เปิดประชุมร่วมรัฐสภา อภิปราย-ลงมติ "เห็นชอบ-ตีตก" ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบ รธน. 10 ฉบับ สภาสูงส่งสัญญาณ สอยร่วง 2 ร่างฝ่ายค้าน แก้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองเปิดช่องคนนอกครอบงำ พท.ส่ง 20 ส.ส.แจงสู้ ส.ว.-พรรคร่วม รบ.ประสานเสียง ไม่มีวางแผนล้มกระดานคว่่ำ กม.ลูก ให้กลับไปรีสตาร์ทบัตรใบเดียว
วันที่ 24 ก.พ.นี้ เป็นวันเริ่มต้นวันแรกของการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่มีการเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาด้วยกัน 10 ร่าง ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการ โดยคาดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะมีการลงมติว่าจะให้ร่างฉบับใดผ่านวาระแรกหรือไม่ ในช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 25 ก.พ.
โดยท่าทีของฝ่ายต่างๆ ก่อนจะมีการประชุมเกิดขึ้น เริ่มที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เท่าที่ฟังเสียง ส.ว. เห็นตรงกันร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 4 ฉบับ น่าจะได้รับความเห็นชอบทุกฉบับ เพราะเนื้อหาในหลักการแก้ไขแต่ละฉบับคล้ายคลึงกัน แต่จะยึดร่างฉบับของรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 6 ฉบับนั้น ส.ว.เห็นตรงกัน จะให้ผ่านเฉพาะร่างที่มีเนื้อหาสอดรับการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เช่น จำนวนส.ส. การทำไพรมารีโหวตเท่านั้น แต่ร่างที่แก้ไขเนื้อหาที่เกินลงกา โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 28-29 เปิดช่องให้คนนอกแทรกแซงครอบงำพรรค ที่ไม่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเลือกตั้งนั้น ส.ว.คงไม่ให้ผ่าน เพราะเร็วเกินไปที่จะแก้ไขในตอนนี้
นายวันชัยกล่าวต่อว่า พรรคการเมืองไม่ควรใจร้อน ประเด็นใดที่สร้างความขัดแย้งอย่าเพิ่งนำมาแก้ไขในเวลานี้ ควรทำเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมืองให้เรียบร้อยก่อน ขอให้แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ส.ว.พร้อมจะไปด้วย ส่วนกระแสข่าว ส.ว.จะโหวตล้มร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะการแก้ไขต้องสอดรับกับรัฐธรรมนูญคือ ให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเท่านั้น
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวเช่นกันว่า สำหรับกระแสข่าว ส.ว.จะปัดตกร่างกฎหมายลูกทุกฉบับ เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น ยืนยันไม่เป็นความจริงหนึ่งหมื่นเปอร์เซ็นต์ และเวลานี้ประเด็นอยู่ที่ว่า ส.ว.จะรับหลักการกี่ฉบับมากกว่า
อนึ่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่เสนอให้แก้และตัดออก มีมาตรา 28 และ 29 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม มีด้วยกัน 2 ร่างคือ ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และอีกร่างเสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ร่วมลงชื่อด้วย
ส่วนท่าทีพรรคฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวเช่นกันว่า ที่มีกระแสข่าว มีการตั้งธงว่าร่างแก้ไขพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับของพรรคฝ่ายค้านอาจถูกตีตกในวาระแรกนั้น ทราบว่าสมาชิกรัฐสภาบางคนจะไม่รับหลักการ เชื่อว่าหาก ส.ส.และ ส.ว.ได้ฟังหลักการอย่างลึกซึ้งจะเปลี่ยนใจ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยืนยันว่าไม่ได้แตะต้องบทบัญญัติเดิมของมาตรา 28 และ 29 แต่สิ่งที่มีปัญหาจากการตีความเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากคำว่า ชี้นำ ถูกนำไปตีความอย่างกว้าง จึงเขียนเป็นว่าการเสนอแนะ ให้คำปรึกษา ชี้แนะ การให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หากเป็นลักษณะนี้ไม่เข้ากรณีครอบงำชี้นำ ย้ำว่าเขียนให้ชัดเท่านั้น มั่นใจว่าถ้าฟังสมาชิกรัฐสภาได้ฟังการอภิปรายอาจจะรับทั้ง 6 ฉบับ
เมื่อถามว่า หากร่างของฝ่ายค้านถูกตีตก มีการวางแนวทางในการเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติรับหลักการทุกร่าง ไม่ว่าเสนอโดยใคร จะร่วมในกรรมาธิการ เพราะเป็นประเด็นสำคัญ เราต้องเข้าไปต่อสู้ในการเขียนบทบัญญัติแต่ละมาตรา ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นที่ต้องปฏิเสธการเข้าร่วม
นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความพร้อมของพรรคเพื่อไทยในการอภิปรายเรื่องนี้ว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมผู้อภิปรายร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับไว้ 20 คน กระแสข่าวที่ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.จะคว่ำร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ไม่ทราบ แต่จุดยืนของเรา จะโหวตผ่านให้กฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ แล้วค่อยนำไปถกกันอีกครั้งในชั้นแปรญัตติ ที่จะมุ่งเน้นไปยังเรื่องบัตรเลือกตั้งระบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ให้เป็นเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ และการนับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้กลับไปยึดแบบรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก
นายสุทินยังกล่าวถึงข้อกังวลของพรรคการเมืองขนาดเล็ก หากกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับผ่าน จะทำให้เสียเปรียบ ก็ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น หากกฎหมายผ่านไปก็ต้องใช้กฎหมายฉบับใหม่ อยากให้ไปมองที่การชี้วัด การเลือกตั้งให้ไปถึงความนิยม หากคนนิยมมากก็จะได้คะแนนมามาก แม้แต่พรรคเพื่อไทย หากมีการแก้เป็นระบบบัตร 2 ใบ ที่มองว่าจะทำให้ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย หรือ Land slide ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความนิยมของประชาชนและเรื่องนโยบายมากกว่า
ส่วนท่าทีฝ่ายรัฐบาลที่เสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาด้วย โดยเป็นการเสนอแทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและพรรคร่วมรัฐบาล ที่ร่วมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับต่อรัฐสภา
ภท.ยันหนุนบัตร 2 ใบ
ทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว ส.ว.จะไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับใดฉบับหนึ่งว่า ไม่ได้ยินกระแสข่าวดังกล่าว โดยถ้าเขาไม่เอาด้วยก็ไม่ยกมือ ไม่กดบัตรให้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่เขาไม่เอาด้วยฉบับไหน เพราะมันมีร่างอยู่หลายฉบับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีอยู่ 6 ฉบับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีอยู่ 4 ฉบับ ไม่รู้ว่าเขาไม่เอากับฉบับไหน
เมื่อถามว่า โดยรวมเชื่อว่าจะมีฉบับใดฉบับหนึ่งของแต่ละร่างผ่านแน่นอนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แน่นอน
ส่วนที่มีคนออกมาพูดว่าอยากกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มีทางเป็นไปได้หรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ขอไม่ตอบ เมื่อถามย้ำว่าจะกลับไปเป็นบัตรใบเดียวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ถามว่าสามารถคือพูดถึงความเป็นไปได้ในทางกฎหมาย ตอบว่าเป็นไปได้ แต่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ ผมไม่ทราบ”
ต่อข้อถามว่า ในทางปฏิบัติจะยากหรือไม่ ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญกลับมาเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว นายวิษณุกล่าวว่า “มันก็ผูกติดกับเรื่องของเวลา เรื่องสมัยประชุม ที่สำคัญผูกติดกับความต้องการของ ส.ส.”
เมื่อถามว่า หากกฎหมายลูกไม่ผ่านทั้ง 2 ฉบับ จะกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวได้หรือไม่ นายวิษณุถึงขั้นร้องว่า “ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญที่แก้มาแล้วมันยังอยู่ เอาให้มันแน่ว่ามันไม่ผ่านแล้วค่อยบอก ตอนนี้เราตั้งหลักให้ผ่านเสียก่อน อย่าเพิ่งไปพูดหรือคิดอะไร แต่เชื่อว่าทุกคนแอบคิด ฝ่ายค้านก็คิด รัฐบาลก็ต้องคิด ทุกคนคิดทั้งนั้น เคยบอกคิดไม่ออก วันรุ่งขึ้น นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยออกมาพูดทำนองว่ารู้แล้วแต่ไม่ยอมบอก แสดงว่านายสมคิดก็รู้ว่าทำอย่างไร ทุกคนเขาคิดทั้งนั้น"
เมื่อถามย้ำว่า ถึงอย่างไรหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้งสองใบก็จะมีวิธีการเลือกตั้ง ไม่ว่ากฎหมายลูกจะผ่านหรือไม่ผ่านใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ แต่จะทำได้หลายวิธี หากเลือกใช้วิธีใดเข้าก็จะมีคนเถียงว่าทำไมไม่ใช้วิธีอื่น ถ้าส่งศาลรัฐธรรมนูญจะเสี่ยง ที่พูดทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าไม่มีทาง ซึ่งทำได้ แต่จะไม่เป็นที่ยอมรับกัน และมีคนค้านไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วย การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ ซึ่งไม่ใช่ไม่มีทางออก มันมีทาง แต่รู้ได้อย่างไรว่าทางนั้นถูก แต่หากมีกฎหมายลูกออกมาก็จัดเลือกตั้งตามกฎหมาย ไม่มีผิด อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ากฎหมายลูกจะผ่านไปได้ ส่วนกระแสข่าวในคณะรัฐมนตรีมีคนอยากให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญที่แก้ไขผ่านมานั้นเป็นร่างของพรรคการเมือง ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพรรคภูมิใจไทยเคารพและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญทุกประการ พรรคมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการย้อนกลับไปใช้กติกาแบบเดิม หรือแบบบัตรใบเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้นการรายงานข่าวที่ออกมาทำนองว่าพรรคภูมิใจไทยจะผลักดันให้กลับไปใช้บัตรใบเดียวจึงเป็นเรื่องเท็จ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ตอบคำถามสื่อหลังถูกถามว่ามีกระแสข่าวว่า ส.ว.บางส่วนจะโหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่งจะเป็นอย่างไร นายศักดิ์สยามตอบว่า "ภูมิใจไทยอย่างไรก็ได้"
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ หลังสื่อถามถึงกระแสข่าวจะมีการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจริงหรือไม่
ชงแก้ รธน.นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.
วันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ ส.ส.เพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ตามมาตรา 256 จำนวน 3 ฉบับ 1.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ซึ่งแก้ไขให้มาจาก ส.ส.เท่านั้น และดำเนินการตามมาตรา 88 คือให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ได้ แต่ผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขมาตรา 170 (2) ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เป็นการเฉพาะ ให้สิ้นสุดลงเพราะเหตุอันสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส.ด้วย
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า ประเด็นที่สองที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคือ แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน และ 3.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ตามมาตรา 29 เรื่องสิทธิประกันตนตามกฎหมายอาญา ให้ครอบคลุมเข้าถึง รวมถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นต้องได้รับความคุ้มครอง ส่วนสิทธิการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ เราเพิ่มเติมให้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย