โอมิครอนนิวไฮ1.6หมื่น ปรับแผนเรียนออนไซต์

ป่วยโอมิครอนทำนิวไฮ 16,462 ราย เสียชีวิต 27 ราย "สธ.-ศธ."   ถก 3 มาตรการยกระดับความปลอดภัยเปิดเรียน On-Site รับมือนักเรียนติดเชื้อทั้ง "การเรียน-การสอบ" พร้อมฉีดวัคซีนครูและนักเรียนอายุ 5-18 ปี "บิ๊กตู่" ห่วง "กทม." โควิดพุ่ง เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนครบเกณฑ์

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,462 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 16,185 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,976 ราย ค้นหาเชิงรุก 209 ราย เรือนจำ 141 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 136 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,639,062 ราย หายป่วยเพิ่ม 10,868 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,478,251 ราย อยู่ระหว่างรักษา 138,295 ราย อาการหนัก 699 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 155 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 15 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 21 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,516 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 303,584 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 120,520,771 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 415,934,477 ราย เสียชีวิตสะสม 5,856,490 ราย 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 16 ก.พ. ได้แก่ กทม. 2,891 ราย, สมุทรปราการ 994 ราย, ชลบุรี 805 ราย,  นนทบุรี​ 661 ราย,​ ภูเก็ต 496 ราย,​ สมุทรสาคร​ 460 ราย,​ นครราชสีมา​ 547 ราย, นครศรีธรรมราช 402  ราย, ปทุมธานี​ 382 ราย และราชบุรี 371 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 แจ้งว่า ในวันที่ 17 ก.พ.2565 ศบค.งดแถลงสถานการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศบค.กำหนดแถลงสถานการณ์ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสดีของสัปดาห์

ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดประชุมหารือมาตรการยกระดับความปลอดภัยเปิดเรียน On-Site (ออนไซต์) กรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา ผ่านระบบซูม โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, รศ.พล.ต.หญิงฤดีวิไล สามโกเศศ รองประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ., ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ., นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

โดยมีการพิจารณาแนวทางใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การจัดการเรียนการสอนแบบ On-site กรณีมีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 และเสี่ยงสูง 2.การจัดการสอบสำหรับนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ที่สนามสอบ และ 3.การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 สำหรับครูและนักเรียนอายุ 5-18 ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมีความกังวลและห่วงใย

ทั้งนี้ ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ จะได้เตรียมการนำเสนอเข้า ศปก.ศบค. ในวันที่ 17 ก.พ.2565

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ห่วงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งในจังหวัดที่มีการรายงานยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ชลบุรี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช เป็นต้น จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง รวมทั้งให้เร่งฉีดวัคซีนประชาชนทุกกลุ่มให้ครบตามเกณฑ์ อย่างน้อย 2 เข็ม รวมทั้งเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติมจำนวน 50 เขต ในกรณีที่ศูนย์พักคอยเดิมมีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงมากกว่าร้อยละ 80 รวมทั้งให้หน่วยงานชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงแม้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้จะมีอันตรายน้อย แต่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ขอใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ไม่ประมาทและป้องกันตนเองอยู่เสมอ

"นายกฯ ยังสั่งให้เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเข้าลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass ให้นำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงระบบ และพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ วัดสะพาน เขตคลองเตย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจดูความพร้อมของศูนย์ดังกล่าว ซึ่งเปิดรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาตั้งแต่มีการระบาดใหม่ๆ หรือเกือบ 2 ปี มีเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งหมด 500 เตียง ขณะนี้มีผู้ครองเตียงไปแล้ว 400 เตียง

พล.ต.อ.อัศวินได้สั่งทุกพื้นที่เตรียมเพิ่มศูนย์พักคอยขึ้นมารองรับประชาชนผู้ติดเชื้ออีก 1,000 เตียง โดยให้กระจายครอบคลุมทั้ง 13 จุด ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีศูนย์พักคอยส่งต่อรวม 3,500 เตียง แต่มีผู้ครองเตียงไปแล้วเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 45 หากเพิ่มจำนวนเตียงขึ้นมาอีกตามเป้าหมาย 1,000 เตียง จะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ไม่ตกหล่นแน่นอน

วันเดียวกัน ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  สปสช.จัดทำระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในการจับคู่หน่วยบริการดูแล และขณะนี้ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเองและมีผลติดเชื้อโควิด-19 สามารถลงทะเบียนระบบ HI โดย กทม. โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต หรือสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 ต่างจังหวัดโทรคอลเซ็นเตอร์ของจังหวัดหรืออำเภอ

"นโยบายของรัฐบาลให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่การรักษาที่บ้าน หากสภาพบ้านไม่พร้อม จะเข้าสู่การรักษาในระบบชุมชน แต่ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น คนไข้จะถูกส่งต่อเข้าโรงพยาบาลตามความเร่งด่วนของคนไข้แต่ละราย หลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทร.แจ้งตามระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่โทร.กลับ เพื่อประเมินอาการภายใน 6 ชั่วโมง หากภายใน 6 ชั่วโมงยังไม่มีการติดต่อกลับ ให้โทร.แจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง" รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดีกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีข้อมูลจากทีมเครือข่ายจิตอาสาที่มาร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แจ้งว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเกิดเข้าใจผิดว่า เมื่อลงทะเบียน HI แล้วจะเสียสิทธิการจองเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาล ขอชี้แจงว่าระบบ HI เป็นการติดตามและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เพื่อแยกผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดและให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการหนักและจำเป็น ซึ่งในระหว่างการดูแลในระบบ HI หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้เสียสิทธิการเข้ารักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์