โอมิครอน90%นอนอยู่บ้าน

ไทยพบติดโควิดหนักต่อเนื่อง ตาย 40 ราย ปลัด สธ.แจง ดูแลผู้ป่วยโควิดแบบผู้ป่วยนอก ที่จะเริ่ม 1 มี.ค. เป็นการจัดบริการเพิ่มจากระบบปกติ ไม่ได้ยกเลิก HI/CI เร่งหารือ 3 ราชวิทยาลัยแพทย์วางหลักเกณฑ์ขั้นตอนการรับบริการ ยืนยันดูแลแบบผู้ป่วยนอกได้

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,615 ราย ติดเชื้อในประเทศ 25,260 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24,897 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 363 ราย, มาจากเรือนจำ 189 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 166 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 14,641 ราย อยู่ระหว่างรักษา 201,044 ราย อาการหนัก 965 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 263 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 40 ราย เป็นชาย 23 ราย หญิง 17 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 34 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,844,897 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,621,004 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,849 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 25 ก.พ. 380,104 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 123,159,238 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 433,602,749 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,957,148 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,234 ราย, ชลบุรี 1,310ราย, นนทบุรี 1,129 ราย, สมุทรปราการ 1,118 ราย, นครราชสีมา 866 ราย,  นครศรีธรรมราช 813 ราย, นครปฐม 793 ราย, ราชบุรี 770 ราย, ภูเก็ต 698 ราย และพระนครศรีอยุธยา 692 ราย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเพิ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ที่จะเริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2565 ว่า การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอกเป็นบริการเพิ่มเติมจากระบบปกติ ไม่ได้มีการยกเลิกระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ดังนั้น หากผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกยังสามารถติดต่อเข้าระบบ HI/CI ได้ตามปกติ แต่ที่เพิ่มการดูแลแบบผู้ป่วยนอก เพื่อรองรับกรณียังเข้าระบบ HI/CI ไม่ได้ หรือยังไม่ได้รับการติดต่อ เป็นทางเลือกให้สามารถไปรับบริการที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย จ่ายยารักษาตามระดับอาการอย่างเหมาะสม และให้คำแนะนำในการกลับไปแยกกักรักษาที่บ้าน ซึ่งรายละเอียด ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ 3 แห่ง คือ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า การเพิ่มบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกสามารถทำได้ เนื่องจากโรคโควิด-19 ที่พบในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่ง 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ออกคำแนะนำการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กเบื้องต้นแล้วว่า สามารถตรวจรักษาในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ จึงเป็นที่มาของการเพิ่มแนวทางการดูแลดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถือเป็นการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมการปรับเปลี่ยนโรคโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic)

 “การไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกโควิดวันที่ 1 มีนาคมนี้ เบื้องต้นสามารถไปรับบริการได้ทุกที่ เนื่องจากยังคงประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉินภายใต้สิทธิ UCEP COVID อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือกับกองทุนสุขภาพแต่ละกองทุนถึงแนวทางการเบิกจ่ายค่าบริการโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกให้เหมาะสมต่อไป” นพ.เกียรติภูมิกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง