4แคนดิเดตผู้ว่าฯ ค้านยืดสัมปทาน รถไฟฟ้าสีเขียว

Chadchart Sittipunt of Puea Thai Party arrives at the Lancaster Hotel before attending a joint press conference with other political party leaders in Bangkok on March 27, 2019. - Thai pro-democracy factions on March 26 moved to unite and thwart a junta-backed party from forming a government after the first election since a 2014 coup. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / various sources / AFP)

เปิดวิสัยทัศน์ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 4 คน  ถกปัญหา "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" โดยทั้งหมดคัดค้านการขยายสัมปทานให้เอกชนไปอีก 30 ปี พร้อมหนุนการจัดทำค่าโดยสารราคาถูก จัดทำตั๋วร่วมเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 10  สายราคาเดียว "ซูเปอร์โพล" เผย ปชช.ส่วนใหญ่ระบุปัญหาขัดแย้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวน่าเคลือบแคลงสงสัย ผลประโยชน์การเมืองระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัทเอกชน

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มีการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่าฯ กทม.ช่วยได้หรือไม่” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยมีว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 4 คนเข้าร่วม

โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระแสดงความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาตั้งแต่มีการว่าจ้างให้เอกชนเดินรถส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 โดยใช้อำนาจพิเศษ และไม่มีใครเคยเห็นสัญญา และมีความพยายามที่จะมีการขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี ถึงปี  2602 มีการกำหนดราคาสูงสุด 65 บาท โดยไม่ผ่านกระบวนการกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุน ทำให้มีปัญหาความโปร่งใสตั้งแต่ต้น 

นายชัชชาติเสนอ 5 ประเด็น คือ 1.ต้องไม่มีการขยายสัมปทานให้เอกชน ที่จะเป็นภาระให้คนรุ่นไปอีก 1  เจเนอเรชัน และนำกลับมาสู่กระบวนการกฎหมายร่วมทุน  2.กทม.ต้องเร่งเจรจาแก้ปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถ/และภาระหนี้จากการรับโอนโครงข่าย 100,000 ล้านบาท   โดย กทม.ไม่ควรเข้าไปแบกรับภาระการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว เพราะที่ผ่านมารถไฟฟ้าเส้นอื่นๆ รัฐบาลก็รับภาระค่าก่อสร้างงานโยธา 3.ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปเรื่องค่าโดยสารส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเปิดวิ่งมาแล้ว 3 ปีแต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเก็บค่าโดยสาร

4.ต้องเอาสัญญาค่าจ้างเดินรถถึงปี 2585 มาเปิดเผย เพื่อให้รู้ต้นทุนที่แท้จริงและนำไปสู่การคำนวณค่าโดยสารที่ถูกต้อง หลังหมดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2572 และ 5.ต้องนำเส้นทางทั้งหมดมาจัดหารายได้ เช่น ค่าโฆษณาในสถานีตามแนวเส้นทางสายสีเขียว ทั้งนี้มองว่าราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น สามารถดำเนินการได้ในอนาคต สามารถจัดเก็บได้ในราคา 25-30 บาท/คน

นางรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ  กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องไม่มีการขยายสัมปทานให้เอกชน   เนื่องจากในสัญญาสัมปทานที่จะต่อนั้นมีเงินนำส่งรายได้ที่เอกชนต้องจ่ายให้ กทม. 200,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นค่าต๋ง และเป็นที่มาที่ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสาร  65 บาท หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ตนจะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปให้รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำเอารถไฟฟ้าทุกสายกลับไปทำระบบตั๋วร่วมหรือตั๋วราคาเดียว เพราะที่ผ่านมาการทำโครงข่ายรถไฟฟ้ากว่า 10 เส้น

 “เมื่อเกิดการเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกสายเสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ใช้บริการทุกโครงข่ายไม่เกิน 40-45 บาท ก็จะทำให้มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากวันละ 1.2 ล้านคนเป็น 3-5 ล้านคนในอนาคต นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน” นางรสนากล่าว

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.  พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการขยายสัมปทาน ทำให้คนรุ่นลูกต้องมาแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงรวมแล้วอีก 38 ปี และที่สำคัญคือต้องไปดำเนินการให้ชัดเจน และทำการเจรจา 2 ส่วนคือ ไม่ไปแบกรับภาระหนี้การดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายจาก  รฟม.และไปเจรจาภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่มีกับเอกชน  37,000 ล้านบาท และเงินลงทุนจัดหารถอีก 20,000 ล้านบาท

"ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และหากจะมีการกำหนดค่าโดยสารให้คน กทม.ได้ประโยชน์ สามารถใช้บริการได้ ก็สามารถไปหาข้อสรุปว่า กทม.จะมีการอุดหนุนค่ารถไฟฟ้าเท่าไหร่ แต่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส" นายวิโรจน์กล่าว

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.  จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากกระทรวงคมนาคมในอดีตไม่ได้คิดวางแผนการพัฒนาเส้นทาง การจัดการเดินรถและเก็บค่าโดยสาร โดยคิดให้รอบด้านให้จบในครั้งเดียว พร้อมเสนอแนวคิดว่าสามารถผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 ถึง 25 บาทให้เกิดขึ้นจริงได้ โดย กทม.สามารถออกพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมทุนมาแก้ภาระหนี้ 30,000 ล้านบาท  เพื่อนำรายได้มาแก้ไขปัญหาหนี้ของ กทม.และค่าจ้างเดินรถในอนาคตด้วย 

ส่วนความเห็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่า รัฐบาลยังมีความพยายามที่จะนำเรื่องการขยายสัมปทานกับเอกชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้านั้น ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกคนระบุว่า รัฐบาลไม่ควรเร่งรัดดำเนินการ เนื่องจากกว่าจะหมดอายุสัมปทานยังมีเวลาอีก 8 ปี และควรรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

วันเดียวกัน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่องความคิดเห็นต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในเขตกรุงเทพมหานครและผู้พักอาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวดำเนินโครงการ จำนวน 1,032 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 11-13 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ  75.9 ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางประจำวันในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่เคยใช้บริการส่วนใหญ่หรือร้อยละ  92.7 พอใจต่อเรื่องความปลอดภัยบริเวณสถานีและการเดินรถไฟฟ้า รองลงมาคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.3 พอใจต่อการให้บริการสถานีและการเดินรถไฟฟ้า และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ระบุราคาค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นตามระยะทางมีความสมเหตุสมผล นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ระบุว่า การให้บริการเดินรถควรให้บริการยาว ไร้รอยต่อ ไม่ต้องขึ้นลงต่อขบวนรถตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ  93.8 ระบุมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับ ธุรกิจรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และการแสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 93.7 ระบุปัญหาความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวน่าเคลือบแคลงสงสัย ผลประโยชน์การเมืองระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัทเอกชน และร้อยละ 93.7 เช่นกัน ระบุปัญหาขัดแย้งการต่อสัมปทานให้บริษัทเอกชน เกิดขึ้นจากความขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมืองในรถไฟฟ้าสายสีอื่น และร้อยละ  89.7 ระบุกรุงเทพมหานครต้องชำระหนี้สินที่ค้างจ่ายให้บริษัทเอกชน

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.6 ต้องการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.แสดงวิสัยทัศน์แก้ปัญหาขัดแย้งธุรกิจการเมืองเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เช่น  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์,  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, นางรสนา โตสิตระกูล เป็นต้น  ในขณะที่ร้อยละ 6.4 ไม่ต้องการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป