‘บิ๊กตู่’สั่งเร่งช่วยภาคใต้ อุตุฯเตือน12จว.ฝนถล่ม

กรมอุตุฯ เตือน 12 จังหวัดภาคใต้ ฝนตกหนักถึงหนักมาก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ทะเลคลื่นลมมีกำลังค่อนข้างแรง นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานระดมกำลังช่วยเหลือ ปชช.จากน้ำท่วมภาคใต้ แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงยะลา ปัตตานี นราธิวาส ปภ.รายงานเกิดอุทกภัยใน 5 จังหวัด และวาตภัยใน 3 จังหวัด ประสานดูแลเร่งช่วยเหลือแล้ว

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 10 เรื่อง “ฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565)” ระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกา ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง  ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กำชับให้ทุกหน่วยงานระดมกำลังเข้าช่วยเหลือให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 25-26 ก.พ.65 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) รวม 18 อําเภอ 76 ตําบล 277 หมู่บ้าน ได้มีการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ทั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการเฝ้าระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หยุดการระบายน้ำเขื่อนบางลางเป็นการชั่วคราวจนกว่ามวลน้ำหลากจะระบายลงสู่ทะเลเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำกลางคลองมูโนะ อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกพื้นที่ และมีการพร่องน้ำในแม่น้ำบางนารา โดยการควบคุมการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำบางนาราตอนบน ตอนล่าง และประตูระบายน้ำน้ำแบ่ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่

สํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (สนง.ปภ.จ.) อําเภอ หน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครและมูลนิธิ เข้าสํารวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาจัดจิตอาสาพระราชทาน นํากําลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยดําเนินการผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ณ อําเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ขณะที่กองทัพเรือ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ลงพื้นที่สํารวจสถานการณ์น้ำท่วม อําเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ ยังมีการเตือนภัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นและไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ระหว่างวันที่ 27-28 ก.พ. คือ จังหวัดยะลา บริเวณอําเภอบันนังสตา อําเภอยะหา และอําเภอรามัน,  จังหวัดปัตตานี บริเวณอําเภอสายบุรี อําเภอยะรัง อําเภอหนองจิก และเมืองปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส บริเวณอําเภอแว้ง อําเภอสุคิริน อําเภอศรีสาคร อําเภอสุไหงปาดี อําเภอตากใบ อําเภอรือเสาะ อําเภอจะแนะ และอําเภอสุไหงโก-ลก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24-26 ก.พ. ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง และปัตตานี รวม 18 อำเภอ 85 ตำบล 277 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,802 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง นอกจากนี้ ยังได้เกิดวาตภัยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี รวม 13 อำเภอ 54 ตำบล 143 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 740 หลัง ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

สถานการณ์น้ำท่วม จ.พัทลุง จากฝนตกหนัก น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำ บวกกับน้ำฝนเกิดน้ำท่วม 5 อำเภอ เมืองฯ, เขาชัยสน, กงหรา, ควนขนุน และตะโหมด ส่งผลพื้นที่ ต.ชะม่วง ต.ควนขนุน และ ต.บ้านสวน น้ำที่ไหลเชี่ยวลำคลองได้ล้นออกหลายจุด ที่บริเวณหมู่ที่ 7 ต.ควนขนุน เข้าท่วมบ้านเรือน ถนนหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร ระดับน้ำสูง 30-40 ซม. เป็นจุดที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุดได้รับผลกระทบจำนวน 70 ครัวเรือน

นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบจากคลื่นลมแรงพัดบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายและน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณแนวชายฝั่งทะเลบ้านหน้าสตน หมู่ 6 ต.หน้าสตน อ.หัวไทร ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบบ้านเรือนเสียหายบางส่วนจากคลื่นลม 100 หลัง ในเบื้องต้นทางเทศบาลตำบลหน้าสตนได้นำกระเบื้องแจกจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อซ่อมแซมให้ได้อยู่ตามปกติแล้ว พร้อมทั้งนำเครื่องจักรกลมาทำแนวกั้นคลื่นป้องกันการกัดเซาะตลิ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นแล้ว

ที่ จ.สงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา ได้รับรายงานว่ามีน้ำท่วมแล้วอย่างน้อย 4อำเภอคือ สะบ้าย้อย, รัตภูมิ, บางกล่ำ และนาหม่อม รวมทั้งยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากวาตภัย เช่น ระโนด, สทิงพระ, สิงหนคร, เทพา และ อ.เมืองฯ บ้านเรือนเสียหาย 200 หลัง นอกจากนี้พื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาก็เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำในทะเลสาบสงขลาหนุนเข้าท่วมแล้วเช่นกัน    

นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากการที่ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อหลายวัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมไหลเข้าท่วมถนนสายเกาะปุด-นาบินหลา และบ้านเรือนของชาวบ้านหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 10 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง เบื้องต้นมีบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหาย ได้รับความเดือดร้อนแล้ว 12 หลัง

จากสถานการณ์ที่มีลมมรสุมพัดถล่มภาคใต้จนเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องใน หลายพื้นที่ของจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ช่วงระหว่างวันที่ 23-26 ก.พ.65 ที่ผ่านมา ที่ฝนกระหน่ำอย่างหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายบุรีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง แม่น้ำสายบุรี ในพื้นที่ ต.บาลอ ต.กายูบอเกาะ ต.อาซ่อง อ.ท่าธง, ต.ตะโละหะลอ ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา มวลน้ำไหลเข้าท่วมถนนสายหลัก-สายรองภายในหมู่บ้าน-บ้านเรือนชาวบ้านและพื้นที่สวนยางพารา ผลไม้ชาวบ้านต้องอพยพสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงไว้บนถนนหลวง ทั้งนี้ มีชาวบ้านต้องการน้ำดื่ม อาหารแห้ง เป็นเบื้องต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศพายุดีเปรสชันฉบับ 3 เตือนฝนตก 25-26 ธ.ค.

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ฉบับที่ 3 โดยมีใจความว่า