ดับเครื่องชนบิ๊กป๊อก ภท.ไล่บี้สาง6ปมสายสีเขียว/นายกฯปัดรัฐบาลร้าว

ศึกงัดข้อรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 แสนล้าน ภูมิใจไทยชนบิ๊กป๊อก จบยาก "ศักดิ์สยาม" ดับเครื่องชน ลั่น หากมหาดไทยไม่แจงข้อโต้แย้งให้เคลียร์ ภท.ไม่ร่วมสังฆกรรมประชุม ครม.  นายกฯ ยืนกราน หากเอาเข้า ครม.ต้องแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจร่วมกัน บีทีเอสซีจ่อฟ้อง กทม. ทวงหนี้เพิ่ม 2 หมื่นล้าน

ผลพวงจากศึกงัดข้อระหว่างรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยกับแกนนำรัฐบาลสาย 3 ป. นำโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในเรื่องการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะสร้างรอยปริร้าวให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกันหรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 9 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งทราบว่ามีการทำมาหลายครั้ง เมื่อทำมาเดี๋ยวก็ชี้แจงกลับไป และเมื่อเรียบเรียงพร้อมแล้วก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

 “มันจำเป็นต้องพิจารณา เพราะมันเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหา มันไม่มีวิธีทางอื่นที่จะแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว มันมีหนี้สินและอะไรต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ที่ถือเป็นภาระของรัฐบาลเหมือนกัน ก็ต้องบอกกันตรงนี้ และถ้าพูดกันจริงๆ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเส้นแรกของประเทศไทย และมีการต่อขยายออกมา เพราะฉะนั้นการเป็นเส้นแรกมันก็อย่างว่า สมัยก่อนก็เป็นการลงทุนจากภาครัฐอย่างเดียว แต่ต่อมาก็จะมีในเรื่องของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ก็มีความซับซ้อนอยู่เล็กน้อย แต่ผมยืนยันไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ใครทั้งสิ้น ผลประโยชน์เพื่อประชาชนและประเทศชาติ ทำอย่างไรเราจะไม่เพิ่มภาระในเรื่องของหนี้สาธารณะ นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ แต่ทั้งนี้ที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.ว่าจะออกมาอย่างไร ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันหรอก ทุกคนต่างก็มีความเห็น ผมก็ฟังได้ทุกคน แต่ทุกคนก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุและผล และข้อกฎหมายที่มีอยู่ และผมเองก็ต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาหรืออัยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งทั้งหมดมีคำชี้แจงหมดแล้ว แต่จะทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องรอดูต่อไป ปัญหามันเยอะอยู่แล้ว รัฐบาลพยายามแก้อยู่” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า แล้วจะเป็นปัญหาหรือไม่ในเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า "ไม่เป็นหรอก จะเป็นได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็ไม่ใช่เรื่อง"

ถามย้ำว่า หากท้ายที่สุดพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย แล้วจะเดินหน้าโครงการต่อไปอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของ ครม. ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ ถ้าเขาสามารถชี้แจงได้ในที่ประชุม แล้วที่ประชุมเห็นชอบก็เป็นเรื่องของการดำเนินการที่จะตัดสินใจร่วมกัน

เมื่อถามย้ำว่า ในการประชุม ครม.ครั้งหน้า ถ้ามติออกมาเป็นอย่างไรก็ถือเป็นมติใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็สุดแล้วแต่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เดี๋ยวก็เตรียมการอยู่ เรื่องนี้อย่าเพิ่งไปตอบตอนนี้เลย เดี๋ยวไปเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีก ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทุกอย่าง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และคุยกันเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ทุกคนก็รับรู้ถึงปัญหา แต่ว่าบางครั้งทุกคนไปพูดกันปลายทางเสียเยอะ ก็กลายเป็นว่าไปพูดเรื่องความขัดแย้งเสียเยอะ เราควรไปมองต้นทางว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน มีอะไรเกิดขึ้นมาแล้วบ้าง จะแก้อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่ต้องทำ รัฐบาลต้องทำ เพราะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล

เมื่อถามว่า ยืนยันใช่หรือไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีปัญหาอะไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังขณะเดินออกจากโพเดียมว่า “โอ้ย ไม่มีอะไรหรอกๆ ถ้าเธอไม่ยุ่งมันก็ไม่มีมั้ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 1/2565 พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือนอกรอบอย่างเคร่งเครียดเป็นเวลากว่า 20 นาทีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บอกหลังถูกสื่อถามว่าความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ยังดีอยู่หรือไม่ว่า “โอเคไหมล่ะ คุณถามอย่างนี้ทุกวัน” ส่วนที่ปิดห้องพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.อนุพงษ์ และนายสันติ พล.อ.ประวิตรตอบว่า “ผมต้องบอกคุณหรือ” ก่อนขึ้นรถเดินทางกลับทันที

วันเดียวกันนี้ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีชื่อเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ไม่ได้มาร่วมประชุมแต่อย่างใด โดยมอบหมายให้ผู้แทนเข้าประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลแทน

ต้องลดค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บ.

ขณะที่ฝ่ายพรรคภูมิใจไทยก็มีท่าทีชัดเจนมากขึ้นถึงการคัดค้านการต่อสัญญาดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ย้ำว่า เรื่องนี้ต้องขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรีและ ครม.ที่เข้าร่วมประชุม ที่ทำให้ได้มีการเปิดโอกาสรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในการที่ให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร ชี้ แจงในส่วนที่กระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล เพราะหลายประเด็นทาง กทม.ยังทำไม่รอบด้านและครบถ้วน

"การที่ 7 รมต.ของพรรคภูมิใจไทย แสดงออกชัดเจนไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ก็เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อกระทรวงมหาดไทยที่มีการเสนอขอขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่ การดำเนินการต่างๆ ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ก็แสดงออกชัดว่าค้าน ไม่อยากให้ต้องเมื่อเข้าร่วมประชุมแล้วไปถกเถียงกันใน ครม.ให้เป็นเรื่องเป็นราว ในเมื่อไม่เห็นด้วย" รมว.คมนาคมระบุ

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคมนาคมได้ทำความเห็นส่งไปยังเลขาธิการ ครม.หลายครั้งและชัดเจนมาก ซึ่งนอกจาก 4 ประเด็นก่อนหน้า ในครั้งนี้ได้เพิ่มเติมไปอีก 2 ประเด็น ทั้งในเรื่องของการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทางด้านทิศเหนือ จากหมอชิต-คูคต แม้ว่าก่อนหน้าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กทม.และ รฟม.ก็ตาม แต่ในปัจจุบันทาง กทม.ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างให้กับ รฟม. แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีประเด็นในเรื่องของการคำนวณอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ว่ามีการใช้หลักการคำนวณอย่างไร เป็นต้น เนื่องจากทางคมนาคมมองว่าอัตราค่าโดยสารที่จะจัดเก็บตลอดสายสามารถทำให้ถูกกว่า 65 บาทได้

"หากในการประชุม ครม.ครั้งต่อๆ ไปทางกระทรวงมหาดไทยจะยังมีการเสนอ วาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทางพรรคภูมิใจไทยจะแสดงท่าทีอย่างไรนั้น ยืนยันว่า หากกระทรวงมหาดไทยเสนอวาระดังกล่าวกลับเข้ามา และมีการทำให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล ทางพรรคภูมิใจไทยก็จะสนับสนุน แต่ถ้ายังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย ก็บอกได้เลยว่าพรรคภูมิใจไทยจะยังคงคัดค้านเหมือนเดิม เพราะหากไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้อง จะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย" เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยย้ำชัดๆ

ต่อมา นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย และ ส.ส. อ่างทอง เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง พรรคภูมิใจไทยยึดหลัก 3 ข้อพิจารณารถไฟฟ้าสายสีเขียว ถูกกฎหมาย-ประโยชน์ของรัฐ-ลดรายจ่ายให้ประชาชน เพื่อชี้แจงกรณีที่รัฐมนตรี 7 คนของพรรคไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากต้องการคัดค้านการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาร่วมลงทุน

โดยมีเนื้อหาว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้บังคับบัญชา การไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นไปตามที่ได้เคยแสดงเจตนารมณ์กับนายกรัฐมนตรีไว้แล้วว่า หากมีการนำวาระนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย จะขอสงวนสิทธิ์ แสดงความเห็นคัดค้าน ในส่วนที่กระทรวงคมนาคมชี้ประเด็นว่า แนวทางที่ กทม. เสนอมา จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน

แถลงการณ์ระบุว่า การไม่เข้าประชุมเป็นแนวทางหนึ่งที่จะรักษาบรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรี และการทำงานร่วมกันของรัฐบาล ไม่ให้มีความขัดแย้ง และได้แจ้งลาการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่หลบหน้าหรือหายตัวไปเฉยๆ ประเด็นสำคัญของวาระเพื่อพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือการแปลงสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาร่วมทุน ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณา และยังมีมุมมองที่เห็นต่างกันอยู่ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงมหาดไทย ในฐานะต้นสังกัดของ กทม. กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีประเด็นคำถามที่ต้องการข้อมูลเอกสารจาก กทม. และยังได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงแสดงความเห็นคัดค้านการดำเนินการที่ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กฎหมาย และระเบียบอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ส่วนต่อขยายจาก รฟม.ไปเป็นของ กทม. ซึ่ง กทม.ยังไม่ได้แจ้งว่าได้ดำเนินการแล้วเสร็จถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่

แถลงการณ์ย้ำอีกว่า เรื่องค่าโดยสาร เป็นอีกประเด็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง ในฐานะที่เป็นผู้กำกับมาตรฐานการเดินรถ การประกอบกิจการของรถไฟฟ้า เห็นว่าสามารถจัดเก็บได้ต่ำกว่าที่ กทม.เสนอ และเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน จึงท้วงติงประเด็นนี้ พร้อมทั้งขอข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมว่าทำไมจึงต้องเป็น 65 บาท ในขณะที่กระทรวงคมนาคมคำนวณได้ต่ำกว่า 65บาท

"พรรคภูมิใจไทยขอเรียนว่า การพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พรรคภูมิใจไทยยึดหลักการ 3 ข้อ คือ 1.พรรคภูมิใจไทย พิจารณาในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนสูงสุด พร้อมกันนี้ต้องรักษามารยาทการร่วมรัฐบาล และไม่สร้างความขัดแย้ง ที่จะกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล 2.พรรคภูมิใจไทยเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้คือ กทม. ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กฎหมาย ระเบียบ และหลักธรรมาภิบาล ซึ่งหากมีการดำเนินการครบถ้วน มีข้อมูล เอกสารใหม่ที่ครบถ้วน พรรคภูมิใจไทย พร้อมที่จะพิจารณาใหม่และให้ความเห็นชอบ

3.พรรคภูมิใจไทยทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร คุ้มครองประชาชนผู้บริโภค หรือประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ให้ได้รับความเป็นธรรมจากการกำหนดราคาค่าโดยสาร และได้รับการบริการที่ดี เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบกิจการ การไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นท่าทีที่ทำให้คณะรัฐมนตรี ต้องพิจารณาโครงการนี้อย่างรอบคอบ อีกครั้งหนึ่ง และมอบให้กระทรวงมหาดไทยตอบคำถามของกระทรวงคมนาคมให้ครบถ้วนก่อน แล้วเสนอกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง" แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ของพรรคภูมิใจไทยบอกอีกว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีความขัดแย้งกับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แต่การทำงานของพรรคมีแนวทางที่ชัดเจนคือ ต้องถูกต้องตามกฎหมายและเพื่อประโยชน์ของประชาชน หากเป็นไปตามนี้เราไม่มีเหตุที่จะคัดค้าน และจะพร้อมให้การสนับสนุน

พปชร.เชียร์ไม่เร่งต่อสัญญา

ส่วนท่าทีของพลังประชารัฐต่อกรณีนี้ ที่รัฐสภา นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แถลงว่า ก่อนหน้านี้ คณะ กมธ.มีมติตั้งข้อสังเกตไปให้คณะรัฐมนตรีแล้วว่า ยังไม่ควรต่อสัญญาในตอนนี้ เพราะเหลือเวลาอีก 7 ปี หรือจะหมดลงในปี 72 และรัฐบาลยังมีเวลา ไม่จำเป็นต้องต่อสัญญาเพื่อใช้หนี้ที่ติดไว้ 5 หมื่นล้านให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ แต่เสนอให้รัฐบาลเจรจากับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ให้มาลงทุนร่วมกันบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยรัฐบาลถือหุ้น 50 % และอีก 50% ให้ผู้ประกอบการรถไฟฟ้า 10 สายร่วมถือหุ้นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ

ด้านท่าทีจากฝ่ายเอกชน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวถึงกรณีของการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เอกชนทำได้เพียงปฏิบัติตามสัญญาจ้างเดินรถ ก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แม้ว่าจะยังไม่ได้รับหนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่มีคนพูดว่าเอาหนี้ 30,000 ล้านนำมาแลกกับสัมปทาน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่ให้บริการจริงกับประชาชน ทั้งการติดตั้งระบบและการเดินรถ อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องสัมปทานเป็นเรื่องของภาครัฐที่พยายามจะแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะหนี้ของ กทม.ที่รับภาระค่าก่อสร้างกับงานโยธา มาจากทาง รฟม.จำนวน 60,000 ล้านบาท รวมถึงค่าโดยสารที่ต้องให้เก็บไม่เกิน 65 บาท สวนทางกับเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้สูงสุด 158 บาท ระยะทาง 60 กิโลเมตร จึงเจรจากันเพื่อลดค่าโดยสาร ดังนั้นทั้งสองเรื่องจึงไม่เกี่ยวข้องกัน ทาง BTSC อยากให้รัฐชำระหนี้สินที่ค้างอยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท และหากจะให้เป็นผู้เดินรถต่อไปก็ไม่มีปัญหา เพียงแค่ขอให้ชำระค่าจ้างเดินรถ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 ได้ยื่นฟ้องทวงหนี้ กทม.ในส่วนของค่าดำเนินการเดินรถ 12,000 ล้านบาท ขณะนี้เรากำลังเตรียมฟ้องทวงหนี้ในส่วนของค่าติดตั้งระบบเดินรถอีก 20,000 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด 

‘อันวาร์’ โชว์ภาพคู่ ’ทักษิณ’ ถกดับไฟใต้-แก้วิกฤตเมียนมา ตอกย้ำ ‘อิ๊งค์‘ นายกฯตัวปลอม!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารู้สึกยินดีที่ได้พบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยและเพื่อนรักอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อหารือกันอย่างน่าสนใจ ครอบคลุม และมีประโยชน์ รวมทั้งในฐานะที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของมาเลเซียในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน