ไทยติดเชื้อเกินหมื่นวันที่2

ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อใหม่    10,879 ราย เสียชีวิตอีก 20 ราย “สธ.” ชี้เป็นเรื่องปกติเหมือนกันทั่วโลก ย้ำไม่ต้องล็อกดาวน์ เพราะต้องอยู่กับโรคให้ได้ ห่วงกลุ่ม 608 แนะเร่งฉีดเข็มบูสเตอร์ “บิ๊กตู่” กำชับให้ดูแลเด็กๆ หลังตัวเลขติดเชื้อพุ่ง

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,879 ราย ซึ่งถือเป็นวันที่ 2 ต่อเนื่องกันที่มีการติดเชื้อเกินหมื่นราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,497,001 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,285 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,383,673 ราย อยู่ระหว่างรักษา 91,037 ราย อาการหนัก 533 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 104 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,291 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 5 ก.พ. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 250,182 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 ทั้งสิ้น 116, 878,247 โดส  

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด วันที่ 4 ก.พ. ได้แก่ กทม. 1,470 ราย, สมุทรปราการ 1,282 ราย, ชลบุรี​ 556 ราย, นนทบุรี 439 ราย, ภูเก็ต 415 ราย,  สมุทรสาคร​ 285 ราย,​ ขอนแก่น​ 256 ราย, ​ราชบุรี 213 ราย, นครศรีธรรมราช 213 ราย​ และปทุมธานี 209 ราย 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงแตะหลักหมื่นเป็นวันที่ 2 ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเหมือนกันทั่วโลกไม่ต่ำกว่าหมื่นคนต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งนโยบายและทิศทางการควบคุมป้องกันโรคเหมือนกันหมด คือทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกับโควิดไปใช้ชีวิตปกติ โดยทุกประเทศมีการเปิดประเทศ ไม่มีใครกำหนดนโยบาย Covid Zero หรือโควิดเป็นศูนย์อีกต่อไป ซึ่งไทยเองก็เช่นกัน และสิ่งที่ต้องจับตาขณะนี้ไม่ใช่ตัวคนติดเชื้อ แต่เป็นตัวเลขผู้ป่วยหนัก คนใส่ท่อช่วยหายใจและคนเสียชีวิต ซึ่งเป็นจุดที่ต้องแก้ไข

“ต้องทำอย่างไรให้กลุ่มคนที่เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง นี่ถือทิศทางสำคัญของการรับมือกับโควิด แม้ว่าโอมิครอนจะไม่รุนแรงเท่ากับเดลตา แต่ติดง่ายในครอบครัว มากกว่า 50% หากมีคนป่วย 1 คน แทบจะครึ่งหนึ่งของคนในครอบครัวจะติดเชื้อ และหากมีผู้สูงอายุก็เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิต ดังนั้นขอให้ผู้สูงอายุหรือคนกลุ่มเสี่ยงในกลุ่ม 608 ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนบูสเตอร์โดสแล้ว อย่านิ่งนอนใจ ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต”

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนการรับวัคซีนในกลุ่มเด็ก 5-11 ปีที่ผ่านมา 1 สัปดาห์   ฉีดไป 20,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งกรมควบคุมโรคไม่ได้เร่งรัด  ขอเพียงผู้ปกครองและเด็กทำความเข้าใจตรงกัน เพราะการรับวัคซีนเป็นเรื่องของความสมัครใจ และในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่ 7  ก.พ. จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนในเด็กทั่วไป  เชื่อว่าขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังเตรียมความพร้อมดำเนินการ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยกรณีพบว่ากลุ่มเด็กติดโควิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบเด็กช่วงอายุระหว่าง 5-11 ปีติดเชื้อโควิดในช่วงเดือน เม.ย.-31 ธ.ค.2564 แล้วจำนวน 123,403 คน ขณะที่ช่วงเดือน ม.ค.-2 ก.พ.2565 ติดเชื้อสะสม 13,600 คน ส่วนกลุ่มอายุ 12-17 ปี ช่วงปี 2564 ติดเชื้อสะสม 111,952 คน และช่วง ม.ค.-2 ก.พ.2565 ติดเชื้อสะสม 10,226 คน จึงกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการและดูแลให้กลุ่มเด็กดังกล่าวได้รับวัคซีนครอบคลุมครบตามเกณฑ์ที่กำหนดให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและบรรเทาอาการรุนแรงของโรค

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ นั้น นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 1,282 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 23,083 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 จำนวน 17 ราย

ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดว่า พบผู้ป่วยใหม่ 343 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 39,706 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ศพ ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 300 ราย ส่วน จ.อำนาจเจริญสถานการณ์โควิด-19 ยังทรงๆ โดยพบผู้ป่วยใหม่ 12 ราย ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ พบติดโควิดรายใหม่ 120 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี