อีแอบ!ทำ 'สภาอับปาง'

สัปปายะสภาสถานคลื่นลมแรง สภาล่มครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ เล่นการเมืองขึ้นสมอง ฝ่ายค้าน-รัฐบาลซัดกันนัวเนีย เปิดจำนวน ส.ส.แสดงตนในห้องประชุม แฉยับ! เพื่อไทยอยู่แค่ 2 คน ก้าวไกล 8 "อีแอบ" เพียบหลบหลังเก้าอี้ ส่วนพลังประชารัฐเละเทะ เซ็นชื่อเข้าประชุมเกือบร้อยแต่แสดงตัวแค่ครึ่ง ก๊วนธรรมนัส วางยา โผล่มาคนเดียว "บิ๊กตู่" ฮึ่ม! ถ้าล่มอยู่แบบนี้ก็ไปไม่ได้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธาน ระหว่างพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาค้างมาจากการประชุมสภาสมัยประชุมครั้งที่ 1 หลังจากสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางเสร็จสิ้นแล้ว เวลา 14.05 น. นายชวนประชุมได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติรับทราบรายงานดังกล่าว

แต่เนื่องจากมีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมบางตาอาจไม่ครบองค์ประชุมได้  นายชวนจึงพยายามรอ ใช้เวลานานกว่า 20 นาที แต่ดูเหมือนสมาชิกในห้องจะยังไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ประธานพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที เพื่อรอสมาชิก ด้านนายชวนอนุญาตให้พักเพียง 15 นาที แต่สุดท้ายไม่ได้พักการประชุม เนื่องจากนายชวน กังวลว่าสมาชิกจะลดลงจากเดิมไปอีก

จากนั้น นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายค้านขอให้นับองค์ประชุมแบบเสียบบัตรแสดงตน ซึ่งนายชวนได้วินิจฉัยให้แสดงตนตามที่นายวิรัชเสนอ แต่นายจุลพันธ์ลุกขึ้นประท้วงคัดค้านระบุว่า วันนี้พวกเรากำหนดจะประชุมถึงเวลาประมาณ 17.00 น. หากนับองค์ประชุมแบบตามที่นายวิรัชเสนอ จะทำให้เสียเวลา กว่าจะเสร็จก็เวลา 17.30 น. ไม่ต้องประชุมต่ออยู่ดี ดังนั้นถ้าเดิมเกมการเมืองเช่นนี้ฝ่ายค้านไม่ยุ่งด้วย และขออยู่นอกห้องประชุม

ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ระบุว่า นายชวนวันนี้ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ทำให้นายชวนสวนกลับว่าพูดอะไรจะต้องย้อนดูตัวเองด้วย และยืนยันว่าตนไม่ได้ลำเอียงในการทำหน้าที่ แต่นายพิเชษฐ์ตอบกลับว่า “ไม่เป็นไรครับท่านประธาน ท่านก็ต้องดูตัวเองด้วย ท่านอย่ามาว่าผม อย่าเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” แต่นายชวนระบุว่า ต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิ ทำให้นายพิเชษฐ์ระบุว่า สถานการณ์แบบนี้ท่านอยู่ได้อย่างไร ห้องประชุมเป็นแบบนี้อยู่ได้อย่างไร แต่ในที่สุดนายพิเชษฐ์ก็กล่าวขอโทษ

ต่อมา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ญัตติที่นายวิรัชเสนอน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีส.ส.รับรอง ดังนั้นการเสนอจึงไม่ชอบ ทำให้นายชวนกล่าวตอบว่า เมื่อนายศุภชัย ยืนยันว่าญัตติการเสนอนับไม่ถูกต้อง คำสั่งที่ตนได้สั่งไปก่อนหน้านี้ให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากนั้นนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย จึงได้ลุกขึ้นกล่าวว่า “ญัตติที่ผมได้เสนอให้ขอนับองค์ประชุมแบบเสียบบัตรยังอยู่ และถูกต้องทุกประการ เพราะมีสมาชิกรับรองกว่า  20 คน”

กระทั่งเวลา 14.45 น. นายชวนได้กดออดเชิญให้สมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อเสียบบัตรแสดงตน และประกาศผลองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกเพียง 195 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.50 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาในการยื้อเพื่อนับองค์ประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง และสภาล่มครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2  ของเดือน ก.พ. และเป็นครั้งที่ 16 ในรัฐบาลชุดนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงเหตุสภาล่มบ่อยจะกระทบต่อการทำงานหรือไม่ โดยเฉพาะกฎหมายลูกที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา ว่าเรื่องนี้มันมีอยู่แล้วในโซเชียล ก็มีสามารถไปเปิดดูได้ว่ามีสมาชิกเข้าไปประชุมกี่คน ก็จะเห็นได้ว่ามีพรรคไหนเข้ามาบ้าง บางคนมาไม่ได้เพราะติดกักตัว แต่บางพรรคมาแล้วไม่ลงชื่อ แบบนี้มันเป็นวิธีทางการเมืองหรือเปล่าตนไม่รู้ แต่ตนไม่สามารถไปสั่งใครได้ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา ทุกคนก็ต้องร่วมมือและเข้าไปร่วมกันพิจารณา ถ้าล่มอยู่แบบนี้ก็ไปไม่ได้ จะบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของนายกฯคนเดียวคงไม่ใช่ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อะไรก็ตามหากร่วมมือกันทุกอย่างก็ไปได้หมด

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า ช่วงเช้า 4 ก.พ. พรรคพลังประชารัฐมาโหวต 84 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย ปกติมาโหวตจำนวนสูงมาก แต่ครั้งนี้ถูกกักตัวจาก 59 คน จึงมาโหวต 35 คน รวมทั้งหมดรัฐบาลมาโหวตช่วงเช้า 204 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทยมาโหวตเพียง 6 คน ขณะที่พรรคก้าวไกลโหวต 31 คน รวมฝ่ายค้านทั้งหมด โหวตเพียง 40 คน นอกจากนี้ยังพบว่า การโหวตเดือน ธ.ค. ซึ่งมีจำนวนการโหวต 70 ครั้ง สิ่งที่สรุปได้คือมี ส.ส.จำนวน 7 คนที่ไม่เคยมาโหวตเลยทั้งเดือน และยังมีส.ส.จำนวน 50 คนมาโหวต 100% และทุกการโหวตของ ส.ส.ทุกคนจะมีการบันทึกไว้หมดในระบบโปรแกรมต่างๆ 

"ส.ส.ทุกคนได้รับเงินเดือนภาษีของประชาชน การปฏิบัติหน้าที่และมาประชุมสภาเพื่อที่จะโหวตเป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ส. ถ้า ส.ส.คนใดบอกว่าไม่ต้องมาโหวต มาทำงานก็ได้ ผมคิดว่าตอบคำถามไม่ได้ เพราะท่านก็มีเงินเดือนและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี อยากให้สังคมติดตามด้วยว่าหลักคิดที่ว่าไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องมาโหวตทำได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของสภาอยู่แล้ว"

 "ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับนักเรียน เพราะต่อไปนักเรียนมาเซ็นชื่อตอนเช้าแล้วกลับบ้านไม่ต้องเรียนได้หรือไม่  ส.ส.ก็เหมือนกันมาเซ็นชื่อร่วมประชุมตอนเช้าแล้วอยู่หน้าห้องไม่มาโหวตมาทำงานเลย ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ผมพูดในนามเป็น ส.ส. ไม่ได้พูดในนามพรรคไหนทั้งนั้น แต่ถ้าท่านเห็นว่าท่านทำถูกก็ทำไป ผมมีหน้าที่เอาข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่า ส.ส.ท่านใดทำงานแบบใด" นายไพบูลย์กล่าว 

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังองค์ประชุมสภาล่มว่า ก่อนสภาล่มได้มีการเสนอนับองค์ประชุมแบบขานชื่อของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล เห็นได้ชัดว่าการนับคะแนนแบบขานชื่อส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรายจ่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสำคัญ จะเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามดึงและถ่วงเวลา และทำให้วันนี้ ที่รัฐบาลทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติล่มเป็นครั้งที่ 16 ขอให้ประชาชนจับตาว่า วันนี้ ส.ส.รัฐบาลเรียกว่ามุ้งแตก พูดกันเองยังไม่รู้เรื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า จากการตรวจสอบการแสดงตนเป็นองค์ประชุมสภาในวันที่ 4 ก.พ. ที่มี ส.ส.แสดงตนจำนวน 195 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมจำนวน 237 คน พบว่าพรรคเพื่อไทยแสดงตน 2 คนคือ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ไม่แสดงตน 129 คน ส่วนพรรคก้าวไกล แสดงตน 43 คน ไม่แสดงตน 8 คน, พรรคเสรีรวมไทย แสดงตน 1 คน ได้แก่ น.ส.ธนภร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 9 คน, พรรคประชาชาติ แสดงตน 1 คน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 6 คน, พรรคเพื่อชาติ ไม่แสดงตนทั้ง 6 คน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ แสดงตน 54 คน ไม่แสดงตน 43 คน ส่วน ส.ส.ที่ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 19 คน แสดงตนเพียง 1 คน คือนายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น ที่เหลืออีก 18 คนไม่แสดงตน ด้านพรรคภูมิใจไทย แสดงตน 33 คน ไม่แสดงตน 25 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้กักตัวโควิด 7 คน สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แสดงตน 35 คน ไม่แสดงตน 15 คน

พรรคชาติพัฒนา แสดงตนครบทั้ง 4 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา แสดงตน 6 คน ไม่แสดงตน 6 คน ด้านพรรคเศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 4 คน ไม่แสดงตน 2 คน,  พรรคพลังท้องถิ่นไท แสดงตน 4 คน มีเพียง น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เท่านั้นที่ไม่แสดงตน ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 3 คน ไม่แสดงตน 2 คนคือ นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่แสดงตนทั้ง 2 คน สำหรับพรรคเล็กที่มี ส.ส.เพียงคนเดียวที่ไม่แสดงตน ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติไทย อย่างไรก็ตาม พรรคเล็กที่มี ส.ส.หนึ่งคน และแสดงตนคือพรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม และพรรคพลเมืองไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่อยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุม รวมถึงนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ก็ไม่แสดงตนทั้งที่นั่งอยู่ข้างนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ที่แสดงเป็นองค์ประชุม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง