เย้ย‘พท.’รู้นะคิดอะไรอยู่

"ประธานชวน" มั่นใจไม่มีปัญหาองค์ประชุมถก  "10 กม.ลูกเลือกตั้ง-พรรคการเมือง" 24-25 ก.พ.นี้  เหตุประชุมร่วมรัฐสภา ส.ว.พร้อมเพรียง "ประธานวิปรัฐบาล" ย้ำรับหลักการ กม. 2 ฉบับของ ครม.-พรรคร่วม เย้ย "เพื่อไทย" แก้ ม.28, 29 "รู้นะคิดอะไรอยู่" ขณะที่ "โฆษกเพื่อไทย" พร้อมเดินหน้าแก้กฎหมายลูกเปิดทางคืนอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง "ชลน่าน" ปัดสอดไส้ อ้างเพื่อไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งยุบพรรค

ที่รัฐสภา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายชวน หลีกภัย  ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง  และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ว่า ทั้ง 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา, ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านหารือร่วมกัน โดยจะพิจารณาให้จบใน  2 วัน ฝ่ายละไม่เกิน 6 ชั่วโมง เมื่อถึงเวลาจริงๆ การพิจารณาอาจจะเสร็จสิ้นเร็วได้ ซึ่งต้องดูว่าผู้อภิปรายมีจำนวนเท่าไร แต่กำหนดเวลาไว้ไม่เกินวันที่ 25 ก.พ. ทั้งนี้จะพิจารณาไปทีละเรื่อง คือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 4 ฉบับ และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จำนวน 6 ฉบับ และลงมติทีละเรื่อง รวมถึงการตั้ง กมธ.ว่าจะใช้ กมธ.ชุดเดียวกันหรือแยกพิจารณา

เมื่อถามว่า ในการประชุมรัฐสภาหากมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมจะเกิดผลกระทบกับกฎหมายลูกหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ปัญหาองค์ประชุมร่วมจะน้อยเพราะสมาชิกวุฒิสภาจะมาพร้อมเพรียงกัน

เมื่อถามย้ำว่า เมื่อ กมธ.พิจารณากฎหมายลูกเรียบร้อยแล้วสามารถเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาวาระ 2-3  หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนเศษที่ปิดสมัยประชุม กมธ.ก็จะพิจารณา ฉะนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมเดือน พ.ค.น่าจะพิจารณาวาระ 2 ได้ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ทั้งนี้เดิมกลัวว่าจะไม่ทัน แต่เมื่อรัฐบาลรับรองกฎหมาย พ.ร.บ.การเงินทั้งหมดส่งมา จึงพิจารณาได้ทันในช่วงสมัยประชุมนี้ ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญในเรื่องนี้อาจจะไม่ต้องแล้ว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่รัฐสภานัดประชุมวันที่ 24-25 ก.พ.ว่า ต้องเอาร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหลัก และฉบับที่ 2 คือร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าการอภิปรายสองวันน่าจะเสร็จสิ้น และสามารถลงมติรับหลักการในวาระแรกได้ จากนั้นในช่วงปิดสมัยประชุมกรรมาธิการสามัญจะทำหน้าที่พิจารณาให้แล้วเสร็จ และเมื่อเปิดสมัยประชุมช่วงเดือน พ.ค.ก็จะนำมาพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม เชื่อว่ากฎหมายจะผ่านสภาไม่เกินเดือน ก.ค.

"สาเหตุที่ไม่รับร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ตามที่สื่อได้ทราบ เพราะเป็นการแก้ไขโดยเสนอเป็น 2 มาตรา คือมาตรา 28 และมาตรา 29 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย ทำอะไรรู้อยู่นะ รู้นะจะทำอะไร หากเป็นสมาชิกพรรคก็หมดเรื่อง จะสามารถเสนอแนะอะไรได้ทั้งนั้น  ถ้าไปแก้ไขก็จะทำให้กฎหมายบิดเบี้ยวไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนั้นทำไม่ได้ ทั้งที่กฎหมายเดิมเขาดีอยู่แล้ว" นายนิโรธ กล่าว

เมื่อถามว่า การแก้ไขของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช่หรือไม่ นายนิโรธกล่าวว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนตัวไม่รับหลักการร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทยทั้ง 2 ฉบับ

ไม่หวั่นพรรคเล็กร้องตีความ

ส่วนกรณีพรรคเล็กร้องผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรเลือกตั้ง 1  ใบเป็น 2 ใบนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีความกังวลหรือไม่  นายนิโรธกล่าวว่า ไม่กังวล เป็นสิ่งที่พรรคเล็กต้องทำ เพราะหากมีเรื่องไม่เข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ข้อยุติ ส่วนที่สภาล่มเป็นเพราะฝ่ายค้านใช้วิธีการขย่มเพื่อให้รัฐบาลมีปัญหา รวมทั้งพยายามบิดเบือนให้มีผลกระทบกับรัฐบาล การแก้ปัญหาเรื่องสภาล่ม ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคจะร่วมในการผลักดันแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเตรียมพร้อมไว้ในการเลือกตั้งที่จะถึง ยังไม่อยากพูดถึงเรื่องการยุบสภาหรือไม่  เพราะเป็นเรื่องอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติหน้าที่หลักคือ การเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายลูกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะเห็นพ้องต้องกันในการเร่งพิจารณาให้อยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 24-25 ก.พ. มีร่างกฎหมายลูกฉบับของพรรคเพื่อไทยด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการพิจารณาจะเป็นไปได้ด้วยดี ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการผลักดันอย่างเต็มที่ หวังเปิดทางให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงให้กลับมาเป็นของประชาชนตามวิถีปกติที่ควรจะเป็นมาตั้งแต่ต้น

 “พลเอกประยุทธ์ควรมีความละอายแก่ใจบ้าง ที่ประชาชน ส.ส.ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ฝ่ายของรัฐบาลเองหนีไปไกลจากท่าน ประชาชนและฝ่ายค้านร่วมกันขับไล่ให้ท่านพ้นไปจากตำแหน่งนับครั้งไม่ถ้วน แต่ท่านยังนิ่งเฉย เป็นบุคคลที่มีความอดทนสูงมาก หากเป็นคนอื่นที่มาจากประชาชน ต้องฟังเสียงประชาชนมากกว่านี้ แต่ท่านไม่ใช่ ก็อย่าหวังโอกาสใดๆ ที่จะได้รับจากประชาชนอีก”  น.ส.ธีรรัตน์กล่าว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่างนี้มีความจำเป็นต้องแก้ เพราะรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนจำนวน  ส.ส., ส.ส.บัญชีรายชื่อจากเดิม 100 คน มาเป็น 150  คน โดยอะไรที่เขียนไว้ว่า 150 ก็ต้องแก้ ส่วนประเด็นองค์ประกอบอื่นๆ ก็แล้วแต่สมาชิกที่สนใจว่าจะแก้ประเด็นอะไร  ก็จะถือโอกาสแก้มาในรอบนี้ด้วย จึงมีหลักการที่หลากหลายมาก ซึ่งรัฐสภาอาจจะพิจารณารวมกันแล้วลงมติทีละร่างหรือไม่ ซึ่งบางร่างอาจจะไม่ถูกรับหลักการ หรือรับหลักการรวมกัน ซึ่งก็จะมีประเด็นที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ค่อนข้างมาก

เมื่อถามว่า ทำใจไว้หรือไม่ว่าร่างของพรรค พท.ที่เสนอไปอาจจะไม่ผ่านรับหลักการ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก เราพยายามจะชี้แจงหลักการและเหตุผลที่เราเสนอให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง เพราะร่างประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนออกมามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองมีปัญหามาก ประเด็นที่หลายพรรคเห็นว่าต้องแก้ เช่นมาตราที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะมาตราที่ 28 มาตรา 29 เพราะหลายพรรคถูกยุบไปแล้วด้วยมาตรานี้ ด้วยข้อหาควบคุมหรือครอบงำพรรคการเมืองทำให้ถูกยุบพรรค

ปัดสอดไส้เพื่อคนใดคนหนึ่ง

นพ.ชลน่านกล่าวว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ออกมารองรับนั้นเขียนกว้าง เฉพาะการตีความเรื่องการครอบงำหรือชี้นำจึงเป็นปัญหามาก พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่าสอดไส้กระทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง ต้องขอเรียนว่าเจตนารมณ์ของเรา การที่บัญญัติไว้อย่างนี้ในวรรค 1 เราไม่แตะเลย พรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองไปชี้นำครอบงำ ครอบคลุมกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยทำให้พรรคการเมืองไม่เป็นอิสระ หรือสมาชิกไม่เป็นอิสระเราคงไว้ทุกอย่าง

"แต่ขยายความในวรรค 2 ว่ากิจกรรมในวรรค 1 ไม่ได้ครอบคลุมถึงการชี้นำ ชี้แนะให้คำปรึกษาจากบุคคลภายนอกที่เป็นใครก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองนั้น เราบอกว่าไม่ควรจะครอบคลุมเท่านั้นเอง โดยเขียนให้ชัดขึ้นเพื่อป้องกันการตีความ เช่นถ้ามีนักวิชาการคนหนึ่งที่เราเชิญมา แล้วเขาชี้นำเราว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเชิญมาเยอะมาก และเรานำไปพิจารณาประกอบจัดทำเป็นนโยบาย บุคคลเหล่านี้หากถูกนำไปตีความว่าเป็นบุคคลภายนอกและถูกชี้นำโดยเราขาดอิสรภาพก็ถูกยุบพรรคทันที ซึ่งไม่เป็นธรรมกับการพัฒนาด้านวิชาการ การเมืองและพรรคการเมืองจะถูกกลั่นแกล้งได้ ดังนั้น ต้องการแก้ปัญหาไม่อยากให้พรรคการเมืองถูกกลั่นแกล้ง ถ้าควบคุม ครอบงำชัดแจ้งเราไม่ว่า" นพ.ชลน่านกล่าว

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ และคณะ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนขอให้พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ....เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

โดยนายมนูญกล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มีบทบัญญัติที่ทำให้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนบางส่วนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องเสียไปโดยไม่ถูกนำมาคำนวณนับเป็นคะแนนที่จะทำให้มี ส.ส.ในส่วนนั้น ซึ่งผิดไปจากหลักการสำคัญและความมุ่งหมายตามที่ปรากฏอยู่ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ  2560

ด้านนายอาจณรงค์ พุ่มงาม ผอ.ส่วนตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกลาง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ประเด็นร้องเรียนเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น มีผู้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว 3 เรื่อง โดยในชั้นนี้สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียนก็จะทำบันทึกเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณารับเรื่องร้องเรียนไว้ตรวจสอบ และอาจมีการนำไปรวมกับอีก 3  เรื่องที่มีการร้องเรียนก่อนหน้านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี