ปชช.สุดเครียด ปัญหาปากท้อง จี้คุมราคาสินค้า

“ประยุทธ์” ปลื้มประชาชนชื่นชมโครงการคนละครึ่ง “ทนายนกเขา”   แฉส่วนต่างดอกเบี้ยทำคนไทยติดกับดัก   จี้ถามบิ๊กตู่ไหนบอกเร่งแก้หนี้สิน “สวนดุสิตโพล” เผยประชาชน 63% รับคนละครึ่งช่วยบรรเทาภาระ แต่เกือบ 90% อยากให้รัฐบาลคุมราคาสินค้า ชี้ปัญหาปากท้องทำให้เครียด

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลว่า ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.พ. มีผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 37.65 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 35,781.37 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิ 24.22 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 33,108.8 ล้านบาท 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 12.40 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,467.72 ล้านบาท และ 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.03 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 204.85 ล้านบาท

 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำความสำเร็จของโครงการคนละครึ่ง ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 17-18 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าถูกออกแบบมาเพื่อเติมเงินให้กับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลเข้าใจสถานการณ์ ตั้งใจแก้ปัญหาให้ดีที่สุด” นายธนกรกล่าว

ส่วนนายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย กล่าวในเพจกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) ว่าปัญหาความยากจนของประเทศไทยคือการติดกับดักภาวะหนี้สิน โดยเฉพาะปัญหาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ประชาชนทั่วไป มีอัตราดอกเบี้ย 5.23% แต่ประชาชนนำเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์ก็ได้ดอกเบี้ย 0.6% ซึ่งส่วนต่างตรงนี้อยู่ที่ประมาณ 400%

 “อยากถามว่า รัฐบาลเคยบอกว่าจะแก้ไขปัญหาประเทศ และจะแก้ไขปัญหาหนี้ให้ประชาชน ทำไมถึงทำร้ายประชาชนในยามวิกฤตแบบนี้ เรื่องเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรอยู่ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สะสมกันทุกวันนี้เข้าไปเกือบ 15 ล้านล้านบาท” นายนิติธรกล่าว

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,148 คน ในหัวข้อคนไทยกับพิษเศรษฐกิจ โดยเมื่อสอบถึงวิกฤตเศรษฐกิจวันนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรบ้าง พบว่า 62.76% ต้องประหยัดและวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น, 60.12% สินค้าแพงขึ้น ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น, 59.07% รายได้ลดลง ขายของได้น้อยลง ไม่มีลูกค้า, 57.22% ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ต้องกู้หนี้ยืมสิน และ 54.58% ต้องหารายได้เพิ่ม ทำงานหนักมากขึ้น หาอาชีพเสริม

เมื่อถามประชาชนคิดว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ ช่วยลดภาระได้หรือไม่ พบว่า 63.21% ช่วยได้บ้าง, 22.83% ช่วยได้มาก และ 13.96% ไม่ช่วยเลย และเมื่อถามว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนมีความเครียดในระดับใด พบว่า 65.23% เครียดมาก, 24.58% เครียดปานกลาง, 8.87% เครียดน้อย และ 1.32% ไม่เครียดเลย

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน พบว่า 

89.90% ควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ, 62.51% ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้,   56.19% ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว, 55.05% ควบคุมโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุด และ 53.56% ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน

สวนดุสิตโพลยังถามว่า ประชาชนคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างไร พบว่า

78.82% รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ อาจยุบสภา, 76.54% ประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐบาล, 72.41% ต่างชาติไม่กล้าลงทุน  นักธุรกิจไม่เชื่อมั่น, 70.04% เกิดกระแสต่อต้าน เป็นประเด็นสำคัญทำให้โดนโจมตี และ 57.73% กู้เงินเพิ่มจำนวนมหาศาล ใช้งบประมาณจำนวนมาก สุดท้ายเมื่อถามว่าหากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร พบว่า 52.19% น่าจะดีขึ้น, 40.79% น่าจะเหมือนเดิม และ 7.02% น่าจะแย่ลง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง