‘สธ.’ออกโรงโต้ ‘เตียง’CI‘กทม.’ เหลืออีกนับพัน

ยอดติดเชื้อโควิดใหม่ช่วงวันหยุดลดเล็กน้อยอยู่ที่ 24,719 ราย แต่เสียชีวิตพุ่งถึง 42 ราย นายกฯ ย้ำการ์ดอย่าตก “สธ.” แจงยันศูนย์พักคอย กทม.ยังเหลือเตียงว่างกว่า 1,300 เตียง อนามัยโลกเผย 60% ยังกังวลปัญหาไวรัส “โจ้” แฉเงินกู้รัฐบาลร่อยหรอเหลือแค่ 9 หมื่นล้าน

เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,719 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,869,616 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 16,875 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,637,878​ ราย อยู่ระหว่างรักษา 208,846 ราย อาการหนัก 955 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 268 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 42​ ราย เป็นชาย 24​ ราย หญิง 18​ ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,891 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 27 ก.พ. ประกอบด้วย กทม. 2,645 ราย, ชลบุรี 1,434 ราย, สมุทรปราการ 1,068 ราย, นครศรีธรรมราช 1,011 ราย, นนทบุรี 774 ราย, สมุทรสาคร 734 ราย, นครปฐม 713 ราย,​ ภูเก็ต​ 683 ราย และระยอง​ 681 ราย   

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงระบบรักษาอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเพิ่มเติมแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบเจอ แจก จบ เป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ควบคู่ไปกับระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) โดยเมื่อผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.นี้ สอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่น

"นายกฯ ยังฝากความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบเกณท์ และรวมกลุ่ม 608 และผู้ได้วัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ต้องไม่ประมาท ยังขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม ชะลอเดินทาง  ทำงานที่บ้าน ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง” นายธนกรระบุ

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ สธ. กล่าวถึงกรณีเพจหมอแล็บแพนด้าเผยแพร่ภาพข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล้นศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) ของกทม. ว่า กทม.มี CI ทั้งหมด 31 แห่ง รวมประมาณ 3,981 เตียง มีการใช้เตียงแล้ว 2,644 เตียง ยังเหลือเตียงว่างอีก 1,337 เตียง นอกจากนี้ กทม.ยังเตรียมเปิด CI เพิ่มอีก 9 แห่ง จำนวน 1,000 เตียงด้วย จึงยืนยันว่าภาพรวมเตียง CI ใน กทม.ยังมีว่างพอรองรับผู้ติดเชื้อ

 “ภาพผู้ติดเชื้อที่เกินจำนวนเตียง CI รองรับ เป็นเฉพาะส่วนที่ภาคประชาสังคมรับผิดชอบดำเนินการแห่งหนึ่ง รวมประมาณ 120 เตียง แต่รับผู้ติดเชื้อเกินไปถึง 200 คน ซึ่งได้สื่อสารทำความเข้าใจตลอดว่า หากเกินกำลังให้ส่งต่อไปยัง CI จุดอื่นของ กทม. ที่มีเตียงว่างอีกจำนวนมาก และพร้อมรับผู้ติดเชื้อไปดูแล และหากมีผู้เข้าใช้เตียง CI เกิน 70-80% กทม.ก็พร้อมขยาย CI เพิ่มอีก” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

ส่วน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้เผยผลสำรวจเรื่อง “ความกังวลและความรู้สึกต่อสถานการณ์โควิด-19” พบว่า ประชาชน 60% มีความกังวล กลัวการระบาด ขณะที่ 34.4% มีความตระหนัก แต่ไม่ถึงกับตระหนก และ 34.1% เครียดกับการใช้ชีวิต กระทบการเรียน การงาน และรายได้ ส่วน 21.3% ชินชากับสถานการณ์ นอกจากนี้ยังพบว่ากิจกรรมที่ประชาชนจำเป็นต้องทำ แต่ทำไม่ได้ในช่วงนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุดคือ การไปเรียนและให้บุตรหลานไปเรียนในสถานศึกษา และอยากเดินทางข้ามจังหวัดไปเยี่ยมญาติ หรือทำงาน และไปสังสรรค์ ปาร์ตี้กับญาติ เพื่อนฝูง

   ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เงินกู้ตามพระราชกำหนดของรัฐบาล 5 แสนล้านบาท ตอนนี้เหลืออยู่  9 หมื่นล้านบาท แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังทวีความรุนแรง หากรวมการตรวจ RT-PCR และ ATK เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อล้นโรงพยาบาล และให้รักษาตัวที่บ้านเป็นจำนวนมาก ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ก็ขาดแคลน ไม่มีชุดตรวจ ATK ฉะนั้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลหมดเงินแล้ว ถ้าพระรามตู่จะกู้เงินต่อ ต้องนำเรื่องเข้าสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน แต่พระรามตู่ก็ไม่มั่นใจว่าสภาจะยกมือเห็นชอบให้หรือไม่ ถ้ากฎหมายสำคัญเข้าสภาแล้วเกิดสภาไม่เห็นชอบ พระรามตู่ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

น.ส.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดสายด่วนรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังให้ได้รับการรักษาก่อน เนื่องจากเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดและได้รับยาด้วยความรวดเร็วเพื่อลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต หลังมีการรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 20-24 ก.พ. จำนวน 255 ราย พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มากกว่า 97% เป็นผู้สูงอายุหรืออายุน้อย แต่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ นั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยัน 524 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่กระจายใน 19 อำเภอ จากทั้งหมด 23 อำเภอ ส่วน จ.อำนาจเจริญ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 48 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

จ.ชุมพร พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 199 ราย (RT-PCR) และผลตรวจ ATK พบผู้ติดเชื้อ 390 ราย ทำให้ยอดสะสมของผู้ป่วยระลอกใหม่นับตั้งแต่ปีใหม่วันที่ 1 ม.ค. มีผู้ป่วยแล้ว 6,526 ราย ส่วน จ.ตรัง พบผู้ติดเชื้อใหม่ 163 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 2,777 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 18 ราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง