“บิ๊กตู่” เรียกแกนนำพรรคร่วมฯ ถกสถานการณ์หลังลือหึ่งมีบางกลุ่มจ้องคว่ำ กม.ลูก 1 ฉบับ รมต.ภท.ชงแก้ไข รธน.กลับไปใช้บัตรใบเดียว แต่ยังไม่ตกผลึก ตอนนี้โหวตรับหลักการวาระแรกก่อน ให้ยึดร่างของ ส.ส.พปชร.เป็นร่างหลัก “บิ๊กป้อม” กำชับ ส.ส.เข้าร่วมประชุมสภารักษาแชมป์โหวต "พท." แจงยิบ "พ.ร.ป.พรรคการเมือง-พ.ร.ป.เลือกตั้ง" เบอร์เขต ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์เดียวกัน ย้ำเขียนให้ชัดคนภายนอกให้คำปรึกษาไม่ครอบงำพรรค แต่ส่อถูกตีตก ส.ว.ประกาศแล้วไม่ให้ผ่าน โวยเปิดทางคนนอกแทรกแซงพรรค
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงกรณีรัฐสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ..... และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ..... วาระแรก ระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ. ว่าร่างกฎหมายลูกที่เสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเป็นร่างหลักที่จะนำมาใช้ได้ เพราะเขียนไว้กว้าง ขณะที่ฉบับอื่นๆ เขียนไว้แคบกว่า ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวเสริมว่า ในการพิจารณากฎหมายวันที่ 24 ก.พ. มีวาระและกฎหมายสำคัญ จึงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วยกำกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า อย่าให้ขาดประชุม ต้องอยู่ให้ครบวันที่ 24 ก.พ. อยากให้อยู่ถึง 21.30 น.
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมครม. ในช่วงพักเบรกการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปหารือในห้องสีเหลืองนานกว่าครึ่งชั่วโมง โดยได้พูดกันถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ที่กำลังจะพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะมีกระแสข่าวออกมาจากรัฐสภาว่ามีบางกลุ่มจะคว่ำกฎหมายลูกจำนวน 1 ฉบับ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จะเกิดสุญญากาศ โดยมีรัฐมนตรีคนหนึ่งจากพรรคภูมิใจไทยได้เสนอไอเดียว่า ให้กลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวเหมือนเดิมจะดีหรือไม่ หากเป็นเหตุผลนี้ทางพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะเอาด้วย อีกทั้งยังทำให้สภาอยู่ครบวาระด้วย แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้มีข้อสรุปหรือตกผลึก เป็นเพียงการรับฟังและแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น พร้อมกับระบุว่า ตอนนี้ให้ลงมติรับหลักการกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับในวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วเปิดประชุมสมัยสามัญในเดือน พ.ค.65 ค่อยว่ากัน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณากฎหมายลูก ว่า เท่าที่ทราบจะยึดร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.เป็นร่างหลัก ในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรค ปชป.จะลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ เพราะเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นร่างของพรรค ปชป. เมื่อ ปชป.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้ว และกฎหมายลูกนี้เป็นผลพวงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพรรค ปชป.จึงสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมติวิปรัฐบาล
ที่ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ มีการประชุม ส.ส.ของพรรค โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ทั้งนี้ ได้กำชับให้ ส.ส.เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างพร้อมเพรียง ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม ในเวลา 15.05 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ได้เดินทางมาที่ทำการพรรค โดยในช่วงเช้า พล.อ.ประวิตรได้ลาการประชุม ครม. เนื่องจากท้องเสีย โดยมีสีหน้าสดชื่น และมีแกนนำพรรค และ ส.ส.มาต้อนรับ
'ป้อม'กำชับสส.ประชุมสภา
ต่อมาเวลา 15.40 น. นายไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ว่า เลขาฯ วิปรัฐบาลได้ชี้แจงวาระการประชุมสภาในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ซึ่งมีกฎหมายเข้าพิจารณาหลายฉบับ และมีการลงมติแบบต่อเนื่อง คาดว่าจะเลิกประชุมสภาในเวลา 21.00 น. ก็ขอให้ ส.ส.ทุกคนอยู่ร่วมประชุมถึงเวลาดังกล่าวด้วย ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งทาง ส.ส.พปชร.มีความพร้อมที่จะประชุมอย่างเต็มที่ เชื่อว่าการประชุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หัวหน้าพรรคกำชับอยากให้ทุกการประชุมมี ส.ส.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยเฉพาะการประชุมที่รัฐสภาได้กำชับเป็นพิเศษว่าเราต้องรักษาแชมป์ ที่ส.ส.พปชร.มีความเอาใจใส่และเข้าร่วมประชุมสภามากที่สุด เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้
นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ พบว่ามี 8 คนที่เข้าร่วมโหวตครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.64-ก.พ.65 จำนวน 159 ครั้ง ประกอบด้วย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี, นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม.,นายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.เพชรบูรณ์, นายภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์, นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี, พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี, นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ และนายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านการเมือง รัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับของพรรคเพื่อไทย ว่ามีสาระสำคัญดังนี้ 1.การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลักทั่วไปคือเอาคะแนนรวมทั้งประเทศมาหารด้วย 100 คน เมื่อหารแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จากนั้นก็เอาคะแนนรวมที่พรรคได้รับมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนในส่วนนี้ ก็จะได้ว่าพรรคนี้จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเต็มเท่าไร 2.การให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่พรรคการเมืองนิยมและประชาชนชื่นชอบเพราะไม่สร้างความสับสน 3.ได้เสนอให้มีการแก้ไขรายละเอียดในประเด็นอื่นๆ เช่น การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คนเป็น 7 คน
นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 1.ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เนื่องจากสร้างความยุ่งยากและข้อจำกัดให้ประชาชนพอสมควร 2.เสนอให้ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเทียบเท่ากับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. 3.เสนอให้มีแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดกรณีการยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำควบคุมสั่งการทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ที่ถือเป็นความผิดถึงขั้นยุบพรรค มีการเพิ่มข้อความในบทบัญญัตินี้เป็นวรรคสองว่า “การให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำใดๆ ก็ตาม ไม่ถือเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ ถ้าการให้คำปรึกษานั้นเป็นเพียงการเสนอแนะ ทำความเข้าใจ โดยที่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่กับพรรค” ต้องย้ำว่าไม่ได้มีการตัดบทบัญญัติเดิม เพียงแต่เพิ่มข้อความให้เกิดความกระจ่าง เพื่อไม่ให้มีการใช้ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
4.สำหรับการจัดทำไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เห็นด้วยที่จะจัดทำเพราะแสดงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิก ควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตรับฟังความคิดเห็น 5.ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำนโยบายต้องแสดงที่มาของรายได้ 6.กำหนดให้การเลิกพรรคการเมืองจะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่โดยคะแนนเอกฉันท์ การยุบพรรคการเมือง มีความเหมาะสมไม่ยุบกันได้ง่ายๆ
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เปรียบ เพราะไม่ว่าอย่างไรคนตัดสินคือประชาชน ในส่วนการพิจารณา หลังจากลงมติแล้ว มีการตั้งกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาต่อไป เชื่อว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือนครึ่งก็น่าจะแล้วเสร็จ และเมื่อเปิดสมัยประชุมใหม่ก็จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายลูกน่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้ และสามารถใช้กฎหมายฉบับใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ทันอย่างแน่นอน
สว.ตีตกร่างกม.ลูกเพื่อไทย
ขณะนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ส่วนตัวจะให้ร่างทั้ง 2 ฉบับผ่านเฉพาะที่เสนอมาจาก ครม.เท่านั้น แต่ร่างที่เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหรือ ส.ส.ฝ่ายค้าน จะไม่ให้ผ่านแม้แต่ฉบับเดียว โดยเฉพาะร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับพรรคเพื่อไทย จะไม่ให้ผ่านแน่นอน เพราะไปแก้ไขมาตรา 28-29 เปิดช่องให้คนนอกแทรกแซงครอบงำพรรคได้ เป็นการฉวยโอกาสลักไก่ เพื่อผลประโยชน์คนนอก ถือว่าน่าเกลียด อาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่เขียนกลไกป้องกันการแทรกแซงครอบงำจากคนภายนอก ส่วนที่พรรคเพื่อไทยระบุว่า การขอฟังคำปรึกษาหารือจากคนนอก ไม่ถือเป็นการครอบงำ ถ้าการให้คำปรึกษาเป็นเพียงการเสนอแนะ แต่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่กับพรรคนั้น เป็นการตีความเข้าข้างตัวเอง ไม่คิดเคารพกติกากฎหมาย
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่า ส.ว.จะรับหลักการร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ในส่วนของฝ่ายใดบ้าง แต่ส่วนตัวแนวโน้มจะให้ผ่านเฉพาะร่างที่เสนอโดย ครม.เท่านั้น ร่างที่เสนอจากส่วนอื่นๆ คงไม่ให้ผ่าน เพราะมองแล้วร่างที่เสนอโดย ครม.มีความครอบคลุม เป็นกลางมากที่สุด แต่ร่างที่เสนอโดย ส.ส.ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง อย่างร่างของพรรคเพื่อไทย มีการเปิดช่องให้คนนอกมาแทรกแซงพรรคการเมืองได้ การอ้างเหตุผลขอแก้ไขว่าป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ว่ามีการกลั่นแกล้งจริงหรือไม่
ที่รัฐสภา คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี นำโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุญส่ง ชเลธร ผอ.หลักสูตรผู้นำ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต พร้อมแนวร่วม อาทิ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า นำรายชื่อประชาชน 70,500 รายชื่อ ที่ร่วมกันลงนามขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา ว่าคงจะเป็นไปตามกำหนดเวลาที่นายกรัฐมนตรีระบุไว้ว่าจะให้เกิดขึ้นในเดือน พ.ค.65 ขอให้รอดูในช่วงที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ซึ่งทาง ครม.ก็จะได้พิจารณาวันเวลาที่เหมาะสมต่อไป ทางกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ในวันนี้ เพราะจะต้องดำเนินการขั้นตอนต่างๆ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามกำหนดการอย่างแน่นอน ส่วนกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) คงจัดเลือกตั้งพร้อมกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
รัฐบาลลุยขายฝันหนีบ่วงการเมือง แกนนำม็อบขยับจัดทัพเดินหน้าไล่
การแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนของ อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ที่สตูดิโอ 4 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด
ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ
บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง
"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ