โอมิครอนแรงใกล้ทะลุ 2.5 หมื่น

สถานการณ์โควิดพุ่งต่อเนื่อง ยอดติดเชื้อรายใหม่ 24,932 ราย เสียชีวิต 41 ราย “บิ๊กตู่” ย้ำโอมิครอนติดเร็วแต่ป้องกันได้ ขอ ปชช.ยึดป้องกันแบบครอบจักรวาล “สธ.” เดินหน้าแผนปรับโควิดจากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น จัดบริการผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” มั่นใจ 1 มี.ค.เริ่มได้ “กทม.” ยกระดับดูแลผู้ติดเชื้อตั้งเป้าเข้าถึงผู้ป่วยใน 12 ชม. “นครพนม” เข้มห้ามดื่มเหล้าในร้านถึง 15 มี.ค. งานศพสวด 3 วันเผา งานแต่งงานชะลอก่อน

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,932 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 24,564 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24,447 ราย ค้นหาเชิงรุก 117 ราย เรือนจำ 201 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 167 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,819,282 ราย หายป่วยเพิ่ม 15,774 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,606,363 ราย อยู่ระหว่างรักษา 190,110 ราย อาการหนัก 931 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 254 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 41 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 21 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 30 ราย มีโรคเรื้อรัง 10 ราย และมีเด็กอายุ 3 เดือน เสียชีวิต 1 ราย โดยไม่ได้ระบุโรคประจำตัว ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,809 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 431,968,632 ราย เสียชีวิตสะสม 5,947,686 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 25 ก.พ. ได้แก่ กทม. 3,285 ราย,  ชลบุรี 1,419 ราย, สมุทรปราการ 1,128 ราย, นครศรีธรรมราช 911 ราย, นนทบุรี 775 ราย, ราชบุรี 738 ราย, สมุทรสาคร 716 ราย, ภูเก็ต 684 ราย, นครปฐม 649 ราย และนครราชสีมา 644 ราย   

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยันข้อมูลทางการแพทย์โควิดสายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ประชาชนยังสามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตนตามหลัก Universal Prevention อย่างเคร่งครัด และเข้ารับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ รวมทั้งเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะประชาชนกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก

“โรคโควิดยังเป็นโรคฉุกเฉินและยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ สถานพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ส่วนการรักษาทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบจะเข้าไปดูแล โดยประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยต้องไม่คิดค่าใช้จ่าย”โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้เตรียมแผนการบริหารจัดการให้โควิด-19 ออกจากการเป็นโรคระบาดไปสู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไป หรือโรคประจำถิ่น คือการที่โรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตรายมาก มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประชาชนมีภูมิต้านทางมากเพียงพอ จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจากนี้ โดยได้จัดระบบบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มการดูแลในระบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เจอ แจก จบ โดยทำการตรวจผู้ที่สงสัยป่วยโควิดด้วยชุดตรวจ ATK หากพบผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร ได้แก่ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.ยาฟ้าทะลายโจร 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มี.ค.นี้

“ขณะนี้มีจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ตที่ดำเนินการอยู่แล้วพบว่าได้ผลดี ส่วนศิริราชพยาบาลได้วางระบบต้นแบบนี้ไว้เช่นกัน โดยให้ผู้ป่วยดูแลตนเองที่บ้าน ไม่พบคนหมู่มาก พยายามแยกตัวออกจากผู้อื่น ลดการเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ สำหรับกลุ่ม 608 สามารถใช้ระบบนี้ได้ หากมีความเสี่ยงสูงหรือโรคประจำตัวมาก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้การรักษาแบบผู้ป่วยในต่อไป” ปลัด สธ.ระบุ

ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีเด็กชาย 2 ขวบ มีอาการลองโควิดเสียชีวิตว่า จากการติดตามข่าวคาดว่าการเสียชีวิตของเด็กชายคนดังกล่าวไม่ใช่ลองโควิด (Long Covid) แต่เป็นมิสซี  MIS-C มากกว่า ลองโควิดและมิสซีต่างกัน โดยลองโควิดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังหายป่วยจากโควิด อาการที่หลงเหลืออยู่จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมิสซีเป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกายในอวัยวะต่างๆ ทั้งไตอักเสบ เส้นเลือด สมอง และไม่ได้เกิดจากโควิดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการป้องกันภาวะดังกล่าวคือให้เด็กรับวัคซีน 

“มิสซียังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และต้องติดตาม แต่ความผิดปกติเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากหายจากโควิดไม่นาน ดังนั้นเด็กที่หายป่วยแล้วยังต้องติดตามอาการ หรือหากไม่แน่ใจก็ควรรีบปรึกษาแพทย์  เพราะไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนที่หายป่วยแล้วจะเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดโควิดระลอกใหม่ โดยมีการวางแผนการตรวจคัดกรองโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดให้กับประชาชน และฉีดวัคซีนโควิด รวมทั้งบริหารจัดการผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation: CI) และฮอสพิเทล (Hospitel) พร้อมขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในโรงพยาบาล (รพ.) หลัก รพ.สนาม ฮอสพิเทล รวมทั้งเตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่ม โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล ผ่านช่องทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์ EOC ทั้ง 50 สำนักงานเขต

“ผู้ป่วยติดเชื้อหากประสงค์ทำการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน สามารถโทร.แจ้งได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14, สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือสายด่วน EOC 50 เขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเป้าหมายการเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 12 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดต่อกับผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หากผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง และสามารถแยกกักตัวได้ จะเข้าสู่การแยกกักรักษาที่บ้าน ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือไม่สามารถแยกกักที่บ้านได้ จะนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือส่งไปยัง รพ.สนาม หรือส่งต่อรักษาใน รพ. ตามระดับความรุนแรงของอาการต่อไป" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

จ.นครพนม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม มีมติปรับลดจำนวนคนร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือรวมกลุ่มของบุคคลไม่เกิน 200 คน โดยให้แจ้ง ศปก.อำเภอ และให้ชะลอหรือเลื่อนการจัดกิจกรรม งานบุญประเพณี งานมงคลสมรส ฯลฯ ในระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-7 มี.ค. หากจำเป็นให้ผู้จัดหรือผู้รับผิดชอบงดให้มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนประเพณีงานศพให้เจ้าภาพจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 200 คน ระยะเวลาจัดงานไม่ควรเกิน 3 วัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ให้มีมหรสพทุกประเภทตลอดการจัดงาน

จ.ชัยนาท  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดคลัสเตอร์ตลาดภาษีซุงและปิดให้บริการไป 2 วัน เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ได้เปิดโดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจ ATK ให้กับผู้ค้าและลูกจ้างในตลาดภาษีซุง 370 คนซ้ำเป็นรอบที่ 2 พบผลตรวจเป็นบวกจำนวน 21 คน และมีกลุ่มเสี่ยงสูง 40 คน เป็นผู้ค้าในโซนขายอาหารปรุงสุกและโซนขายพวงมาลัย ทางผู้บริหารตลาดภาษีซุงจึงสั่งปิดตลาดเฉพาะบริเวณ 2 โซนดังกล่าว เป็นเวลา 7 วัน เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคและควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนร้านค้าในโซนอื่นๆ ยังอนุญาตให้เปิดค้าขายตามปกติ แต่ผู้ค้าต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทำให้ขณะนี้คลัสเตอร์ตลาดภาษีซุงมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วจำนวน 34 ราย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์

นายใหญ่เมินห่วงปมเศรษฐา

“ทักษิณ” ไม่ห่วง “เศรษฐา”  ปมศาล รธน. มั่นใจพา พท.กลับมาผงาดได้ ไม่ขอแตะ “ลุงตู่” หลังมีกระแสคิดถึง