โควิดเริ่มขาลง มีผู้ติดเชื้อใหม่ 2.2 หมื่นราย เสียชีวิต 42 ราย ปลัด สธ.เผยเดือนมีนาคม กราฟการติดเชื้อจะเข้าสู่ระดับทรงตัวและค่อยๆ ลดลง ด้าน "อนุทิน" ยันยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาดแคลน ไม่เชื่อหมอจะเชื่อใคร
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,311 ราย ติดเชื้อในประเทศ 22,148 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 21,958 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 190 ราย มาจากเรือนจำ 27 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 136 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 17,470 ราย อยู่ระหว่างรักษา 213,645 ราย อาการหนัก 980 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 280 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 42 ราย เป็นชาย 23 ราย หญิง 19 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 29 ราย มีโรคเรื้อรัง 11 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,891,927 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,655,349 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,933 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 27 ก.พ. 106,340 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 123,568,670 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 435,984,567 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,697,986 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษา เป็นการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลถึง 38,479 ราย และจำนวนกว่า 98% เป็นผู้ป่วยอาการสีเขียว ปัจจุบันผู้ป่วยเกิน 90% เป็นการติดเชื้อโอมิครอน กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นย้ำให้ผู้มีอาการน้อยรักษาตัวที่บ้าน สงวนเตียงให้ผู้ป่วยอาการสีเหลืองและแดง หรือที่มีความจำเป็นจริงๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ต้องทานยากดภูมิ คนกลุ่มนี้แม้อาการจะน้อยแต่ก็อาจกระทบกับโรคหลักได้
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,779 ราย, ชลบุรี 1,275 ราย, นนทบุรี 1,0951 ราย, สมุทรปราการ 1,068 ราย, นครศรีธรรมราช 957 ราย, นครราชสีมา 717 ราย, ภูเก็ต 652 ราย, นครปฐม 605 ราย, สมุทรปราการ 585 ราย และปทุมธานี 577 ราย ส่วนคลัสเตอร์ต่างจังหวัด พบที่ร้านอาหารใน จ.มหาสารคาม, ขอนแก่น และสงขลา คลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์พบที่ชลบุรีและปัตตานี คลัสเตอร์โรงเรียนพบที่ร้อยเอ็ดและสกลนคร คลัสเตอร์ตลาดพบที่ร้อยเอ็ดและหนองบัวลำภู คลัสเตอร์พิธีกรรมพบที่อานาจเจริญ, สระแก้ว, กาฬสินธุ์, สกลนคร, เลย และ ศรีสะเกษ ขณะที่ใน กทม.พบคลัสเตอร์โรงเรียนถึง 18 คลัสเตอร์ด้วยกัน
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ว่า ปัจจุบันอัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 59 โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำฉากทัศน์ หรือรูปแบบจำลองการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ในเดือน มี.ค. ซึ่งกราฟการติดเชื้อจะเข้าสู่ระดับทรงตัวและจะค่อยๆ ลดลง ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วต้องใส่ท่อช่วยหายใจ คาดการณ์จะลดลงถึง 400-500 ราย
ขณะที่ผู้เสียชีวิตของไทยวันนี้ 42 ราย ยังคงเป็นผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป 29 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 รวมทั้งปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคมะเร็ง, โรคอ้วน, โรคไต และผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยรุนแรง ภาวะปอดอักเสบสะสม 980 ราย เพิ่ม 25 ราย ส่วนใส่ท่อช่วยหายใจสะสม 280 ราย เพิ่มขึ้น 12 ราย
นพ.เกียรติภูมิยังกล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลสถานการณ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย เข็มแรกฉีดไปแล้วร้อยละ 77 เข็มที่สองฉีดไปแล้วร้อยละ 71.5 เข็ม 3 ขึ้นไปฉีดไปแล้วร้อยละ 29.2 ขณะที่การสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ายามีเพียงพอ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีอยู่ 65,200 เม็ด กระจายไปยังเขตสุขภาพที่ 1-12 จำนวน 13,343,882 เม็ด เขตสุขภาพที่ 13 คือกรุงเทพฯ กระจายไปแล้ว 3,495,636 เม็ด รวมทั้งหมด 16,904,718 เม็ด ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมมีแผนจัดหาและผลิตยาฟาวิพาราเวียร์รวม 87.6 ล้านเม็ด ซึ่งได้มีการเตรียมไว้จนถึง เม.ย.นี้
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รูปแบบผู้ป่วยนอก ว่า ข้อมูลถึงวันที่ 25 ก.พ.พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในระบบรักษาตัวที่บ้านกว่าร้อยละ 56.36 และทำการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในเตียงระดับหนึ่ง คือเตียงผู้ป่วยสีเขียว ร้อยละ 36.10 ทำให้เห็นว่าการระบาดรอบนี้ผู้ป่วยโควิด-19 เกินครึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก สามารถรับยาและทำการรักษาตัวที่บ้านได้ และสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่คลินิกทางเดินหายใจของแต่ละโรงพยาบาลได้ ซึ่งการรักษาโควิด-19 รูปแบบผู้ป่วยนอก (OPD) จะเป็นการรักษาเสริมกับระบบการรักษาตัวที่บ้าน (HI) และในศูนย์พักคอย (CI) หรือในฮอลพิเทล หรือในโรงพยาบาลสนาม
ทั้งนี้ หากประชาชนที่ติดเชื้อเข้ารับการรักษาแบบ OPD ยังคงต้องแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทร.ติดตามอาการครั้งเดียว คือภายใน 48 ชั่วโมง จะไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน แต่จะมีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง ส่วนการเข้ารักษาตัวที่บ้าน จะยังคงให้แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ มีการโทร.ติดตามอาการทุกวัน มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน และมีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง รวมถึงจะมีบริการอื่นๆ เช่นนำส่งอาหาร
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของไทยที่ผ่านมาเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศจะพบการระบาดสูงสุด 1-2 เดือน และจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่พบการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาการเด่นๆ ที่พบในผู้ป่วยโควิดช่วงนี้คือ พบผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอมากขึ้น สำหรับแนวทางสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 แนะนำให้กักตัวที่บ้าน 7 วัน และให้สังเกตอาการตนเองเพิ่มอีก 3 วัน โดยตรวจ ATK ครั้งที่ 1 วันที่ 5-6 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย และตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุจำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลงว่า เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ โดยคณะแพทย์ทั้งหลายทั้งจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกันตลอดเวลา โดยมาตรการและวิธีการต่างๆ ที่ออกมาไม่ได้ออกมาจากการพิจารณาของคนใดคนหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความเห็นร่วมกัน ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสที่จะปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้นหรือไม่ รมว.สาธารณสุขตอบว่า เป็นเรื่องทางวิชาการการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ส่วนฝ่ายนโยบายคือรัฐบาล รัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนข้อเสนอที่บุคลากรการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขขอรับการสนับสนุนทุกรูปแบบอยู่แล้ว ซึ่งปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงยาและวัคซีน รวมทั้งการบริหารจัดการสถานพยาบาลให้สามารถรองรับสถานการณ์การติดเชื้อปัจจุบันได้
นายอนุทินยังกล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทระบุยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลนว่า เรื่องยาต้องเชื่อทางการแพทย์ ส่วนคนที่ไม่เกี่ยวข้องจะมาให้ความเห็นก็ไม่ได้อยู่หน้างาน แต่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ที่รับผิดชอบสาธารณสุขทั้งประเทศ และยังรับผิดชอบการจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์ เพื่อที่จะมารักษา และตนได้ตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยาของกระทรวงสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุด ได้รายงานตลอดว่ามีปริมาณยาที่เพียงพอ หากไม่เชื่อหมอแล้วจะเชื่อใคร
“เขาเป็นชมรมแพทย์ชนบท เป็นเพียงตัวแพทย์ แต่ละคนถือว่าเป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข ต้องรับนโยบายของกระทรวง ถ้าออกมาเป็นความเห็นชมรม ก็ต้องไปพิสูจน์กันว่าที่ออกมาบอกว่ายาไม่เพียงพอ ไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นความจริงในทุกวันนี้ ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องเชื่อคนที่ทำงาน คนที่อยู่หน้างาน" นายอนุทินกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ