เคาะลดภาษีดีเซล3บาท 3เดือนสูญ1.7หมื่นล้าน

ครม.ไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร 3 เดือน  คลังรับสูญรายได้ 1.7 หมื่นล้าน แต่จำเป็นเหตุกองทุนน้ำมันยังติดปัญหากู้เงินไม่ได้ พลังงานเร่งหาข้อสรุปช่วยเหลือประชาชน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายธนกร วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ..... โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ลดลงโดยตรง  และสะท้อนไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ปรับลดประมาณ 3 บาท/ลิตร

โดยรายละเอียดมีดังนี้ น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม ไม่เกินร้อยละ 4 อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 อัตราภาษีเดิม 5.990 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.200 บาท น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 อัตราภาษีเดิม 5.930 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.170 บาท ทั้งนี้ อัตราภาษีใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พ.ค.65 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.65 จะกลับสู่อัตราภาษีเดิม

 “คาดการณ์ว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประมาณ 17,100 ล้านบาท จากปริมาณน้ำมันที่มีการชำระภาษี 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ที่จัดเก็บลดลงประมาณ 5,700 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ และการขนส่ง” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

นายธนกรตอบคำถามสื่อมวลชน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายว่า นายกฯ ชี้แจงว่ามีการพิจารณาในการลดภาษีน้ำมันลงส่วนหนึ่งเพื่อรักษาระดับน้ำมันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด รัฐบาลต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงในอนาคต เรื่องภาษี กองทุนน้ำมัน และอื่นๆ ที่ลดลง เนื่องจากภาษีดังกล่าวต้องนำไปใช้ในภารกิจอื่นๆ ด้วย ทำให้งบประมาณหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องก็ถูกปรับลดลงไป

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า  นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวใน ครม.  ว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ตรึงราคาน้ำมันไว้ที่ราคา 29.90 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 8 เดือน โดยจะตรึงราคาน้ำมันไว้ถึงแค่ 3 เดือน คือถึงเดือน พ.ค.เท่านั้น ทั้งนี้ การลดภาษีไม่ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงลิตรละ 3 บาท เพราะต้องกันส่วนหนึ่งไปใช้หนี้กองทุนน้ำมันที่ติดลบมานานแล้ว แต่ยืนยันว่า มาตรการนี้ยังทำให้ราคาน้ำมันดีเซลต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร 

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้รวม 1.7 หมื่นล้านบาท แต่เรื่องนี้มีความจำเป็นต้องลดภาษี เพื่อช่วยเหลือพยุงราคาน้ำมันร่วมกับกระทรวงพลังงาน เนื่องจากตอนนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง เพราะว่าต้องอุดหนุนทั้งราคาน้ำมันดีเซลและราคาก๊าซแอลพีจี ซึ่งราคาในตลาดโลกขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่สามารถกู้เงินได้ตามเพดานที่ ครม.อนุมัติรวม 3 หมื่นล้านบาทได้ เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องทางบัญชี หลังจากกองทุนน้ำมันได้เปลี่ยนจากนิติบุคคลภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน มาเป็นองค์การมหาชน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนระบบบัญชีไปด้วย แต่คาดว่าจะสามารถจัดการเรื่องบัญชีได้เรียบร้อยและเดินหน้ากู้เงินได้ในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ ในส่วนของรายได้ของกรมสรรพสามิตที่หายไปนั้น คาดว่าหากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ก็จะมีรายได้จากภาษีส่วนอื่นเข้ามาชดเชยได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ในภาพรวม ส่วนจะปิดหีบปีงบประมาณ 2565 ได้หรือไม่นั้น อยากให้รอดูก่อน

ที่กระทรวงพลังงาน นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จะเร่งจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อหาแนวทางในการบริหารราคาให้มีความเหมาะสมและสามารถช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ให้ได้ถึง 31 พ.ค.2565 ซึ่ง ครม.ได้มีข้อเสนอแนะว่า การลดภาษี 3 บาทต่อลิตร จะมีส่วนหนึ่งที่จะนำมาลดภาระค่าน้ำมันให้กับประชาชนในทันที และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ต่อเนื่องนานยิ่งขึ้น และขอให้สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศบริหารจัดการปริมาณน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันเพลิง (ณ วันที่ 13 ก.พ.2565) ติดลบอยู่ที่กว่า 18,000  ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง