ติดเชื้อ1.7หมื่นสธ.ผุด‘ยูเซปพลัส’

ไทยติดเชื้อนิวไฮ 1.7 หมื่นราย​ เสียชีวิต ​22 คน​ นายกฯ ห่วงบุคลากรแพทย์ กำชับระวังป้องกันตนเองระหว่างปฏิบัติหน้าที่ "อนุทิน" รับยอดพุ่งแต่ยังอยู่ในกรอบ ยันรับมือได้ แจงไม่ได้ถอดโควิดพ้นยูเซป แค่ปรับวิธีให้บริการ ผุด "ยูเซปพลัส" ดูแลผู้ป่วยโควิดมีโรคร่วม สปสช.จ่อแจก ATK รอบ 2

เมื่อวันที่​ 17 กุมภาพันธ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019​ (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศประจำวันว่า ​พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น​ 17,349 ราย​ แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 16,935 ราย​ จากเรือนจำ​ 169 ราย จากต่างประเทศ​ 245 รายสะสม​ 2,656,411 ราย​ เสียชีวิต​เพิ่มขึ้น 22 ราย​ สะสม​ 22,538 ราย อยู่ระหว่างการรักษา​ 144,061 ราย​ โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ​ กทม. 3,063 ราย​ รองลงมาคือ สมุทรปราการ​ 866 ราย,​ ชลบุรี​ 821 ราย,​ นครศรีธรรมราช​ 743 ราย,​ ภูเก็ต​ 510 ราย,​ นนทบุรี​ 423 ราย,​ นครราชสีมา​ 415 ราย,​ สมุทรสาคร​ 414 ราย,​ ปทุมธานี​ 395 ราย​ และบุรีรัมย์​ 339 ราย​ ส่วนข้อมูลผู้เสียชีวิตเป็นชาย​ 10 ราย​ หญิง​ 12 ราย​ อายุเกิน​ 60 ปีขึ้นไป​ 20 ราย​ มีโรค​เรื้อรัง​ 1 ราย​ และไม่มีโรคเรื้อรัง​ 1 ราย ทั้งนี้ ยอดการฉีดวัคซีนภายในประเทศเพิ่ม​ขึ้น​ 182,122 โดส รวมยอดสะสม​ ​120,702,893 โดส​

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2,095,586 ราย สะสม 418,163,037 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 11,311 รายสะสม 5,869,003 ราย สำหรับประเทศในเอเชียที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในวันนี้คือเกาหลีใต้ 90,430 รายเสียชีวิต 39 ราย ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 31 ของโลก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ  รมว.กลาโหม ฝากความห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์ หลังพบวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อถึง 156 คน สูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดมา จึงขอให้บุคลาการทางการแพทย์ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ระมัดระวังป้องกันตนเองให้ดีระหว่างปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ได้กำชับกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีกรอบ ย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขั้นสูงสุด รวมทั้งยังย้ำให้ติดตามข่าวการพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ผสมระหว่างเดลตาและโอมิครอน หรือเดลตาครอนรายแรกของโลกที่อังกฤษ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ที่ศูนย์การแพทย์บางรัก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการปลดโรคโควิด-19 จากสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีทุกที่ (ยูเซป) ว่า เราไม่ได้ถอดโควิดออกจากยูเซป แต่เป็นการปรับปรุงวิธีการให้บริการตามอาการของผู้ป่วยโควิด สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือถอดออกจากเป็นโรคฉุกเฉิน เพราะโควิดเป็นโรคที่อยู่กับเรามา 2 ปีแล้ว ฉะนั้นต้องจัดระบบบริการเพื่อรองรับเขาได้ ประเทศไทยไม่ได้มีโรคโควิดอย่างเดียว แต่มีโรคติดต่ออื่นๆ และโรคไม่ติดต่อด้วย ที่รอใช้บริการทางการแพทย์ รอเตียง รอการบริการในโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ

"ถ้าเราเน้นโควิดฉุกเฉินจะต้องแซงคิว จะต้องได้อภิสิทธิ์เหนือโรคอื่นทุกอย่าง จะทำให้ระบบสาธารณสุขรวนได้ นี่จึงเป็นการปรับระบบการให้บริการให้สอดคล้องสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นในไทย ทุกวันนี้โควิดไม่ใช่โรคใหม่ เราต่อสู้มา 2 ปีกว่าแล้ว เราก็ต้องทำให้ระบบพื้นฐานของเราไม่ให้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่การยกเลิกยูเซปเป็นอันขาด ขอให้ปรับความเข้าใจใหม่” นายอนุทินระบุ

สำหรับโควิดที่มีอาการฉุกเฉินจริงๆ  เช่น หายใจไม่ได้ มีอาการเหนื่อยหอบ ไอรุนแรง ก็สามารถเข้ารักษาฉุกเฉินที่ใดก็ได้ เราให้การดูแลเช่นเดิม และตอนนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจและคล่องตัว ทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้กำหนดโซนยูเซปพลัสขึ้นมา หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวไม่มีอาการให้อยู่บ้าน (HI) แต่หากเป็นสีเหลือง สีแดง ต้องมีวิธีการให้การดูแลเฉพาะ

นายอนุทินกล่าวว่า ตัวเลขติดเชื้อที่สูงขึ้นอยู่ในกรอบที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ยังควบคุมได้ ขณะนี้กำลังเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้ประชาชนเพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ส่วนเรื่องเตียง ขณะนี้ยังมีเพียงพอ เพราะคนส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่มีอาการ ถึง 85% และรักษาด้วยระบบ HI, CI สำหรับกรณีโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่นักวิชาการระบุแพร่เร็วเดิม 1 ต่อ 18 คนนั้น มาตรการป้องกันส่วนตัวยังคงใช้ได้ดีอยู่ ขอเพียงสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือและมีระยะห่าง สำหรับการพบจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า โรคโควิด-19 มีการพิจารณาแล้วจะไม่ได้เป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป ปัจจุบันคนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เหมือนโรคหวัดทั่วไปที่มีคนป่วยหลายแสนรายต่อวันก็ไม่มีปัญหา เช่นเดียวกันตอนนี้คนติดโควิดที่จำเป็นต้องนอน รพ.มีไม่มาก ขณะนี้อยู่ที่ราว 700 คน จึงไม่น่าจะเป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยูเซปปัจจุบันมี 2 ส่วน คือยูเซปทั่วไปและยูเซปโควิด ซึ่งสามารถไปรักษาที่ รพ.เอกชนเวลาไหนก็ได้หากพบว่าติดโควิด เพราะเป็นเหตุเร่งด่วนฉุกเฉินทั้งหมด แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง การติดโควิดต้องไม่นำแล้ว แต่ยูเซปยังมีอยู่ โดยหากคนไข้โควิดมีอาการรุนแรงถึงขนาด เช่น มีโรคร่วมที่เป็นอันตรายรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดโควิด แม้โควิดไม่รุนแรงมาก แต่โรคไตรุนแรง จะพิจารณาให้เข้าข่ายเป็นยูเซปโควิด เพื่อให้ได้รับการดูแล จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดทำยูเซปพลัส คือรองรับคนติดโควิดและมีโรคร่วมเดิม แม้ว่าโควิดจะไม่รุนแรง ซึ่งวันที่ 17 ก.พ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีการหารือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพิจารณาเกณฑ์ที่เข้าข่ายรักษาแบบยูเซปพลัส แต่ในหลักการคือคนที่ติดโควิดและมีโรคร่วมเดิม ส่วนจะกำหนดนิยามของผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นผู้ที่โรคร่วมเดิมอะไรบ้าง อยู่ที่ข้อสรุปของการหารือ

สำหรับคนทั่วไปที่ติดโควิด จากเดิมที่จะเข้าไปรับการรักษาที่ รพ.เอกชนใดก็ได้ ปรับเป็นการไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ หากอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ รพ.จะพิจารณาให้ดูแลตนเองที่บ้าน (HI) แต่หากไม่สะดวกและไม่สามารถที่จะอยู่ที่บ้านได้ จะมีระบบดูแลที่โรงแรม (Hotel Isolation) โดยที่จะมีบุคลากรติดตามอาการทางระบบออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ฮอสพิเทล

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลกับสายพันธุ์ของโอมิครอน ไม่ว่าจะเป็น BA .1, 2, 3, 4 และ 5 การป้องกัน การรักษายังเหมือนเดิม ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และมีระยะห่าง และการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 เพราะการแพร่เชื้อของสายพันธุ์ BA.2  แพร่เร็วขึ้น แต่ความรุนแรง และการหลบภูมิคุ้มกัน ยังไม่ต่างจาก BA.1 ส่วนอัตราป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ตรงกันข้ามอัตราตายของไทยต่ำกว่าต้นเดือนที่ผ่านมา จากเดิม 0.22 เหลือ 0.20 และถือว่าน้อยกว่าทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 1.4 แต่คนเสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ

ที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูง​ 292 ราย​ รวมกับยอดตรวจ​ ATK​ ​อีก​ 1,737 ราย​ รวมติดเชื้อ​ 2,029 ราย เสียชีวิต​เพิ่มมาอีก​ 2​ ราย​ ที่ จ.ภูเก็ต พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 480-500 คน  เป็นขาขึ้น ส่วนยอด ATK ที่ผ่านมา 200- 300 คนต่อวัน เฉลี่ยเข้าระบบจำนวนเกือบพันคนต่อวัน ส่วนที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่ 578 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์