“วิษณุ” ชี้หาก 2 กฎหมายลูกถูกคว่ำ มีแค่ 2 ทางเลือกคือยุบสภากับนายกฯ ลาออก “ประธานชวน” รับสภาอับปางซ้ำซากทำภาพพจน์เสียหาย เผยยุคนี้ใช้การนับองค์ประชุมถี่ต้องระวัง “นิโรธ-แรมโบ้” อัดเพื่อไทยยับ ซัดจริยธรรมผู้นำฝ่ายค้านตกต่ำจนน่ากลัว แพลมหาก 17-18 ก.พ.พรรคร่วมเอาคืนไม่เป็นองค์ประชุมบ้างจะเป็นอย่างไร "บิ๊กป้อม” ถึงกับยกมือไหว้ขอร้องลูกพรรคอย่าให้สภาล่ม “ชลน่าน” ยันเดินหน้านับองค์ประชุม บอกเพื่อสะท้อนรัฐบาลไม่ใช่เสียงข้างมากจริงและทำให้บริหารประเทศไม่ได้ ปูด รบ.แหยงจนอาจไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.งบปี 2566 เข้าสภา
เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ล่มบ่อยครั้ง จะส่งผลกระทบกับการพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญของรัฐบาลหรือไม่ว่า ช่วงนี้ไม่มีกฎหมายที่น่าเป็นห่วง โดยร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลจะเกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.สภาจะล่มไม่ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ฉบับไหนก็ไม่ควรล่มทั้งนั้น แต่ถ้าองค์ประชุมล่มก็นัดประชุมใหม่ เพราะกว่าจะถึงวันปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 ก.พ.นี้ยังมีเวลา แต่ต้องนัดประชุมร่วมรัฐสภา
เมื่อถามอีกว่า หากมีการคว่ำร่างกฎหมายลูกจะเป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญ และมีผลกระทบ ถามย้ำว่าต้องยุบสภาหรือนายกฯ ต้องลาออกใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง
นายวิษณุยังกล่าวด้วยว่า ได้นัดหมายนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือเรื่องร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ว่าหลังจาก กกต.ไปรับความเห็นมาแล้วต้องปรับแก้อะไรหรือไม่ ทั้งนี้หลังจากเอาร่างจาก กกต.มาส่ง ก็จะส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปรัฐบาลจะแจ้งผลของวิปมาให้ทราบ จากนั้นจะนำร่างเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ แล้วจะส่งไปยังรัฐสภาในวันเดียวกัน ส่วนสภาจะบรรจุวาระเมื่อใดนั้นแล้วแต่ประธานรัฐสภา
ด้านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวถึงเหตุการณ์สภาล่มว่า พฤติกรรมของพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยเฉพาะหัวหน้าและรองหัวหน้าทำให้ประชาชนได้เห็นแล้วว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ได้ต้องการทำหน้าที่ผ่านกฎหมายสำคัญให้ประชาชน มุ่งหวังเล่นการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายสำคัญต่างๆ จะล่าช้าออกไปอย่างไร สนใจเพียงเรื่องการเลือกตั้งใหม่เพื่อต้องการกลับมาเป็นรัฐบาล และต้องการพานายใหญ่นายหญิงกลับประเทศ
"การเป็น ส.ส.แล้วไม่ทำหน้าที่ในสภาจะมาเป็น ส.ส.หาพระแสงอะไร ก็ลาออกไปซะ เพราะเงินเดือน ส.ส.ไม่ได้น้อยๆ ฝากพี่น้องประชาชนควรจดรายชื่อพวก ส.ส.ที่กินเงินเดือนแล้วไม่ทำงานติดฝาบ้านเอาไว้เลย แล้วต่อไปก็ไม่ต้องเลือกเข้าสภาอีก เหตุผลอ้างเพื่อบีบนายกฯ ยุบสภาฟังไม่ขึ้น ทั้งที่เป็นวาระสำคัญ แม้แต่พรรคก้าวไกลยังเห็นชอบ แต่ นพ.ชลน่านอยู่ในสภายังไม่แสดงตน ต้องการให้สภาล่ม ไม่เห็นหัวอกประชาชนเลยสักนิด คิดได้เช่นนี้จะมาเป็นรัฐบาลไม่ได้เลย อยากมีอำนาจรัฐจนกิเลสครอบงำหนัก คงเป็นได้เพียงฝ่ายค้านตลอดชีพจะเหมาะสมที่สุด" นายเสกสกลกล่าว
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับในรายการมุมการเมืองทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ถึงปัญหาสภาล่มซ้ำซากว่าทำให้ภาพพจน์ของสภาเสียหาย โดยเฉพาะเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.พ.ที่สภาล่ม ซึ่งฝ่ายค้านเองก็ยอมรับว่าไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมเพราะต้องการขับไล่นายกฯ และตอนนี้ก็เป็นข้อถกเถียงว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบองค์ประชุม ซึ่งตามหลักแล้วคือต้องร่วมรับผิดชอบทั้งสองฝ่าย แต่ระบบรัฐสภาคนที่จะเป็นรัฐบาลได้ต้องมีเสียงข้างมาก ดังนั้นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากก็ต้องดูแลองค์ประชุมของตัวเองด้วย
"ที่ผ่านมามีการลงมติเหมือนแก้แค้นกัน เช่นเรื่องคลองไทยไม่ผ่าน เจ้าของเรื่องคลองไทยก็โกรธ ดังนั้นเรื่องต่อมาก็เลยไม่รับ ก็ต้องลงมติตรวจสอบองค์ประชุม ซึ่งข้อเท็จจริงดูในช่วงนั้นองค์ประชุมครบ แต่สมาชิกไม่กดบัตรแสดงตน ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันใช้บ่อยซึ่งต่างจากสมัยก่อน เป็นเรื่องที่ต้องระวัง" นายชวนกล่าว
เมื่อถามถึงการทำหน้าที่ประธาน ที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงความลำเอียงในการทำหน้าที่ นายชวนยืนยันว่าไม่ลำเอียง เพราะทำเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในสายตา แต่ยอมรับว่าอาจทำให้ใครไม่ถูกใจ เนื่องจากต้องยึดความเป็นกลางและยึดความถูกต้อง สมาชิกเกือบทุกคนยอมรับว่าทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางมากที่สุด ให้โอกาสทุกคนมากที่สุด ส่วนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย พูดกลางสภาไปตามอารมณ์ ว่าลำเอียง แต่ต่อมาก็มาขอโทษแล้ว
ซัดจริยธรรมตกต่ำ
ขณะที่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะการเสนอกฎหมายภาษีสรรพสามิต ฉบับที่… พ.ศ. …ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่าเป็นพรรค พท.ที่เตะถ่วง เพราะไม่เข้าร่วมประชุม ทั้งที่รู้ว่าจะปิดสมัยประชุมปลายเดือน ก.พ.นี้ ทำให้กฎหมายต้องเลื่อนออกไป เศรษฐกิจตกต่ำไม่น่ากลัว แต่จริยธรรรมผู้นำฝ่ายค้านถ้าตกต่ำน่ากลัวกว่ามาก จะนำพาประเทศและรัฐสภาไทยเสียหาย เป็นความคิดที่ติดหล่ม ทั้งนี้การประชุมเป็นของสภา ไม่ใช่ของพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน จึงต้องช่วยกันเป็นองค์ประชุม และที่ผ่านการประชุมล่มไม่ใช่มาจากการพิจารณากฎหมายของรัฐบาล เพราะเราผ่านกฎหมายไปมากกว่าที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเสนอตัดสิทธิประโยชน์ ส.ส.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาและไม่แสดงตน นายนิโรธกล่าวว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ต้องรอประธานพิจารณา
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านขู่นับองค์ประชุมทุกสัปดาห์ นายนิโรธกล่าวว่าเชิญเลย แต่มีคนเสนอเหมือนกันว่าวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ ขอให้ฝ่ายค้านทำองค์ประชุมเอง รัฐบาลไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมให้ ถ้ารัฐบาลทำอย่างนั้นฝ่ายค้านจะคิดอย่างไร แต่คิดว่าความคิดแบบนี้ทำไมได้ เพราะจริยธรรมเราไม่ได้ตกต่ำขนาดนั้น
นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การทำงานของ ส.ส.ในความรับผิดชอบเรื่ององค์ประชุม ถ้าเป็นกฎหมายสำคัญโดยเฉพาะกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ หน้าที่ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต้องมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงอยู่แล้ว แต่พอเป็นวาระที่ไม่ได้เสนอโดยรัฐบาล เช่นที่ล่มบ่อยนั้นก็เป็นปกติที่อาจมีการใช้เกม แต่มองว่าการประท้วงน่าจะใช้เป็นกรณีๆ ไป ไม่ใช่ใช้ทุกกรณีเพราะจะทำให้สภาทำงานลำบาก
มีรายงานข่าวจากพรรค พปชร.แจ้งว่า ในที่ประชุมพรรค พปชร.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นประธาน ที่มีแกนนำพรรคและ ส.ส.เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง พล.อ.ประวิตรได้กำชับเรื่องปัญหาองค์ประชุมสภาที่ล่มติดกันๆ หลายครั้งว่า สภาต้องไม่ล่ม เมื่อถึงตรงนี้ พล.อ.ประวิตรได้ยกมือไหว้สมาชิกพร้อมกับบอกว่า “ผมขอร้องนะ ขอล่ะนะ ขอให้เข้าประชุม ให้แสดงตน อย่าให้ล่ม” ทำให้ ส.ส.ที่เห็นต่างตกใจกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ทุกคนจึงรีบยกมือไหว้กลับทันที จากนั้น พล.อ.ประวิตรได้ถามสมาชิกว่า ใครคิดว่าทำไม่ได้ให้ยกมือ ปรากฏว่าทั้งห้องนิ่งเงียบไม่มีใครยกมือ แต่พอถามว่าใครคิดว่าทำได้ ทุกคนต่างยกมือพรึบตอบรับทันที พล.อ.ประวิตรจึงกล่าวว่า “ถ้ายกมือต้องทำให้ได้นะ ช่วยกัน อย่าให้สภาล่มอีก” ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตรยังรับปากกับสมาชิกว่า “เรื่องพรรคเศรษฐกิจไทยไม่ต้องห่วง เป็นหน้าที่ผม ผมรับผิดชอบเอง จะเอากลับมาร่วมประชุมสภาทุกครั้ง”
ส่วน นพ.ชลน่านกล่าวถึงดรามาระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกลในเรื่ององค์ประชุมว่า ขออนุญาตขำ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากเป็นวิธีการทำงาน เราเคารพซึ่งกันและกันอยู่แล้ว โดยหลักเราต้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ย้ำว่าฝ่ายค้านจะตรวจสอบเข้มข้นด้วยวิธีการตรวจสอบองค์ประชุม เพื่อชี้ให้เห็นสัญญาณว่าเสียงข้างมากในสภาไม่ได้เป็นเสียงข้างมากจริง และหากเป็นเช่นนี้จะขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย การตรวจสอบ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็เป็นหน้าที่ฝ่ายค้านโดยตรง เราให้สิทธิแต่ละพรรคการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจว่าเรื่องไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ และไม่ก้าวล่วงมติพรรคซึ่งกันและกัน หลังจากนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยเน้นหลักทั่วไปว่าเราเห็นพ้องต้องกัน แต่หลักการเฉพาะเช่นตัวเนื้อหาและตัวกฎหมาย เราต้องเคารพสิทธิ ฉะนั้นปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้นด้วย
ปูดไม่เสนอร่างงบปี 66
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลมองว่าวิธีการนี้ไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า วิธีการจะกดดันให้ยุบสภาได้หรือไม่ได้ไม่ใช่การตัดสิน แต่เป็นกระบวนการ เราต้องการให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไปต่อไม่ได้แล้ว เราไม่ได้หวังว่าการตรวจสอบองค์ประชุมจะทำให้เกิดการยุบสภา แต่กลไกที่เราดำเนินการในสภานี้ รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ หากนำกฎหมายสำคัญเข้าสภาแล้วไม่ผ่าน เช่น พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 นี่คือเหตุผลที่เราทำเช่นนี้ เพราะส่งผลดีกับประชาชน ในแง่ที่ว่าหากคุณไม่มีความสามารถ ไม่มีความชอบธรรม ก็ควรพิจารณาตนเอง ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาไปนานแล้ว
นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ยืนยันจะตรวจสอบองค์ประชุมทุกขณะเพื่อให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้มาทำงาน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สมควรและจำเป็นฝ่ายค้านก็จะเป็นองค์ประชุมให้ ยืนยันว่าฝ่ายค้านมีเอกภาพทางนโยบาย แต่มีความหลากหลายในวิธีปฏิบัติ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดดรามาและสับสนได้ โดยกล่าวหาว่าฝ่ายค้านไม่ทำงานหรือทำงานไม่คุ้มกับเงินเดือน แต่ข้อเท็จจริงคือ ฝ่ายค้านกำลังทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล และตรวจองค์ประชุมเข้มข้นแบบนี้ทุกสัปดาห์ ถ้าสภาล่มในทุกสัปดาห์ ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกระแสข่าวว่าจะไม่นำกฎหมายสำคัญอย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เข้าสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก
"ฝ่ายค้านจะตรวจสอบองค์ประชุม โดยการเสนอเป็นญัตติด้วยการตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการเสียบบัตร แต่ถ้าพบว่ามีการเสียบบัตรแทนกันก็จะขอให้ขานชื่อสมาชิกเป็นองค์ประชุม" นพ.ชลน่านกล่าว
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ฝ่ายค้านทุกพรรคร่วมมือกันทำงานด้วยดีแน่นอน ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นรูปธรรมแล้ว เรารับนโยบายของแกนนำพรรคในการตรวจสอบองค์ประชุม ส่วนเรื่องการโหวตจะเป็นไปตามมติของแต่ละพรรค
สำหรับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในวันที่ 17-18 ก.พ.นั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้เวลา 22 ชั่วโมง จะเริ่มต้นด้วยหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคเรียงลำดับไป และเนื้อหาอภิปรายจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.เศรษฐกิจปากท้อง 2.ปัญหาโรคระบาดต่างๆ 3.ปัญหาการเมืองการทุจริตคอร์รัปชัน และ 4.เรื่องอื่นๆ และในช่วงค่ำของวันที่ 18 ก.พ. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านจะอภิปรายสรุปในตอนท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน