เคาะปรับภาษีรถ ใช้น้ำมันเจออ่วม หนุนยานยนต์EV

ครม.ประยุทธ์เคาะแพ็กเกจใหญ่ ปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์และจักรยานยนต์ทั้งระบบ หั่นภาษีส่งเสริมรถไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ  หวังค่ายรถยนต์เร่งปรับตัวปรับเทคโนโลยี ไม่งั้นเจอภาษีขั้นบันไดกระอักแน่

เมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ..... ซึ่งปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้ารถยนต์ประเภทต่างๆ รวม 27 ประเภท โดยจะมีรถยนต์ต้องจัดเก็บภาษีตามอัตราในร่างกฎกระทรวงนี้เมื่อกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ  รวม 6 ประเภท คือ 1.รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุกแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊ก ประจุไฟฟ้าได้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 10% ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2578 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 50%  

2.รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบพลังงานไฟฟ้า จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 2% กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลาคือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 8-10% 3.รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบมาตรฐานสากล (Eco car) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 14% ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 และตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568  พิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และการติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 10-12% ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ อัตราภาษีจะเป็นไปตามอัตราของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน 

4.รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 5% ตั้งแต่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้  5.รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลาคือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0% และตั้งแต่ 1 ม.ค.69-31 ธ.ค.2578 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 2% กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 10% ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 และ 1 ม.ค.2569-31 ธ.ค.2578 และ 6.รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0%   กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569-31 ธ.ค.2578 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 5% ทั้งนี้

รถยนต์ที่เหลืออีก 21 ประเภท จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2569 -2578 ตามลำดับ

“นายกฯ ยังกำชับให้มาตรการภาษี ให้เกิดประโยชน์ในการลงทุนและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป้าหมายคือยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กระตุ้นผู้ประกอบการปรับปรุงและพัฒนาสู่เทคโนโลยีทันสมัย การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ และยังเป็นการสนับสนุน พลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อน ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย” นายธนกรกล่าว

นายธนกรกล่าวอีกว่า ครม.ยังเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (CBU) โดยเห็นควรให้ระบุวันมีผลใช้บังคับของร่างประกาศฯ ให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/64 (ครั้งที่ 4) และครั้งที่ 1/65 (ครั้งที่ 5) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 โดยมีการปรับลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (CBU)  ประกอบสำเร็จรูปนำเข้าทั้งคัน ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และการนำเข้าทั่วไปในปี 2565-2566 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งระบบ โดย 1.ปรับลดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อยคาร์บอนฯ และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น 2.การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV (ประเภทไฮบริด) และ PHEV (รถชาร์จไฟฟ้าร่วมกับน้ำมัน) ให้แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV (รถยนต์ไฟฟ้า) 3.ทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE (รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง), HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี 2569, 2571 และ 2573 ตามลำดับ

4.การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยคาร์บอนฯ และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนไบโอดีเซล และส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า 5.การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ยังสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย

นายอาคมกล่าวอีกว่า กรมสรรพสามิตยังได้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการทยอยปรับอัตราภาษีรถจักรยานยนต์ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 และ 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต 1% จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด คือ 1.ต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป 2.ต้องมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง 3.ต้องใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 4.ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952-2561 หรือ UN Regulation No.136 หรือที่สูงกว่า หรือเอกสารรับรองการผ่านมาตรฐานนี้ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางกรมสรรพสามิต  กรมสรรพสามิต กล่าวว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ จะทำให้รถยนต์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวก็จะเสียภาษีแพงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อคัน มีการปล่อยคาร์บอนฯ ที่ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร ปัจจุบันเสียภาษี 30% อัตราใหม่เสีย 29% ในปี 2569 และถ้าไม่มีการปรับลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลง ในปี 2571 จะเสียภาษี 31% และในปี 2573 จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น 33% หรือภาษีจะปรับเพิ่มขึ้นรอบละ 2% ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่ 1.7 ล้านบาท จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 3.4 หมื่นบาทต่อรอบภาษี หากค่ายรถไม่มีการปรับเทคโนโลยีอะไรเลย

"คาดว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ น่าจะเร่งปรับตัว ปรับเทคโนโลยี เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างภาษี และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในอัตราที่ต่ำลง ให้สามารถทำราคาสู้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยโครงสร้างภาษีแบบใหม่จะคิดภาษีตามการปล่อยคาร์บอนฯ เท่านั้น แต่ไม่คิดการปล่อยค่า PM" นายณฐกรกล่าว

วันเดียวกัน นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสารพรรคไทยสร้างไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะดีเซลเท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินที่เริ่มแบกรับภาระไม่ไหวกับราคาที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ เช่น วินมอเตอร์ไซค์หรือกลุ่มไรเดอร์ที่มีมากกว่า 150,000 คัน ถือเป็นผู้ประกอบการขนส่งรายเล็กรายน้อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมาหลายเดือนแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง