สายสีเขียวป่วนรบ.! 7รมต.ภท.ไม่ร่วมถกครม.‘บิ๊กตู่’เต้นสั่งมท.เคลียร์คมนาคม

รถไฟฟ้าสายสีเขียวหัวทิ่มรอบที่ 7 รัฐมนตรีภูมิใจไทย 7 รายประท้วงแบบอารยะ ยื่นใบลาไม่เข้าประชุมวาระต่อสัมปทาน 30 ปี “บิ๊กตู่” เครียดบอกก่อนหน้านี้เห็นตรงกันเรื่องค่าโดยสาร 65 บาท แต่กลับมาเปลี่ยนใจ ลั่นวันนี้พิสูจน์แล้วว่าใครเป็นอย่างไร สั่งมหาดไทยเร่งเคลียร์ข้อทักท้วงคมนาคมก่อนเสนอ ครม.อีกรอบ “นิพนธ์” คาดเสนอใหม่ในอีก 2 สัปดาห์ “ก.ก.” ยกมือหนุนภูมิใจหนูคัดค้านต่ออายุ 30 ปี

เมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบเต็มคณะครั้งแรกในปี 2565  โดยวาระสำคัญคือ วาระลำดับที่ 3 ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี เป็นสิ้นสุดปี 2602 จากเดิมสิ้นสุดปี 2572 แลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย

ทั้งนี้ ปรากฏว่ารัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์, นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม ได้ยื่นใบลาประชุม ครม. ตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 ก.พ. โดยให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการดําเนินการของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตามความเห็นและเหตุผลของกระทรวงคมนาคมตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ กค (ปคร) 0208/24 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 จึงไม่สะดวกที่จะพิจารณาเรื่องนี้ ทำให้มีเพียง น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ที่เข้าร่วมเพียงคนเดียว

โดย น.ส.ไตรศุลีกล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องของผู้ใหญ่และ ครม. ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่อง

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า ในการประชุมเรื่องดังกล่าวที่ประชุมใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง โดยมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เริ่มจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รายงานต่อที่ประชุมว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ได้พิจารณาร่างสัญญาเป็นไปตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว และระบุว่า หาก กทม.ยืนยันยึดผลประโยชน์ของประชาชนก็ไม่เป็นไร ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้อธิบายว่า การพิจารณาวันนี้ไม่ใช่การต่อสัมปทาน แต่เป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ไขหนี้สินที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะไม่ว่าเป็น กทม.หรือรัฐบาลฝ่ายเดียวก็ไม่สามารถแก้ไขได้  เอกชนต้องมาช่วย ประชาชนจะได้ประโยชน์ เราจะได้แก้ปัญหาหนี้ 5 หมื่นล้านบาท และการให้เอกชนลดค่าโดยสารให้ต่ำกว่า 65 บาทตลอดสาย ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว หากอยากได้ราคาถูก กทม.ต้องลดส่วนแบ่งรายได้เพื่อนำไปชดเชย     

บิ๊กป๊อกเซ็งเสนอครั้งที่ 7 แล้ว     

พล.อ.อนุพงษ์ยังกล่าวกับที่ประชุมว่า  ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้วที่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. แต่เมื่อมีข้อสงสัย และกระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ. โดยมีคำถามที่ต้องการให้ตอบ 4 ข้อ ส่วนใหญ่ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว เหลือเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ต้องทำให้ชัดเจนก่อนนำมาเข้า ครม. ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุม ครม. เพราะทุกอย่างมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไร อาจจะผิดมาตรา 157 ถึงอย่างไรต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา

ในการประชุมรัฐมนตรีส่วนใหญ่เห็นด้วยที่เร่งพิจารณาเรื่องนี้ อย่างนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเข้า ครม.หลายรอบแล้ว หากต้องตอบคำถามเห็นแบบนี้เรื่อยๆ ก็ไม่จบเสียที เช่นเดียวกับนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ที่กล่าวว่า ควรตัดสินใจ เพราะประชาชนเลือกเรามาแล้วให้เราเป็นคนตัดสินใจ รัฐบาลควรแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขึ้นมาว่า รอบหน้าเคาะได้แล้ว แต่นายจุติบอกว่า อยากให้พิจารณาให้เสร็จภายในวันนี้เลย

ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เสนอแนะว่า ต้องตอบคำถามกับประชาชนให้เคลียร์ ต้องชี้แจงให้ได้ว่าถ้าผ่าน ผ่านเพราะอะไร หรือไม่ผ่านเพราะอะไร เช่นเดียวกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ที่ระบุว่า รัฐบาลควรตัดสินใจได้แล้ว แต่ก็มีรัฐมนตรีบางคนแสดงความไม่มั่นใจในข้อกฎหมาย และพยายามถามซ้ำหลายครั้งว่าการเจรจาและร่างสัญญาไม่ขัดต่อหลักกฎหมายใช่หรือไม่ อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ทั้งนี้มีช่วงหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ปรารภถึงราคาค่าโดยสาร 65 บาทว่า “ก่อนหน้านี้ก็เห็นด้วยกันมาแล้ว แล้วทำไมตอนนี้ถึงมาเปลี่ยนใจ” 

ขณะที่ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวกับที่ประชุมว่า “วันนี้ผมพิสูจน์แล้วว่าใครเป็นอย่างไร ขอบคุณทุกคนที่อยู่ในห้องนี้” นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า “ปัญหานี้คาราคาซังมานานแล้ว อยากให้มันจบ” พร้อมกับถาม พล.อ.อนุพงษ์ด้วยว่า สามารถนำเรื่องกลับมาพิจารณาใน ครม.สัปดาห์หน้าได้เลยหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ไม่น่าทัน เพราะต้องทำหนังสือถามไปหลายหน่วยงาน แม้ว่าทุกคำถามจะตอบไปแล้ว แต่มีข้อที่ต้องถาม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งไม่น่าจะทัน  

มีรายงานว่า ในช่วงพักเบรกการประชุม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพิจารณาวาระนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้คุยเล่นกับรัฐมนตรีที่เข้าประชุมว่า “วันนี้บรรยากาศดูเหงาๆ รัฐมนตรีหายไปเยอะ สงสัยรถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ทำให้คนที่อยู่บริเวณนั้นหัวเราะชอบใจ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกกับคนอื่นๆ ด้วยว่า “ผมเชื่อมั่นในฝ่ายกฎหมายของผม”

ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยนอกรอบกับ พล.อ.อนุพงษ์และนายวิษณุ รวมทั้งนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการ ครม. ด้วยสีหน้าค่อนข้างเคร่งเครียด ซึ่งคาดว่าเป็นรายละเอียดของโครงการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยนายกฯ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมแต่อย่างใด เพียงแต่หันมาโบกมือให้สื่อมวลชน ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันที หลังก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ได้เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปรอที่ห้องสีเขียว ซึ่งคาดว่าเป็นการหารือนอกรอบกับนายอาคมเรื่องนี้ด้วย

บิ๊กป้อมชี้ต้องรอบคอบผวา 157

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวหลังประชุม ครม.ถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลยังไม่มีการพิจารณา กำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ยังไม่ได้ตกลงใจว่าจะเอาอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ต้องพิจารณากันให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นก็อาจผิดมาตรา 157 ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวเช่นกันว่า เรื่องนี้ยังไม่ผ่าน ต้องเอาเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง ถือว่าผ่านการพิจารณาจาก ครม. แต่ยังไม่เสร็จ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเพิ่งตั้งข้อสังเกตถึงการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ลงวันที่ 7 ก.พ. โดยกระทรวงคมนาคมไม่ได้มานั่งในที่ประชุม และกระทรวงมหาดไทยเพิ่งมาเห็นวันนี้จึงต้องไปหาคำตอบเสร็จเมื่อไหร่ แล้วค่อยเอาเข้าที่ประชุมต่อให้เสร็จสิ้น จึงถือว่าการพิจารณายังไม่เสร็จสิ้นไม่ได้ถอนออกไป โดยคำตอบดังกล่าวจะมาเมื่อไหร่นั้น ถ้าได้มาเร็วก็เร็ว ได้มาอาทิตย์หน้าก็อาทิตย์หน้า ซึ่งนายกฯ วางกรอบให้ดำเนินการโดยเร็ว

เมื่อถามว่า คำถาม 4 ข้อดังกล่าวเป็นประเด็นใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นประเด็นใหม่หรือเก่า เพราะคำถามดังกล่าวระบุว่า หนึ่งยังไม่ชัดเจนเรื่องราคา สองเรื่องการใช้ระบบตั๋วร่วม  สามปัญหาเรื่องกฎหมายบางประการตรงนี้ไม่รู้ว่าอะไร และสี่สะพานสองแห่งที่มีการรื้อย้ายที่ถนนหทัยราษฎร์และถนนพุทธมณฑลสาย 2

 ถามอีกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุมใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นี่เป็นคำถามของกระทรวงคมนาคม และหากคมนาคมไม่เห็นชอบ ครม.ก็สามารถโหวตพิจารณาได้ เพราะหลายเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบกัน 

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมต้องการข้อมูลชี้แจงและทักท้วง 4 ข้อ ครม.จึงมีมติให้ไปชี้แจงเพิ่มเติมแล้วนำเรื่องกลับเข้ามา ครม.ใหม่ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการถอนวาระ เพียงแต่เป็นการไปนำข้อมูลมาเพิ่มเติม ส่วนกรณี 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ถือเป็นปัญหาหรือไม่นั้น "ไม่เป็นไร เพราะมติ ครม.ก็ยังเป็นมติ ครม.

เมื่อถามย้ำว่า จะนำเรื่องดังกล่าวกลับเข้าที่ประชุม ครม.เมื่อไหร่ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า เสร็จเมื่อไหร่ก็สามารถนำกลับเข้ามาพิจารณาได้เมื่อนั้น

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า มท.จะรีบกลับไปดูข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมทักท้วงมาทั้งหมด เพื่อสรุปมาเสนอ ครม.อีกครั้งโดยเร็วที่สุดภายใน 2 สัปดาห์นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายถึงประเด็นนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครนำผลการเจรจาเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา และจากการพิจารณาในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วยมีข้อสังเกตบางประการ ครม. จึงมอบหมายให้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอ ครม.ต่อไป

เปิดข้อทักท้วงคมนาคม

สำหรับเอกสารประกอบการพิจารณาของ ครม.ที่นายศักดิ์สยามได้ทักท้วงนั้นระบุว่า กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของ กทม.แล้ว ขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย

 “กระทรวงคมนาคมขอรายงานข้อเท็จจริงว่า กทม. รฟม. สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมเพื่อหารือสรุปรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2563 แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ กรณีการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งรอคำยืนยันจาก กทม. เนื่องจากการพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะได้ข้อสรุปมีความจำเป็นต้องทราบความชัดเจนของแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่ง เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการ”

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรค ภท. กล่าวว่า ส.ส.พรรคเห็นด้วยกับการที่รัฐมนตรีทั้ง 7 คนของพรรคไม่เข้าร่วมประชุม ครม. เนื่องจากไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการพิจารณาวาระรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่หากดำเนินการไปจะกลายเป็นภาระของประชาชน เนื่องจากค่าโดยสารที่มากเกินไปโดยการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย เพื่อส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม เห็นว่าสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดต่ำกว่า 65 บาทได้

 “ผมเองก็รับไม่ได้กับราคาค่าโดยสารมหาโหด ขูดเลือดขูดเนื้อ คนจนวันนี้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องแบกรับภาระค่าเดินทางที่มากเกินไป” นายสิริพงศ์กล่าว และว่า ขอฝาก พล.อ.ประยุทธ์และ ครม.ใช้สามัญสำนึกตรึกตรองให้ดีถึงความเดือดร้อนของประชาชนตาดำๆ ด้วย

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ภท. กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรีพรรคไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม.ว่า กระบวนการทั้งหลายเป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น และเป็นวิธีการแสดงจุดยืนของรัฐมนตรี รวมถึงจุดยืนของพรรค แต่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาแสดงความเห็นตำหนิและกล่าวร้ายรัฐมนตรีของพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ทั้งที่พรรคแสดงจุดยืนเรื่องนี้มาตลอด ที่ไม่เข้าร่วมประชุมก็เป็นการแสดงจุดยืนแบบสันติ เป็นอารยะ

“อยากถามกลับไปยังนายสมชัยว่า เป็นใคร มีสถานะใดทางสังคมในตอนนี้ ถ้าจะมาวิจารณ์พรรคการเมือง อย่าไปอิงแอบความเป็นนักวิชาการ ท่านหมดไปนานแล้ว ทำท่าอวดรู้ หิวแสง แบบนี้ขอให้เลิกการกระทำ อย่าทำตัวเป็นนักเลงคีย์บอร์ด และขอสื่ออย่าให้ความสำคัญคนไม่สำคัญแบบนี้” นายศุภชัยระบุ

 ส่วนนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า พรรคคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2562 และตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่คัดค้าน พร้อมทั้งเสนอให้แก้ไขสัญญาอย่างเป็นธรรม โปร่งใส แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันจะต่อสัญญาออกไป ซึ่งพรรคขอคัดค้าน และเห็นว่าทางออกเรื่องนี้คือผลักดันให้เกิดตั๋วร่วม โดยบริษัทบีทีเอสควรเข้าร่วมค่าโดยสารร่วมด้วยครอบคลุมไปถึงประชาชนที่สัญจรทั้งทางรถไฟฟ้าและรถเมล์ด้วย

“เรื่องนี้อาจมีทั้งเห็นตรงกัน ต่างกัน แต่เรื่องนี้พรรคก้าวไกลกับพรรคภูมิใจไทยเห็นตรงกัน ที่ไม่ควรขยายสัญญาสัมปทานจากสัญญาปัจจุบันออกไป” นายสุรเชษฐ์กล่าว.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์