จับตาฤทธิ์โควิด-19 คาดใน2-3สัปดาห์ ตายเพิ่มเกิน40/วัน

ไทยพบติดเชื้อใหม่ 1.8 หมื่นราย ตาย 29 ราย กทม.ยังนำโด่ง  อธิบดีกรมควบคุมโรคยันระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ แนะกลุ่ม 608 เร่งฉีดวัคซีน เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด "นพ.ศุภกิจ" คาดอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีตัวเลขเสียชีวิตเพิ่มวันละกว่า 40 ราย

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,885 ราย ติดเชื้อในประเทศ 18,554 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 18,486 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 68 ราย, มาจากเรือนจำ 107 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 224 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 10,946 ราย อยู่ระหว่างรักษา 157,499 ราย อาการหนัก 749 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 184 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 13 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,693,362 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,513,269 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,594 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 18 ก.พ. 375,191 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 121,300,004 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 422,207,245 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,892,822 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,168 ราย, สมุทรปราการ 974 ราย, ชลบุรี 973 ราย, นนทบุรี 770 ราย, นครราชสีมา 578 ราย,  ภูเก็ต 558 ราย, นครศรีธรรมราช 548 ราย, บุรีรัมย์ 459 ราย, ฉะเชิงเทรา 454 ราย และปทุมธานี 449 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าเทศกาลสงกรานต์ในเดือน เม.ย. ว่าแนวทางทุกอย่างมีหมดแล้ว โดยเฉพาะมาตรการ VUCA คือ Vaccine, Universal Prevention, Covid19 Free Setting และ ATK แต่ขอให้เคร่งครัดในการดำเนินการมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ติดเชื้อช่วงนี้            ส่วนใหญ่ติดจากร้านอาหาร งานสังสรรค์ แล้วนำเชื้อไปติดที่ทำงาน ที่บ้าน โดยเฉพาะติดในผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ จึงเกิดขึ้นลักษณะวงจร ฉะนั้น ต้องเพิ่มความระวัง ไปร้านอาหารที่คนแน่นมาก อากาศไม่ถ่ายเท ก็ขอให้เปลี่ยนไปร้านที่ปลอดภัยกว่า

ถัดมาคือ เมื่อถึงช่วงเดือน เม.ย. เราก็น่าจะฉีดวัคซีนโควิดได้มากพอสมควรแล้ว ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้สูงอายุได้รับเข็ม 2 เกือบ 80% แล้ว ฉะนั้นคนที่ยังลังเล ไม่แน่ใจ ก็ขอให้ความมั่นใจว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย และขอให้ลูกหลานพามารับวัคซีน เพราะตอนนี้ผู้ติดเชื้อโควิดแล้วเสียชีวิตยังเป็นกลุ่ม 608 หรือยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับมาเพียงเข็มเดียว

ขณะที่วัคซีนเด็ก 5 ปีขึ้นไป ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวคและไฟเซอร์แล้ว รวมถึงราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยก็ให้คำแนะนำเรื่องการฉีดแล้ว โดยเฉพาะสูตรไขว้ ก็จะทำให้เราฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ระยะหลังเราเริ่มเห็นการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น ดังนั้น ช่วงนี้ใกล้ปิดเทอมแล้ว ก็ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมารับวัคซีนต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กประถม เพื่อรองรับการเปิดเทอมหน้า โดยเราก็จะเร่งรัดช่วงสงกรานต์ให้มีการดำเนินการฉีดวัคซีนเด็กต่อเนื่อง

เมื่อถามว่า ขณะนี้ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเพื่อกดตัวเลขให้ลดลงอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า หากดูจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เกาหลีใต้ ที่มีประชากรน้อยกว่าไทย 2 ใน 3 แต่ติดเชื้อนับแสนราย ซึ่งสถานการณ์ของไทยในระดับนี้ ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยก็เข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation)

นพ.โอภาสกล่าวว่า หากต้องเพิ่มมาตรการใด ก็คงต้องขอความร่วมมือประชาชนเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล อย่าเข้าพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเราเข้าใจกันดีว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่ขอให้คำนึงว่าสถานที่ใดมีความเสี่ยงมาก เช่น ดื่มแอลกอฮอล์มาก อากาศไม่ถ่าย กินอาหารรวมกันในที่ทำงาน ตรงนี้เราพบการติดเชื้อบ่อย ก็ขอให้หลีกเลี่ยง

"ขณะนี้เราพบการติดเชื้อในโรงงานมากขึ้น แต่เราสามารถใช้มาตรการเดิมได้คือบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and seal) ด้วยการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น ก็พบว่าคนติดเชื้อใหญ่ไม่มีอาการอะไร ดังนั้นก็สามารถแยกกักตัวในโรงงานได้ เพื่อให้การทำงานยังดำเนินต่อไปได้" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงยอดติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นว่า การติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่เห็น 18,000-19,000 ราย แต่ผู้เสียชีวิตอยู่ในหลัก 20 ราย หากเทียบกันว่าติดเชื้อ 10,000 ราย เสียชีวิต 20 ราย คิดเป็น 0.2% ซึ่งอยู่ในอัตราที่ยังต่ำและสอดคล้องกับทั่วโลก ทั้งนี้ เราเชื่อได้เลยว่าหากติดเชื้อหลักกว่าหมื่นรายต่อวัน คนที่ติดเชื้อวันนี้อีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าก็จะมีตัวเลขเสียชีวิตเพิ่มได้กว่า 40 รายก็เป็นไปได้

 “ตัวเลขเสียชีวิตวันนี้กับผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ใช่เวลาเดียวกัน ดังนั้นจะเอามาหารรายวันไม่ได้ เพราะตัวเลขติดเชื้ออัปเดตรายวัน แต่ตัวเลขเสียชีวิตเป็นตัวเลขของคนติดเชื้อเมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อน ไม่ใช่ของคนป่วยวันนี้แล้วเสียชีวิตวันนี้เลย ฉะนั้นจะเห็นตัวเลขเสียชีวิตขึ้นบ้าง เพราะเมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อนเริ่มติดเชื้อเพิ่มขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง