พาณิชย์ดักคอ ยันราคานํ้ามัน เพิ่มต้นทุนจิ๊บๆ

พาณิชย์ออกโรงดักคอ ชี้ต้นทุนพลังงานแทบไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ผู้ผลิตอย่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา ย้ำค่าก๊าซต้นทุนเพิ่มแค่หลักสตางค์  อย่ามั่วขอโขกอาจโดนเช็กบิล

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้สัมภาษณ์ว่า กรมได้วิเคราะห์ผลกระทบต้นทุนน้ำมันดีเซลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ตามที่ได้รับการสั่งการจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยได้วิเคราะห์ต้นทุนน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 30 บาทต่อลิตร ว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่มาก จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ผลิตจะใช้ในการปรับขึ้นราคา และได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าไปก่อน โดยผลการวิเคราะห์ เช่น สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.45%, ของใช้ประจำวันเพิ่ม 1.1%, วัสดุก่อสร้างเพิ่ม 1.2%, กระดาษและผลิตภัณฑ์เพิ่ม 5%,  ปัจจัยการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืชเพิ่ม 0.5% เป็นต้น

 นายวัฒนศักย์กล่าวต่อว่า กรมได้ติดตามดูแลสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด และเห็นว่ารัฐบาลได้เข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซลอยู่แล้ว ไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้น คงจะอยู่ในระดับ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าไม่ปรับเพิ่มไปมากกว่านี้ จึงเบาใจในเรื่องต้นทุนน้ำมันที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ส่วนต้นทุนในด้านการขนส่ง กรมได้ติดตามเช่นกัน พบว่ามีผลกระทบมากน้อยต่างกันแล้วแต่ชนิดสินค้า แต่ภาพรวมไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

"เพื่อดูแลราคาสินค้าไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค กรมได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมการค้า, ผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบการ มาหารือเป็นรายกลุ่มสินค้าแล้ว เพื่อประเมินสถานการณ์สินค้าแต่ละรายการ และได้แจ้งขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ ยกเว้นผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้จริง ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยมีหลักคือผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนจนเกินไป และผู้ผลิตต้องอยู่ได้" นายวัฒนศักย์ระบุ

นายวัฒนศักย์กล่าวอีกว่า แนวโน้มราคาสินค้าพบว่าหลายรายการมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตร โดยราคาแม่ปุ๋ยยูเรียลดลง 17% จากราคาในเดือน ธ.ค.2564 อยู่ที่ 953 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 790 ดอลลาร์ต่อตัน ฟอสเฟตลดลง 5% จากราคา 908 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 859 ดอลลาร์ ส่วนโปรแตชเพิ่มขึ้น 8% จาก 665 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 724 ดอลลาร์ ซึ่งที่ใช้เยอะคือยูเรีย ซึ่งจะทำให้แนวโน้มราคาปุ๋ยในประเทศปรับตัวลดลง ขณะที่สินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาได้แล้วหลายกลุ่ม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, น้ำอัดลม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ซอสปรุงรส, นมและผลิตภัณฑ์จากนม รวมทั้งอาหารกระป๋อง ส่วนอาหารสด เช่น ไข่ไก่, เนื้อไก่ และเนื้อหมู ล่าสุดหลังจากตรึงราคาหน้าฟาร์มส่งผลให้ราคาทรงตัว และปัจจุบันเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว

"การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม กรมได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เบื้องต้นประเมินว่าหากปรับจริงก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทำอาหารปรุงสำเร็จไม่มาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อจาน/ชามแค่หลักสตางค์ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการปรับขึ้น ก็ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ค้า อย่าใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคา" นายวัฒนศักย์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยารังสิต กล่าวว่า สินค้าและบริการใดที่มีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้น พณ.ควรให้ปรับราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่ฉวยโอกาสขึ้นราคา หากไม่ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าได้ ส่วนสินค้าและบริการจำเป็นพื้นฐานนั้น รัฐบาลควรเข้ามาอุดหนุนหรือแทรกแซงกลไกราคาไม่ให้ราคาสูงเกินจนประชาชนไม่สามารถซื้อหาได้ และเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต

“ความเคลื่อนไหวของสมาพันธ์ขนส่งขอเสนอให้ปรับขึ้นราคาขนส่งนั้น ควรให้ปรับขึ้นได้ แต่ควรปรับเพิ่มค่าขนส่งไม่เกิน 5-10% หากปรับสูงถึง 20% จะกระทบอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าและบริการมากเกินไป” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง