้าที่อาจใช้เป็นอาวุธ

ปูตินสั่งเตรียมพร้อม 'นิวเคลียร์'

เมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีปูตินออกคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและประธานเสนาธิการทหารจัดวางกำลังรบป้องปรามนิวเคลียร์ของกองทัพรัสเซียไว้ในโหมดพิเศษของการรบ โดยอ้างว่าโลกตะวันตกใช้มาตรการที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซียในด้านเศรษฐกิจ ที่เขาเรียกว่าเป็นการคว่ำบาตรที่ผิดกฎหมาย

คำสั่งล่าสุดของเขาเรียกเสียงประณามจากหลายประเทศ โดยเฉพาะจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า ปูตินทำให้สงครามรุนแรงขึ้นด้วย "วาทกรรมที่อันตราย" เกี่ยวกับการวางกำลังรบนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ 

เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริการะบุว่า นับแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว รัสเซียยิงมิสไซล์โจมตียูเครนแล้วมากกว่า 350 ลูก บางลูกโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน ขณะที่รัฐบาลยูเครนอ้างเมื่อวันอาทิตย์ว่า  การโจมตีของรัสเซียคร่าชีวิตพลเรือนแล้ว 352 คน รวมถึงเด็ก 14 คน แต่มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า มีพลเรือนในยูเครนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 102 คน รวมถึงเด็ก 7 คน

 สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พันธมิตรของยูเครนในตะวันตกประกาศส่งความสนับสนุนด้านอาวุธให้แก่ยูเครนเพิ่มเติม  โดยอียูประกาศว่าจะให้เงินยูเครน 450 ล้านยูโรเพื่อซื้ออาวุธ รวมถึงเครื่องบินรบรัสเซียที่นักบินยูเครนขับเป็น  ส่วนองค์การนาโตประกาศในวันจันทร์ว่า จะจัดส่งมิสไซล์ป้องกันภัยทางอากาศและอาวุธต่อต้านรถถังมาให้ยูเครน

ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลา  10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการให้ความช่วยเหลือดูแลคนไทย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี  สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง  อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ เป็นต้น โดยใช้เวลาหารือกว่า 1 ชั่วโมง

ภายหลังการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการประชุมเพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์และพัฒนาการในยูเครน ซึ่งทวีความตึงเครียดขึ้นด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อทุกประเทศ เนื่องจากทุกประเทศมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทย ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือราคานํ้ามันที่สูงขึ้น และราคาหุ้นและคริปโตที่ลดลง และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอนหากสถานการณ์ยืดเยื้อ   ขณะที่นายดอนระบุว่า ในส่วนของไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง และสนับสนุนความพยายามที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติผ่านการหารือ

ในขณะที่อาเซียนก็ได้ออกถ้อยแถลงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ว่ามีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่ผันผวนและความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในยูเครน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหารือผ่านทุกช่องทาง รวมถึงช่องทางการทูต เพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดความตึงเครียด ซึ่งไทยยินดีต่อความคืบหน้าที่ทั้งสองฝ่ายตกลงนัดที่จะเจรจา ทั้งนี้ ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ไทยงัดแผนรับมือหากยืดเยื้อ

นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศหาช่องทางช่วยเหลือ นอกจากเตรียมแผนอพยพคนไทยออกจากยูเครนแล้ว ยังได้สั่งการให้เตรียมแผน มาตรการรองรับผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย  ทั้งสถานการณ์น้ำมัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ อัตราแลกเปลี่ยน  การค้าและการลงทุน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ การดำเนินการใดๆ ขอให้ทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เหมาะสม และพร้อมรับมือหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนนายสุพัฒนพงษ์ระบุว่า แม้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว แต่กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง โดยได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงานไว้ รวมทั้งได้เตรียมมาตรการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า หากสถานการณ์ยึดเยื้อจะส่งผลกระทบทุกมุมโลก ที่ผ่านมาเราดำเนินการไปหลายอย่าง  แต่ไม่ได้ออกมาพูด สิ่งที่รัฐบาลกังวลคือ ผลกระทบจะมาจากความยึดเยื้อ ซึ่งไม่ใช่แค่คนไทย แต่เป็นทุกๆ ชาติ  โดยฉพาะหากสถานการณ์บานปลาย ซึ่งจะเป็นผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ล้วนอยู่ในฐานะที่จะได้รับผลกระทบได้

เมื่อถามว่า ไม่ว่าผลจะออกอย่างไรรัฐบาลมีแผนรองรับทั้งหมดใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เราจำเป็นต้องมี แผนการอพยพคนไทยที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งจะออกมา 99  คน ในวันที่1-2 มี.ค. แต่ก็ยังมีจำนวนหนึ่งที่ยังไม่พร้อมจะออกมา เพราะมีครอบครัวอยู่นั่น   

ส่วนที่มีนักการเมืองไทยเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังสามารถทำได้หรือเหมาะสมหรือไม่ รมว.การต่างประเทศ  กล่าวว่า รู้ๆ อยู่แล้วในเมืองไทย สิ่งเหล่านี้คนก็จะพูดไปตามนั้น ทั้งนี้เราไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้ เราต้องการความสงบ

ถามว่า หากสถานการณ์ไม่ดีเราจำเป็นต้องเลือกข้างหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอดูสถานการณ์เป็นจริงในวันนี้ สถานการณ์วันนี้ไม่เลือกข้างดีที่สุด เพราะสถานการณ์จะสงบลงโดยเร็ว โดยทุกคนต้องช่วยกันออกมาเรียกร้อง โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน  อย่างไรก็ตามคนไทยต้องช่วยกัน ต้องมีความสามัคคี มีความเป็นปึกเเผ่น เป็นเอกภาพ ประเทศไหนอ่อนแอก็เป็นเหยื่อได้ง่ายดาย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ  ต้องการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรายงานถึงสถานการณ์ ซึ่งในวันที่ 1 มีนาคมจะต้องไปรายงานในการประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.)

ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรตะวันตกประกาศที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ด้วยการตัดบรรดาธนาคารรัสเซียหลายแห่งออกจากระบบสมาคมธุรกิจโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก หรือสวิฟต์ (SWIFT) ว่า ธปท.กำลังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นมองว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการชำระเงินของไทย

 “เรื่องนี้คงทำให้ระบบการชำระเงินของรัสเซียมีปัญหาแน่นอน ส่วนประเทศต่างๆ คิดว่าน่าจะมีแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นเชื่อว่าระบบการชำระเงินของไทยไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่ภาคธุรกิจไทยเท่าที่ได้มีการพูดคุยกับคนที่เข้าไปลงทุนในรัสเซีย ส่วนใหญ่จะมีแนวทางในการบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะปัญหาการแซงก์ชันไม่ใช่เพิ่งเกิด มีเป็นระยะต่อเนื่อง ดังนั้นคงต้องรอดูความชัดเจนว่ารัสเซียจะมีแผนรองรับเรื่องนี้อย่างไร” น.ส.ชญาวดีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง