โควิดนิวไฮ! ‘กลุ่มเสี่ยง’ ตายเยอะ

ฉุดไม่อยู่แล้ว ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นทุบสถิติรอบใหม่เป็นรายวัน ล่าสุด 16,330 ราย แต่อัตราการเสียชีวิตยังทรงๆ 25 คน "หมอยง" เผยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 608 จึงต้องดูแลเป็นพิเศษ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า   พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,330 ราย ติดเชื้อในประเทศ 16,049 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,809 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 240 ราย, มาจากเรือนจำ 131 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 150 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 9,205 ราย อยู่ระหว่างรักษา 118,493 ราย อาการหนัก 610 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 128 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 25 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 12 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 20 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,577,445 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,436,540 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,412 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 11 ก.พ. 451,666 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 119,463,313 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 408,896,150 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,820,521 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,233 ราย, สมุทรปราการ 949 ราย, นนทบุรี 841 ราย, ชลบุรี 813 ราย, ภูเก็ต 478 ราย, นครปฐม 383 ราย, นครศรีธรรมราช 367 ราย, ปทุมธานี 364 ราย, สมุทรสาคร 350 ราย และนครราชสีมา 336 ราย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด-19 อัตราการป่วยตายในประเทศไทย

นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์เดลตามาเป็นสายพันธุ์โอมิครอน เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าอัตราการป่วยตาย หมายถึงจำนวนผู้เสียชีวิตต่อสัปดาห์ กับจำนวนที่ตรวจพบยืนยันด้วย RT-PCR จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 0.2% แสดงว่ามีผู้ป่วยที่ยืนยันด้วย RT- PCR 1,000 ราย จะเสียชีวิตประมาณ 2 ราย ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น อัตราการป่วยตายก็ยังคงอยู่ที่เดิม จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมาคิดเป็นอัตราการป่วยตายแล้ว ตัวเลขยังคงอยู่แบบเดิม ดังแสดงในรูป

หลายคนอาจจะกล่าวอ้างว่าการป่วยเพิ่มวันนี้ กว่าจะป่วยหนักถึงเสียชีวิตใช้เวลาเฉลี่ย 8-12 วัน อัตราการป่วยตายสัปดาห์นี้ อาจจะอยู่เยื้องกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่จากข้อมูลนี้เปรียบเทียบให้เห็นตั้งแต่สมัยสายพันธุ์เดลตา ในรูปแบบเดียวกัน ให้เห็นว่าอัตราการป่วยตายของสายพันธุ์โอมิครอนลดลงมากกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างแน่นอน เพราะในช่วงสายพันธุ์เดลตาจะอยู่ระหว่าง 1 ถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์

เราคงไม่อยากให้มีการป่วยตาย ถึงแม้ว่าจะน้อยลง ส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตก็ยังอยู่ในกลุ่ม 608 หรือกลุ่มเสี่ยงอยู่นั่นเอง กลุ่มเสี่ยงจึงเป็นกลุ่มที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ และมีมาตรการในการป้องกันอย่างเข้มงวด ไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโดยภาพรวมว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,129,663 คน คิดเป็น 95.11%, เข็มที่ 2 จำนวน 3,100,458 คน คิดเป็น 71.41% ส่วนภาพรวมครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 1,027,269 ราย โดยได้รับวัคซีนเข็มที่ 1  แล้ว 99.99%, เข็มที่ 2 79.45% ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำขอให้ทุกโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 16,330 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 16,180 ราย, ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 150 ราย, ผู้ป่วยสะสม 354,010 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 9,205 ราย   หายป่วยสะสม 268,046 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 118,493 ราย เสียชีวิต 25 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเพิ่มเติมว่า การเปิดเรียน onsite ท่านนายกฯ ขอให้เน้นย้ำ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม 7 มาตรการเข้มงวด สำหรับ 6 มาตรการหลัก DMHT-RC ได้แก่ เว้นระยะห่าง (Distance) สวมหน้ากาก (Mask Wearing) ล้างมือ (Hand Washing) คัดกรองวัดไข้ (Testing) ลดการแออัด (Reducing) ทำความสะอาด (Cleaning) ส่วน 6 มาตรการเสริม SSET-CQ ได้แก่ ดูแลตนเอง (Self-Care) ใช้ช้อนกลางส่วนตัว (Spoon) กินอาหารปรุงสุกใหม่ (Eating) เช็กอินผ่าน APP ไทยชนะ (Track) สำรวจตรวจสอบ (Check) กักกันตัวเอง (Quarantine) สำหรับ 7 มาตรการเข้มงวดได้แก่ 1.ประเมิน TSC+ (Thai Stop Covid+) และรายงานผลผ่าน MOE Covid 2.กิจกรรมแบบกลุ่มย่อย (Small Bubble) 3.จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์มาตรฐาน 5.แผนเผชิญเหตุและมีการซักซ้อม (School Isolation) 6.ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน (Seal Route) 7.School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา

            “นายกฯ เน้นย้ำดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดย ขอให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย อีกทั้งขอให้ยึดหลัก 6-6-7 และให้ดูแลเด็กนักเรียนให้ครอบคลุมที่สุด และจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ก็ได้มีการระดมเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปอย่างคืบหน้ามากแล้ว” นายธนกรกล่าว

ขณะที่นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ว่า จากการคาดการณ์ของเรา ระยะรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจสิ้นสุดลงได้ในปีนี้ หากประชากรโลก 70% (เป้าหมายกำหนด) ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ภายในกลางปีนี้ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ดับเบิลยูเอชโอคาดว่าวัคซีนนี้จะมีราคาที่ต่ำกว่าเดิม และมีข้อจำกัดด้านการจัดเก็บลดลง ซึ่งคาดว่าวัคซีนดังกล่าวจะพร้อมสำหรับการทดสอบทางคลินิกในเดือนพฤศจิกายนนี้ และอาจได้รับการอนุมัติในปี 2024.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์