ไทยติดเชื้อเหลือ 8.9 พันราย เสียชีวิต 79 ราย เตือนเชียงใหม่ยกการ์ดสูงหลังคลัสเตอร์ผุดเป็นดอกเห็ด เร่งฉีดวัคซีน 4 จว.ชายแดนใต้-จว.นำร่องท่องเที่ยว ฝาก ปชช.หยุดยาว 4 วันยึดมาตรการป้องกันสูงสุด "บิ๊กตู่" ลั่นเปิดประเทศ 1 พ.ย.คัดกรองนักท่องเที่ยวเข้ม แจงตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ไม่ใช่ยึดอำนาจ "บิ๊กเล็ก" แค่บูรณาการการทำงานไม่ก้าวก่าย "นครพนม" วุ่น! ครูสมัครใจฉีดวัคซีนแค่ 3,000 จากยอด 8, 000 คน ต้องเลื่อนเปิดเทอม
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. วันที่ 20 ต.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,918 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,859 ราย ระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,195 ราย ค้นหาเชิงรุก 64 ราย เรือนจำ 41 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,811,852 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 10,878 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 1,689,859 ราย อยู่ระหว่างรักษา 103,507 ราย อาการหนัก 2,728 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 619 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 79 ราย เป็นชาย 40 ราย หญิง 39 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 49 ราย มีโรคเรื้อรัง 23 ราย และเด็กอายุ 1 เดือนเสียชีวิตที่ จ.ตาก 1 ราย
โดยพบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 18 ราย พื้นที่ภาคใต้เสียชีวิตรวมกันสูงถึง 20 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 18,486 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 19 ต.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 994,781 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 67,587,102 โดส สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 20 ต.ค. ได้แก่ กทม. 1,020 ราย ยะลา 704 ราย ปัตตานี 520 ราย สงขลา 484 ราย สมุทรปราการ 359 ราย ชลบุรี 328 ราย เชียงใหม่ 294 ราย นราธิวาส 284 ราย นครศรีธรรมราช 266 ราย จันทบุรี 265 ราย ภาพรวมของทั้งประเทศถือว่าลดลง มีเพียง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ๆ เช่น คลัสเตอร์งานศพที่ จ.เลย อุดรธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น จึงขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ขอเน้นย้ำว่าถ้าเป็นไปได้อยากจะให้แจกจ่ายอาหารไปรับประทานที่บ้าน เนื่องจากการรับประทานอาหารร่วมกันมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ พบอีกหลายคลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์กาดเมืองใหม่ ซึ่งมีการแพร่เชื้อไปยัง จ.แม่ฮ่องสอน คลัสเตอร์แรงงานไม้ตัดยาง คลัสเตอร์ร้านอาหาร คลัสเตอร์บ้านพักนักเรียนประจำ คลัสเตอร์ร้านค้า ขอให้ จ.เชียงใหม่ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิต
"จากนี้ สธ.จะเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัด รวมภูเก็ตและพังงา เป็น 17 จังหวัดที่จะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ส่วนกลางได้ส่งวัคซีนสนับสนุนไปเพิ่มเติมในจังหวัดนำร่องกลุ่มนี้แล้ว 7 แสนโดส จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เข้าฉีดวัคซีนให้มากๆ" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
พญ.สุมนีกล่าวถึงผลการประชุม ศบค.ชุดเล็กว่า มีการหารือวางแผนแนวทางการเปิดประเทศจากหน่วยงานต่างๆ โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นขอพิจารณาหลักในการเปิดประเทศ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ปัจจัยมาตรการทางสาธารณสุข 2.ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเศรษฐกิจ โดยแยกเป็น 2 เรื่อง คือเรื่องแรกการท่องเที่ยว เรื่องสองคือการมาทำธุรกิจในประเทศไทย และ 3.ปัจจัยพิจารณาในเรื่องของประเทศนั้นจะต้องมีความสอดคล้องกับมาตรการระหว่างประเทศให้เข้ากับประเทศไทยได้ เช่น การเข้า-ออกประเทศ
"ข้อพิจารณาหลักทั้ง 3 ข้อจะเป็นหลักในการพิจารณาเปิดประเทศและรูปแบบในการพิจารณาเข้าประเทศนั้นแบ่งเป็น 3 รูปแบบใหญ่ คือ 1.การเข้ามาในสถานที่กับการที่รัฐกำหนดให้เหมือนที่เคยกำหนดมาแต่เดิมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนไม่ครบแล้วเข้ามาในประเทศ เราก็ต้องเข้าสู่มาตรการกักกัน ไม่ว่าจะเป็น 7, 10, 14 วัน แล้วแต่กรณี 2.แบบแซนด์บ็อกซ์ หรือแบบพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะที่ 1 ใน 17 จังหวัดด้วย 3.แบบไม่กักตัว ซึ่งแบบที่ 2 และ 3 นั้น จะต้องมีเงื่อนไขคือต้องได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มเป็นหลัก พญ.สุมนีกล่าว
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ช่วงวันหยุด 4 วันนี้เชื่อว่าจะมีประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด ในการทำกิจการกิจกรรมใดขอให้ยังคงเข้มมาตรการส่วนบุคคลเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ใช้แอลกอฮอล์เจลในการล้างมือ เว้นระยะห่าง เน้นมาตรการป้องกันสูงสุดแบบครอบจักรวาล ถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเสียงวิจารณ์รัฐบาลจะเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.ได้จริงหรือไม่ว่า การวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ไม่สร้างสรรค์ ทุกคนต้องช่วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมเดือดร้อนขอมาตนก็ทำให้ แต่ต้องมีมาตรการและทำตาม ซึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นมาตนก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี ขอให้เห็นใจด้วย
"ผมยืนยันคิดละเอียดรอบคอบแล้ว แต่ไม่อยากให้นำไปพูดติติงทุกเรื่อง 40-50 ประเทศไม่ใช่ว่าจะมาพร้อมกัน ผู้ที่เข้ามาจะเข้ามาทางอากาศมีมาตรการคัดกรอง แต่ก็ยอมรับว่ารู้สึกห่วงคนในประเทศจะแพร่กระจายเชื้อในพื้นที่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวถึงการตั้ง ศบค.ส่วนหน้าว่า ได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถึงการบริหารจัดการภาคใต้เพื่อลดการสูญเสีย รวมถึงการเยียวยา เน้นย้ำให้เฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะประเทศไทยมีปัญหาหลายด้าน ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ตนเป็น ผบ.ทบ. และรอง ผอ.รมน.สนับสนุนเรื่องเหล่านี้มาตลอด เพราะเป็นกลไกของทุกรัฐบาล หน่วยงานเหล่านี้จะต้องไปเสริมการปฏิบัติงานของกระทรวงอื่นๆ ด้วย เช่น ทหารที่ทำหน้าที่ป้องกันการลักลอบตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ด้วยการประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงฝากความเห็นใจและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหารตามแนวชายแดน
"ยืนยันไม่ใช่การยึดอำนาจ ทุกอย่างยังดำเนินการเหมือนเดิม โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกฯ และ ผอ.ศบค.ส่วนหน้า ลงไปทำหน้าที่เพียงแค่บูรณาการการทำงาน เพราะเรามีกฎหมายในการทำงานอยู่แล้ว ความจริงไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของใคร เพียงแต่เข้าไปดูแลให้เกิดความทั่วถึงในเรื่องการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19" นายกฯ กล่าว
ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 10 /2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานว่า นายกฯ ขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาโควิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมและให้การสนับสนุนรัฐบาลในการเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 1 พ.ย.นี้
ส่วน พล.ต.ท.สําราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงการดำเนินการตรวจสอบและป้องปรามร้านจำหน่ายสุราและสถานบันเทิงต่างๆ ที่แอบเปิดให้บริการกับลูกค้าโดยฝ่าฝืนความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อว่า หากพื้นที่ใดมีการเปิดให้บริการโดยผิดกฎหมาย และเห็นว่าเป็นการปล่อยปละละเลย จะมีคำสั่งให้ไปช่วยราชการจนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ
จ.นครพนม นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าฯ นครพนม ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ ประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ช่วงหนึ่งในการประชุมมีการหารือการเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้
นายธันญ์สุธี ภัคธารีรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม รายงานว่า ที่ผ่านมามีนักเรียนตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน 38,029 ราย จากยอดรวมทั้งจังหวัดกว่า 50,000 คน ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 22,616 ราย ขณะที่กลุ่มครูที่มีทั้งสิ้น 8,048 ราย ประสงค์ฉีดวัคซีนแค่ 3,000 คน เหลืออีกกว่า 5,000 คน ที่ไม่ยอมเข้ารับวัคซีน ทางคณะกรรมการโรคติดต่อประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่ายังไม่ควรอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 พ.ย.นี้ พร้อมให้ทางศึกษาธิการจังหวัดนครพนมเร่งดำเนินการกับกลุ่มครูที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีนโดยด่วน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี
อิ๊งค์ข้องใจแสนชื่อเลิก‘MOU44’
“หมอวรงค์” นำกลุ่มคนคลั่งชาติยื่น 104,697 รายชื่อร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44
ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’
“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ
ทวีโยงคาร์บ๊องป้องแม้วพักชั้น14
ตามคาด "ทักษิณ" ไม่เข้าชี้แจง กมธ.ปมนักโทษชั้น 14 "ทวี" แจงแทน
‘ทักษิณ-พท.’ยิ้มร่า ศาลยกคำร้องล้มล้างฯ เพื่อไทยเล็งฟ้องเอาคืน
ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง