เตรียมพร้อมรับเลือกตั้งทุกสถานการณ์ รักษาการเลขาธิการ กกต. ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง ผอ.เลือกตั้งทั่วประเทศและ กทม. สั่งคำนวณเก้าอี้ ส.ส.แบบแบ่งเขตแต่ละจังหวัดล่วงหน้า "บิ๊กตู่" มึนหลายตลบ ญัตติอภิปรายทั่วไปเขียนกำกวม ทีมงานตึกไทยคู่ฟ้าเตรียมพร้อมรับมือหลังเคาะแล้ว ฝ่ายค้านได้เวลาถล่มรัฐบาล 22 ชม. ปชป.ก่อหวอด ล่าชื่อหวด "อภิชัย" ร่วมวงธรรมนัสตั้งพรรคใหม่
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.65 มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 1 ก.พ.65 ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร
หนังสือดังกล่าวคือหนังสือแจ้งประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร และการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. หลังสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย ส่งประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค.65 มาให้ และสำนักงานได้คำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 กำหนด เพื่อให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่จำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดจะพึงมีเกิน 1 คน เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับจะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 มาตรา 86 โดยจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศที่สำนักทะเบียนกลางประกาศรวม 66,171,439 คน และกฎหมายกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน กกต.คำนวณจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน
โดยพบว่าจังหวัดที่มี ส.ส.มากสุดยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร 33 คน ตามมาด้วยนครราชสีมา มี ส.ส. 16 คน
ส่วนที่มี ส.ส. 11 คน มี 3 จังหวัด คือขอนแก่น เชียงใหม่ และอุบลราชธานี, ที่มีส.ส. 10 คน มี 2 จังหวัดคือ ชลบุรีและบุรีรัมย์, ที่มี ส.ส.9 คนมี 4 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลาและอุดรธานี, ที่มี ส.ส. 8 คน มี 5จังหวัดคือ เชียงราย นนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ และสุรินทร์, ที่มี ส.ส. 7 คน มี 4 จังหวัดคือ ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร และสุราษฎร์ธานี, ที่มี ส.ส. 6 คน มี 5 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และมหาสารคาม, ที่มี ส.ส. 5 คน มี 7 จังหวัดคือ กาญจนบุรี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ระยอง ราชบุรี และสุพรรณบุรี, ที่มี ส.ส. 4 คน มี 12 จังหวัดคือ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง ตาก นครพนม ปัตตานี ลพบุรี ลำปาง เลย สมุทรสาคร สระบุรี และสุโขทัย
ส่วนจังหวัดที่มี ส.ส. 3 คนมี 19 จังหวัด คือ กระบี่ จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ ประจวบฯ ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนองบัวลำภู และอุตรดิตถ์, ที่มี ส.ส. 2 คน มี 10 จังหวัด คือ ชัยนาท นครนายก พังงา มุกดาหารแม่ฮ่องสอน ลำพูน สตูล อ่างทอง อำนาจเจริญ และอุทัยธานี และที่มี ส.ส. 1 คน มี 4 จังหวัดคือ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี
ทั้งนี้ หากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาคโดยตามประกาศ กกต.เรื่องบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด 2560 ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและ 26 จังหวัด จะมี ส.ส. 139 คน, ภาคใต้ 14 จังหวัด จะมี ส.ส. 58 คน, ภาคเหนือ 16 จังหวัด จะมี ส.ส. 71 คน และภาคอีสาน 20 จังหวัด จะมี ส.ส. 132 คน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2560 มาตรา 86 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคํานวณจํานวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะอยู่ครบวาระ 4 ปีนับแต่เลือกตั้ง 24มี.ค.62 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศก่อนหน้านี้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลัง 24 มี.ค.66 ก็จะต้องใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร ปี 2565 ที่โดยปกติแล้วสำนักทะเบียกลาง กระทรวงมหาดไทย จะประกาศในช่วงต้นเดือน ม.ค.ของปีถัดมา เป็นฐานในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี แต่การที่ กกต.ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎรปี 2564 เป็นฐานในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และสั่งให้จังหวัดเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งคู่ขนานไปกับการที่รัฐสภาจะพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแล้วเสร็จและประกาศให้มีผลใช้บังคับ ก็สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันที กรณีดังกล่าวจึงอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 65 นี้ก็ได้
วิป 3 ฝ่ายเคาะซักฟอก 2 วัน
ด้านความคืบหน้าการประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป รัฐบาลโดยไม่ลงมติ หลังรัฐบาลเคาะกรอบวันประชุมสภาออกมาว่า จะให้มีการประชุมวันที่ 17-18 ก.พ.นี้
โดยวันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา ในช่วงบ่าย มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร (วิป 3 ฝ่าย) เพื่อหาข้อสรุปเรื่องวันและเวลาในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง
ต่อมาหลังประชุมเสร็จสิ้นลง ตัวแทนวิป 3 ฝ่าย นำโดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุป มีการเปิดอภิปรายในวันที่ 17-18 ก.พ. วันแรกประชุมตั้งแต่เวลา 09.30- 00.30 น. วันที่ 2 ตั้งแต่เวลา 09.00- 00.00 น. ฝ่ายค้านได้เวลาในการอภิปราย 22 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลได้เวลา 8 ชั่วโมงบวกกับเวลาอีกนิดหน่อย เพื่อให้ได้มีการชี้แจงได้ชัดเจน โดยฝ่ายค้านจะใช้เวลาให้คุ้มค่าเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ เป็นธรรมที่สุด
นายสุทินกล่าวถึงการเตรียมพร้อมของ ส.ส.ฝ่ายค้านในการอภิปรายด้วยว่า ยังไม่ได้แบ่ง เพราะรอดูเวลาที่จะได้ในการอภิปรายก่อน ถึงค่อยมาแบ่งเวลากันว่าพรรคฝ่ายค้านแต่ละพรรคจะใช้ ส.ส.กี่คนอภิปราย
ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลให้เวลาฝ่ายค้านเต็มที่ การอภิปรายตามมาตรา 152 ถือเป็นประโยชน์กับรัฐบาลที่จะอภิปรายถึงจุดบกพร่องจากฝ่ายค้าน ในเวลา 8 ชั่วโมง รัฐบาลจะสามารถตอบคำถามจากสิ่งที่ฝ่ายค้านชี้แนะว่ากล่าวได้ เพื่อแก้ไขสิ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หวังว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่เกิดการประท้วงวุ่นวาย
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ฝ่ายค้านมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการต่อรัฐบาล ดังนั้น ส.ส.พรรครัฐบาลจะไม่ตอบชี้แจงในการอภิปราย แต่จะให้ทางฝ่ายรัฐมนตรีตอบชี้แจงให้ชัดเจน
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เนื้อหาในการอภิปรายพรรคร่วมฝ่ายค้านได้กำหนดประเด็นไว้ชัดเจนตามญัตติที่ได้เสนอไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจปากท้อง, วิกฤตโรคระบาด, วิกฤตการเมือง และวิกฤตปัญหาเฉพาะ เช่น เหมืองทองอัครา ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เชื่อมั่นว่าฝ่ายค้านแต่ละพรรคจะตบท้ายด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ควรพิจารณาลาออก หรือคืนอำนาจให้ประชาชนได้แล้ว ถ้าอยู่ต่อไปจะเลวร้ายไปกว่านี้ ประเทศชาติจะเสียหายมากกว่านี้
ขู่ฟ่อปมเหมืองทองล้ม รบ.
วันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมรับหนังสือจาก น.ส.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตรวจสอบรัฐบาล กับกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เนื่องจากมีกระแสข่าวแพร่สะพัด ตัวแทนรัฐบาลไทยได้เจรจากับบริษัท คิงส์เกตฯ มีข้อกังวลอาจจะนำผลประโยชน์ของชาติไปแลกเปลี่ยน ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเหตุให้คณะอนุญาโตตุลาการเลื่อนอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาด จากเดิม 31 ม.ค. เป็นเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
น.ส.จุฑามาสกล่าวถึงปัญหาผลกระทบที่อาจจะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ได้ โดยความบกพร่องประการที่ 1.ของการประกอบกิจการเหมืองทองคำคิงส์เกต ในนามบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) คือการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ในการประกอบกิจการเหมืองทองคำดังกล่าวที่รอยต่อ 3 จังหวัดคือ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด เพราะไม่มีมาตรการทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะ มีแต่การปรึกษาหารือในระดับแจ้งเพื่อทราบ 2.ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนของเจ้าของกิจการอยู่ในระดับต่ำ 3.เป็นการทำเหมืองโดยไม่มีแนวกันชนที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างชุมชนกับเขตเหมืองแร่ และ 4.เป็นการทำเหมืองที่หลีกเลี่ยงหรือหาช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อไม่สร้างหลักประกันและแผนปฏิบัติการในการฟื้นฟูเหมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
น.ส.จุฑามาสกล่าวว่า การให้คิงส์เกตได้รับอนุญาตประทานบัตรให้กลับมาทำเหมืองใหม่ ซึ่งเป็นการได้รับอนุญาตประทานบัตร และการอนุญาตผลประโยชน์อื่น ที่เกินไปกว่าข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อแลกกับการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องถูกอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดให้ต้องแพ้คดี ซึ่งต้องเสียค่าปรับประมาณ 24,750 ล้านบาท โดยเครือข่ายพบข้อมูลว่าผลประโยชน์ที่ได้เกินไปกว่าข้อพิพาท จึงขอให้นำปัญหานี้ไปอภิปรายซักฟอกรัฐบาล รวมถึงหาข้อมูลข้อเท็จจริงในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ถูกปกปิดไว้มาเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อทำให้สังคมไทยโปร่งใสขึ้น
ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ข้อเรียกร้องเรื่องเหมืองทองอัครา สอดคล้องกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราจะนำเข้าสู่กลไกทางสภา ตามความประสงค์ของทางเครือข่าย เรื่องนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านให้ความสนใจ จะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ได้เขียนญัตติอภิปรายทั่วไปเรื่องเหมืองทองอัครา เพื่อเป็นประเด็นที่จะนำไปสอบถามซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนกลไกทางสภาที่สามารถดำเนินการได้ก่อน คือการตั้งกระทู้สดถามนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะลงพื้นที่รับฟังความเห็นในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน และจะนำเรื่องเข้าคณะ กมธ.ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเชิงลึก เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะเป็นคดีอยู่ในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไม่มีใครยอมเอาทรัพย์สมบัติชาติไปแลกกับผลประโยชน์ของ พล.อ.ประยุทธ์
บิ๊กตู่มึนญัตติฝ่ายค้านกำกวม
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือเป็นการด่วนที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมการชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของฝ่ายค้าน ระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ. โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง
ต่อมาในช่วงเย็น นายวิษณุเปิดเผยภายหลังหารือว่า นายกฯ สอบถามถึงเรื่องการอภิปรายทั่วไปที่จะมีขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมว่ามีประเด็นใดบ้าง เนื่องจากบางเรื่องนายกฯ อ่านญัตติแล้วไม่เข้าใจว่าบางข้อนั้นหมายความว่าอย่างไร และผู้ยื่นหมายถึงพฤติกรรมอะไร ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจเช่นกัน เช่น ที่เขียนว่าการเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินเป็นหลัก จึงเกิดคำถามขึ้นว่าใครจะต้องตอบเรื่องนี้ เพราะเราไม่มีกระทรวงเลือกตั้ง ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการมีระบบอุปถัมภ์หรือใช้เงินเป็นหลัก
นอกจากนี้ ในการหารือกับนายกฯ ครั้งนี้ ยังเป็นการเตรียมข้อมูลบางอย่าง โดยมีทีมงานของนายกฯ มาร่วมนั่งรับฟังด้วยเพื่อเตรียมข้อมูลตอบญัตติ อย่างไรก็ตาม ในการอภิปราย นายกฯ จะชี้แจงกว้างๆ เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่างเรื่องโรคระบาดเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องราคาสินค้าเป็นของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องเหมืองอัคราเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ ไม่ได้มีความกังวลใดๆ ต่อการอภิปรายดังกล่าว เพราะเป็นการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ และสามารถเตรียมข้อมูลได้ทัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าเรื่องระบบอุปถัมภ์รัฐบาลไม่ตอบก็ได้ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดว่าจะต้องตอบทุกเรื่อง เพราะมันเยอะ แล้วฝ่ายค้านเองสามารถพูดในเรื่องที่เขาไม่ได้เขียนมาในญัตติได้
นอกจากนี้ นายวิษณุยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ขณะนี้ กกต.แจ้งมายังรัฐบาลว่าดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และจะได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้ในวันที่ 7 ก.พ. โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก ซึ่งรัฐบาลสามารถส่งไปที่วิปรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาความเรียบร้อยก่อนที่จะกำหนดว่ากี่วัน แล้ววิปรัฐบาลจะต้องแจ้งกลับมาที่รัฐบาล คาดว่าจะแจ้งมาในช่วงบ่ายวันที่ 8 ก.พ. และจะนำเข้า ครม.วันที่ 15 ก.พ. โดยตนได้ตกลงกับ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วว่าจะนำเข้า ครม.วันที่ 15 ก.พ. เพื่อรายงานให้ทราบว่าวิปรัฐบาลมีความเห็นอย่างไร เมื่อ ครม.รับทราบ นายกฯสามารถลงนามส่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ทันที โดยนายกฯ จะลงนามรับรองร่างกฎหมายของ ส.ส.ด้วย เพราะถือเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อส่งไปทั้ง 3 ฉบับในคราวเดียวกัน ต่อจากนั้นแล้วแต่ประธานสภาฯ ว่าจะดำเนินการนัดหมายในวันใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยุบสภาระหว่างที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ จะลำบากมากใช่หรือไม่ นายวิษณุพยักหน้าพร้อมกล่าวว่า เป็นการตอบให้ทราบว่าถ้ายุบสภาเกิดขึ้นมันจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก แต่อันที่จริงสามารถกล้อมแกล้มทำอะไรไปพลางได้ แต่มันจะเกิดการถกเถียงกันขึ้น คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายจึงไม่มีข้อยุติ จะยุ่งยาก
ถามย้ำว่า ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือออกเป็นประกาศ กกต.แทนได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กกต.เขาไม่กล้าออกหรอก และ พ.ร.ก.เองถ้าไว้ใจให้รัฐบาลออกก็ออกได้ แต่คงไม่มีใครไว้ใจให้รัฐบาลเขียนกติกา เพราะการเขียน พ.ร.ก.นั้นคือการให้รัฐบาลกำหนดกติกาเอง ฉะนั้นมันจะเกิดปัญหา
ถามย้ำว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันนายกฯ ให้มีการเตรียมความพร้อมไว้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้จะเตรียมอย่างไร เพราะ กกต.จะต้องเป็นเตรียมในเรื่องการเลือกตั้ง การยุบสภาเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่การจัดการเลือกตั้งหลังจากยุบสภา มันเป็นเรื่องของ กกต.ทั้งหมด
ถามถึงไทม์ไลน์ที่เคยคาดการณ์ว่า กฎหมายลูกจะบังคับใช้ ก.ค.65 ยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ อาจจะช้ากว่านั้นได้ แต่ไม่น่าจะก่อนนั้น เห็นอยู่แล้วว่า ก.พ.นี้นำเข้าสภาวาระ 1 เสร็จแล้วสภาปิดสมัยประชุม กรรมาธิการก็ไปทำงาน ถ้าเสร็จในชั้นกรรมาธิการในช่วง มี.ค.หรือ เม.ย. รัฐบาลสามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญให้ได้ แต่ถ้าไปเสร็จเอาช่วงเดือน พ.ค. ไม่ต้องเปิดสมัยวิสามัญ เพราะเป็นช่วงเปิดประชุมสมัยสามัญพอดี นำเข้าวาระ 2 และ 3 ได้ เมื่อพิจารณาเสร็จจะต้องสอบถามไปที่ กกต.ว่าเห็นชอบหรือไม่ กกต.ต้องตอบมาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ถ้าไปแก้ของเขาเยอะ เขาคงไม่เห็นชอบ แต่ถ้าเห็นชอบจะต้องแก้ไขตาม กกต.ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งถ้าต้องแก้ไขต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย. จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตนถึงได้บอกว่าเร็วที่สุดคือช่วง ก.ค. แต่อาจจะช้ากว่านั้นก็ได้ เพราะเมื่อทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ทรงมีเวลาอีก 90 วัน ดังนั้นจะเป็นเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ได้ทั้งนั้น แต่ย้ำว่าไม่ก่อนเดือนกรกฎาคมแน่
ตอนท้ายซักถามกันว่าบรรยากาศพรรคการเมืองขณะนี้จะบีบให้ยุบสภา นายวิษณุ ย้อนถามพร้อมกับยิ้มว่า “แน่หรือ”
ปชป.ข้องใจเสี่ยโตอยู่หรือไป
ขณะที่เรื่องการย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยของ ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็มีแรงกระเพื่อมตามมาเช่นกัน โดยมีรายงานข่าวพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่า ขณะนี้มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งกำลังรวบรวมรายชื่อเตรียมยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการบริหารพรรคในเร็วๆ นี้ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่มีข่าวว่านายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการทาบทามให้ไปเป็นเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นแกนนำพรรค โดยกระแสข่าวดังกล่าวทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กลุ่มนี้กังวลว่าจะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก
และหลังจากมีกระแสข่าวนี้เกิดขึ้น นายอภิชัยไม่ได้ออกมาปฏิเสธหรือให้ความชัดเจนใดๆ จึงทำให้ ส.ส.ของพรรคต้องการทราบข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้ จากพฤติกรรมของนายอภิชัยที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ของพรรคมานานแล้ว ส.ส.กลุ่มดังกล่าวจึงอยากให้ผู้บริหารและผู้ใหญ่ของพรรคนำกรณีของนายอภิชัยมาพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ โดยขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายอภิชัย เพื่อแสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรมของพรรค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี
อิ๊งค์ข้องใจแสนชื่อเลิก‘MOU44’
“หมอวรงค์” นำกลุ่มคนคลั่งชาติยื่น 104,697 รายชื่อร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44
ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’
“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ
ทวีโยงคาร์บ๊องป้องแม้วพักชั้น14
ตามคาด "ทักษิณ" ไม่เข้าชี้แจง กมธ.ปมนักโทษชั้น 14 "ทวี" แจงแทน
‘ทักษิณ-พท.’ยิ้มร่า ศาลยกคำร้องล้มล้างฯ เพื่อไทยเล็งฟ้องเอาคืน
ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง