ไล่‘แอมเนสตี้’ ค้านก.แรงงาน ต่อใบอนุญาต

ลุยตะเพิด “แอมเนสตี้” พ้นไทยอีกรอบ กลุ่มปกป้องสถาบัน ค้านกระทรวงแรงงานต่ออายุใบอนุญาต   จวกแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย  ส่งเสริมให้เยาวชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมาย นายกฯ ลั่นต้องทำตามกฎหมาย จะตีกันเองไม่ได้ ด้าน กสม.ห่วงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกินกว่าสถานการณ์โควิด-19 ห้ามแบบเหมารวมกระทบต่อเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล  บริเวณสำนักงาน ก.พ. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.), ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.), ชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน, ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.), อาชีวะปกป้องสถาบัน และเครือข่ายคนออนไลน์รับใช้แผ่นดิน (คคร.) จัดกิจกรรมยื่นหนังสือ "ขับไล่แอมเนสตี้ ภาค 2" ลั่นกลองรบรวมพลคนรักบ้านเกิดเมืองนอน ตะเพิดแอมเนสตี้พ้นประเทศไทย

จากนั้น เวลา 10.45 น. นายอานนท์ แสนน่าน อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย และนายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว ได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแอมเนสตี้ โดยมี ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทน สมช., ตัวแทน สปน. หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ขอให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานขององค์กร Amnesty International Thailand ว่ามีพฤติกรรมและการกระทำที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

ด้วยเหตุผลกรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีการอ่านคำวินิจฉัยว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบัน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้เลิกการกระทำ รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

แต่ปรากฏว่า Amnesty International Thailand ออกมาประกาศแคมเปญ เขียนจดหมายล้านฉบับ ถึงทั่วโลกเรียกร้องให้ทางการไทยหยุดดำเนินคดีกับ น.ส.ปนัสยา ถือว่าองค์กรนี้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย และจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของไทย เนื่องจากคำตัดสินหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นผูกพันทุกองค์กร อีกทั้งการกระทำของ Amnesty ยังอาจถือได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนต่อคน หรือกลุ่มบุคคล ให้กระทำการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากเหตุผลข้างต้นน่าจะเพียงพอแล้วที่ทางกรม กระทรวง และ สมช. จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเร่งด่วน ด้วยการให้องค์กรนี้พ้นออกไปจากประเทศไทย หากมีข้อมูลและหลักฐานที่เชื่อได้ว่าองค์กรนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย และก่อนที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกล่วงละเมิดไปมากกว่านี้

สำหรับหนังสือกลุ่มปกป้องสถาบัน ระบุว่า Amnesty เป็นกลุ่มบุคคลธรรมดาที่อ้างตัวเป็นองค์กรนานาชาติเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของคน แต่ความเป็นจริงองค์กรดังกล่าวเข้ามาเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของราชอาณาจักรไทย และมาสร้างคำนิยมในทางที่ผิดให้กับสังคมไทย ส่งเสริมให้เยาวชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายบ้านเมือง บัดนี้นับจากวันที่ยื่นหนังสือกว่าสามเดือน มีการขอความคิดเห็นจากประชาชน และประชาชนได้เข้าร่วมลงรายชื่อเพื่อขับไล่ Amnesty จำนวนกว่าหนึ่งล้านสองแสนรายชื่อ  ทางกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมดเพื่อเรียนต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไว้เป็นหลักฐาน ว่าประชาชนเห็นพ้องต้องกันแล้วไม่ควรอนุมัติตามคำขอต่ออายุใบอนุญาต หากมีการต่ออายุใบอนุญาตให้กับ Amnesty กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและประชาชนจักออกมาคัดค้านให้ถึงที่สุด ในการนี้ กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและประชาชนชาวไทยเห็นควรขับไล่ Amnesty International Thailand ให้พ้นประเทศไทยโดยทันที

ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีเครือข่ายพสกนิกรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ยื่นหนังสือขับไล่แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ว่า ก็รับมา ต้องใช้กฎหมาย จะมาตีกันเองไม่ได้ ยิ่งใช้นอกกฎหมายยิ่งมีปัญหา

วันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวว่า ตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และพวก ขอให้ตรวจสอบการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายหลังผู้ร้องและพวกถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  จากการรวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2564 นั้น

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องและพวกใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 และมาตรา 44 รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 และข้อ 21   

ทั้งนี้ กสม.เคยมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.2564 พร้อมข้อเสนอแนะแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีว่า แม้ว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการจัดการและควบคุมการชุมนุมด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการป้องกันภัยทางสาธารณสุข ประกอบกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดได้ แต่เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้นมีคุณค่าและมีความสำคัญเป็นอย่างมากในระบอบประชาธิปไตย การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจะต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ จะต้องไม่ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้โดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลมีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวม และห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมกับความปลอดภัยสาธารณะหรือการป้องกันภัยทางสาธารณสุข

"กสม.ห่วงกังวลเป็นอย่างมากต่อการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินดำเนินคดีประชาชนซึ่งรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมือง และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในหลายกรณีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อปลายปี 2564  หรือการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟ เมื่อต้นเดือนก.พ.2565" กรรมการ กสม.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์