ติดโควิดเพิ่มอีก 1.8 หมื่นราย ตาย 32 “ศปก.ศบค.” ย้ำฝ่ายปกครองเข้มพื้นที่ระบาดซ้ำซาก ขอ ปชช.ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้านประคองระบบสาธารณสุข สธ.เตือนภัยโควิดระดับ 4 หลังยอดติดเชื้อสูงขึ้นทั่วประเทศ เผยวัยเด็ก-คนทำงานติดอื้อ เฝ้าระวัง 18 จว.ติดเชื้อเพิ่ม "บิ๊กตู่” สั่งเหล่าทัพปัดฝุ่น รพ.สนาม 7 พันเตียงรับผู้ป่วย "โอมิครอน" กำชับทุกหน่วยเฝ้าระวังข่าวปลอม
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,883 ราย ติดเชื้อในประเทศ 18,704 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 18,618 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 86 ราย มาจากเรือนจำ 17 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 162 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 14,914 ราย อยู่ระหว่างรักษา 166,397 ราย อาการหนัก 796 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 32 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 19 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 25 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย
ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,731,198 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,542,145 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,656 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 20 ก.พ. จำนวน 141,661 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 121,725,326 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 424,990,285 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,906,093 ราย
สำหรับ 11 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,753 ราย, นครศรีธรรมราช 960 ราย, สมุทรปราการ 926 ราย, ชลบุรี 884 ราย, นนทบุรี 852 ราย, ภูเก็ต 628 ราย, นครศรีธรรมราช 563 ราย, ระยอง 475 ราย, นครปฐม 429 ราย, บุรีรัมย์ 421 ราย และปทุมธานี 421 ราย คลัสเตอร์ที่พบในวันนี้ยังพบร้านอาหารที่เปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ จ.สงขลาและขอนแก่น คลัสเตอร์โรงเรียนที่ จ.น่าน, หนองคาย, เลย, สุพรรณบุรี, นครราชสีมา, สุรินทร์, ร้อยเอ็ด, จันทบุรี, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ และพะเยา คลัสเตอร์ตลาดพบที่ จ.นครราชสีมา, อุบลราชธานี, นครพนม, จันทบุรี, สุรินทร์ และเพชรบุรี คลัสเตอร์พิธีกรรมพบที่ จ.มุกดาหาร, กาฬสินธุ์ และหนองคาย
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เน้นย้ำไปที่ฝ่ายปกครองทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดซ้ำเช่นตลาด ขอให้เข้าไปเข้มงวดมาตรการ เพราะหลายแห่งมีการติดแล้วติดอีก นอกจากนี้ยังพบการระบาดในสถานพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช รวมถึงโรงพยาบาลใน จ.สุรินทร์, เชียงใหม่, ขอนแก่น และยะลา การระบาดในสถานที่พยาบาลจะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องกักตัวและขาดแคลนบุคลากรดูแลประชาชน จึงขอให้เข้มงวดการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ พร้อมกันนี้ ศบค.อยากให้ประชาชนงดเว้นกิจกรรมรวมกลุ่ม อะไรที่ชะลอได้ขอให้ชะลอไว้ก่อน แต่ถ้าจำเป็นต้องจัดกิจกรรมขอให้เข้มงวดมาตรการ เช่นการตรวจโควิดก่อนทำกิจกรรม
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวถึงการครองเตียงในปัจจุบันว่า อัตราครองเตียงในปัจจุบันยังมีเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยหนักและมีโรคประจำตัว ใครป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการสีเขียวขอให้เลือกรักษาตัวที่บ้าน เข้าใจว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอยากรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะอาจจะไม่มั่นใจในระบบการรักษาที่บ้าน เราจึงขอความร่วมมือทุกคนให้ช่วยกันพัฒนาระบบ ติดขัดอะไรก็ขอให้ร้องเรียนเข้ามาเพื่อปรับปรุง เราต้องประคับประคองระบบสาธารณสุขให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ เชื่อว่าเราน่าจะผ่านวิกฤตตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงนี้ไปได้ และหากใครไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ก็ ขอให้ประสานเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารักษาตัวที่ศูนย์พักคอยในชุมชน ยืนยันจะได้รับความสะดวกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับสถานการณ์หากมีความจำเป็น
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า ประเทศไทยติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน ประมาณ 15,981 ราย แบ่งเป็นในประเทศ 15,793 ราย ต่างประเทศ 188 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 จำนวน 507,763 ราย ส่วนสถานการณ์ตอนนี้เหมือนเป็นเส้นตรงขึ้นมา จึงต้องติดตามการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในคลัสเตอร์ ในครอบครัว และชุมชน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ 166,397 ราย แบ่งเป็นรักษาใน HI และ CI และโรงพยาบาลสนาม 89,326 ราย อยู่ใน รพ.มีอาการน้อยๆ อยู่ที่ 76,275 ราย ทั้งนี้ข้อมูลวันที่ 13-19 ก.พ.65 กรณีผู้ติดเชื้อระลอกเดือน ม.ค.รวม 115,917 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงต่างๆ หรือเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน ร้านอาหาร อันนี้คือร้อยละ 54 ส่วนอีกร้อยละ 44.5 ผู้สัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว หรือกลุ่มใกล้ชิดเสี่ยงสูง
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า กรณีปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยวันนี้พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้นเป็น 796 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตวันนี้ 32 ราย โดยเฉลี่ยเสียชีวิต 14 วัน อยู่ที่ 25 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะร้อยละ 60 ไม่ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว และไม่ฉีดบูสเตอร์โดส อย่างวันนี้เสียชีวิต 32 ราย อยู่ในกลุ่ม 608 ซึ่งมี 16 รายไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม หรือฉีดเพียง 1 เข็ม จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้กลุ่มนี้เข้ารับวัคซีน
"การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0-9 ขวบเริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ และคนทำงานพบปะคนก็มีโอกาสติดเชื้อสูง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากการติดเชื้อขณะนี้แบ่งสีเป็นส้มและแดง โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 13-19 ก.พ.65 พบว่าติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งกลุ่มอายุที่ติดเชื้อพบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือวัยทำงานและวัยเด็ก" นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มจังหวัดที่ต้องระวังคือ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวซึ่งยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ภูเก็ต, กาญจนบุรี, กระบี่, พังงา, นนทบุรี และปทุมธานี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบางวัน บางวันก็ลดลง อย่างกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ลดลงบางวัน แต่แนวโน้มยังขึ้นอยู่ ซึ่งจากการคาดการณ์พยากรณ์โรค อย่างเส้นสีน้ำเงิน ผู้ติดเชื้อแต่ละวันได้ทะลุการคาดการณ์เส้นสีน้ำตาลแล้ว แสดงว่าขณะนี้ค่อนข้างผ่อนคลาย มาตรการป้องกันควบคุมโรคอาจละเลย เมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มผู้เสียชีวิตก็เพิ่มตาม แม้จะไม่ได้เพิ่มมาก แต่ต้องระวังกลุ่ม 608 ผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ.กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศอยู่ในช่วงการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าจะมีการติดเชื้อรายวันจำนวนมาก แต่พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโอมิครอนมีความรุนแรงต่ำ มีการเสียชีวิตต่ำลง แต่หากมีการปล่อยให้เกิดการระบาดมากยิ่งขึ้นจะทำให้ควบคุมยาก จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อจะอยู่ในวัย 18 ปีขึ้นไป ซึ่งพบมากในกลุ่มเด็กเล็ก วัยทำงาน และเพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาดลงให้อยู่ในจุดที่สามารถควบคุมได้ สธ.ขอให้ประชาชนช่วยกันป้องกันตัวเอง เพราะโควิดสามารถติดต่อได้ง่าย ในบางรายมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย เมื่อเดินทางไปพบปะผู้อื่นก็จะทำให้มีการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นหากมีความเสี่ยงขอให้กักตัวเอง มาตรการในการควบคุมโรคยังมีความสำคัญ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ
นพ.ธงชัยกล่าวว่า สำหรับระดับเตือนภัยป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยจะมีทั้งหมด 5 ระดับ ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง ทำงานจากที่บ้าน 50%-80% งดไปรับประทานอาหารร่วมกัน งดดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน คัดกรองก่อนเดินทาง ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 เหล่าทัพได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายในช่วงหนึ่งจึงต้องปิดไปบางส่วน แต่เมื่อมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจึงต้องมาปัดฝุ่นใหม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กำชับให้ทุกเหล่าทัพเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามไว้รับมือสถานการณ์ และให้ทุกเหล่าทัพสนับสนุนในระดับพื้นที่ โดยประสานงานกับกระทรวงสาธารสุข ยืนยันว่าโรงพยาบาลสนามของเหล่าทัพกระจายทั่วประเทศถึง 7,000 เตียง และโรงพยาบาลสนามในส่วนของกองทัพยังดำเนินการอยู่
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังการสร้างข่าวปลอมและบิดเบือนข้อมูลนโยบายรัฐบาล และข่าวสารทางราชการโดยเฉพาะในเรื่องโควิด-19 ย้ำเตือนไปยังประชาชนทุกคนใช้เทคโนโลยีและการรับข้อมูลข่าวต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน อย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับโดยทันที แต่ขอให้มีการพิจารณา คิดวิเคราะห์ และตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ทุกครั้งก่อนเชื่อและเผยแพร่แชร์ข้อมูลออกไป ขณะเดียวกันนายกฯ ยังกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บริหารจัดการสถานการณ์การแพร่รระบาดในพื้นที่ รวมทั้งเร่งนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาตามลำดับอาการ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ