‘สาธิต’ชงสธ.เลื่อนเวลา ปรับ‘โรคโควิด’พ้นฉุกเฉิน

ไทยติดเชื้อใหม่ 15,882   ราย ดับเพิ่ม 24 ราย นายกฯ วอนคนไทยฉลองวาเลนไทน์ปลอดภัยโควิด "สาธิต"  ชง "อนุทิน" เลื่อนปลดพ้นยูเซปเป็น 1 เม.ย. ให้เวลาประชาชนปรับตัว สปสช.ยันผู้ป่วยยังได้รักษาฟรีตามสิทธิตัวเอง  กรมอนามัยบี้ศาสนสถานเข้มมาตรการ COVID Free Setting ทำบุญมาฆบูชา

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,882 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 15,595 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,462 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 133 ราย, มาจากเรือนจำ 87 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 200 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 9,482 ราย อยู่ระหว่างรักษา 84,542 ราย อาการหนัก 641 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 126 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 24 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 11 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 88 ทั้งนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,593,327 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,446,022 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,436 ราย โดยประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในลำดับที่ 30 ของโลก

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 13 ก.พ.2565 พบที่ กทม. 2,920 ราย, สมุทรปราการ 948 ราย, นนทบุรี 826 ราย, ชลบุรี 714 ราย, ภูเก็ต 462 ราย, นครปฐม 394 ราย, นครราชสีมา 384 ราย, ราชบุรี 376 ราย, นครศรีธรรมราช 375 ราย และปทุมธานี 338 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มเติมวันที่ 13 ก.พ. รวม 270,440 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมของไทย รวมทั้งสิ้น 119,733,753 โดส

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์วาเลนไทน์ ปลอดภัย “รักอย่างไร ไม่ติดโควิด” ในเทศกาลวันวาเลนไทน์ปีนี้ ซึ่งยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่แน่ชัดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด จึงฝากทุกคนปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่แบบ New Normal รับมือกับการแพร่ระบาด โดยในวันวาเลนไทน์นี้ ขอให้คู่รักเลือกใช้วิธีแสดงความรัก เว้นระยะห่างระหว่างกัน และลดการออกนอกบ้าน  เป็นต้น หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ขอให้ใช้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ขอให้แสดงความรักให้เหมาะสมและปลอดภัย  อาทิ 1) ส่งของขวัญให้กัน บอกรักผ่านวิดีโอคอล 2) ให้กำลังใจกันเสมอ 3) อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อคนรัก 4) Social Distancing และ 5) แชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความรักห่วงใย หรือบอกรักผ่านสื่อออนไลน์ เชื่อว่าทุกคู่รักจะคอยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน

"นายกฯ ยังหวังให้ทุกคนแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ด้วยการมีความรับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนรวม ซึ่งสิ่งที่หวังให้เกิดขึ้นในมากที่สุดในช่วงเทศกาลแห่งความรักนี้  คือการแสดงความรักความสามัคคีของคนไทยทั้งประเทศ โดยอยากเห็นทุกคนมีความห่วงใยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อประเทศไทยและเราทุกคนจะชนะวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายธนกรระบุ

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมพร้อมที่จะปรับให้โรคโควิด-19 ออกจากสิทธิเจ็บป่วยวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่ หรือยูเซป ในวันที่ 1 มี.ค.65 โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องรักษาตามสิทธิสุขภาพของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดคำถามมากมายในสังคม เช่น หากติดเชื้อแล้วจะต้องใช้สิทธิบัตรทองในต่างจังหวัดอย่างไร หากติดเชื้อแล้วจะมีระบบดูแลจากที่บ้านหรือไม่นั้น

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ทำให้ประเทศไทยพบการติดเชื้อในช่วงขาขึ้น ยังเห็นตัวเลขรายวันหลักหมื่นราย ยังไม่นับรวมผู้ป่วยเข้าข่ายที่ผลการตรวจ ATK เป็นบวก ซึ่งมีความคิดเห็นที่จะนำเรื่องดังกล่าวหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในการเลื่อนการประกาศให้โรคโควิด-19 ออกจากยูเซป เป็นวันที่ 1 เม.ย.65 ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และเตรียมพร้อมในการปรับตัว

รมช.สาธารณสุขกล่าวว่า ในช่วงที่เคสกำลังขึ้น แล้วมีการปรับเรื่องระบบประเด็นสิทธิรักษา ดังนั้น ต้องมีระยะเวลาเพื่อสื่อสารความเข้าใจกับประชาชน อีกทั้งยังต้องหารือกับกรมการแพทย์ด้วย เพราะมีประเด็นเพิ่มมาว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง โรคปอด เป็นต้น ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของเตียงผู้ป่วยมากขึ้น โดยต้องรวบรวมเตียงจากโรงพยาบาลเอกชนมารวมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงและทำความเข้าใจว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ สามารถรักษาที่บ้านได้ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีระบบสายด่วน 1330 ที่ค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว โดยหลายคนก็อยากรักษาที่บ้าน (Home Isolation) มากกว่าที่ต้องไปอยู่ใน รพ.หรือในฮอสพิเทล (Hospitel) ดังนั้นเราต้องคงระบบนี้ไว้

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปลดโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล แต่หากมีการประกาศออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รักษาแล้ว ดังนั้น การที่ใช้คำว่า "หมดสิทธิรักษาฟรี” จึงไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่ายังรักษาฟรี และรักษาฟรีทุกโรค ไม่เฉพาะแค่โควิด โดยเมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ และหากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน

"สายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้คือ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ Home Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ดังนั้น หากมีการประกาศให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ผู้ป่วย

สามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว” นพ.จเด็จระบุ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าวัดทำบุญ เวียนเทียนเป็นจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือศาสนสถานต่างๆ ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2 Plus ด้วยหลัก COVID Free Setting เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้มีศาสนสถานที่ได้ประเมินตนเองแล้ว จำนวน 2,997 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 2,797 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 93.30 ไม่ผ่านเกณฑ์ 201 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.70

​ทั้งนี้ การจัดงานในวันมาฆบูชา ต้องเป็นไปตามมาตรการ COVID Free Setting โดยจัดให้มีจุดคัดกรองผู้เข้ามาใช้บริการ กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะช่วงฟังเทศนาธรรม ทำบุญถวายสังฆทาน พิธีเวียนเทียน มีการจัดอาหารแบบแยกชุด รวมถึงการดูแลความสะอาดของสถานที่ และให้เปิดโล่ง เพื่อการระบายอากาศที่ดี ส่วนประชาชนที่ร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุดด้วยหลัก UP-DMHTA พร้อมทั้งคัดกรองความเสี่ยงตนเองทุกวันผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย”  สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำบุญที่วัด ให้ทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น ทำบุญผ่าน QR Code (e-Donation) และเปลี่ยนเป็นการเวียนเทียนออนไลน์แทน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์