17ล้านเฮบัตรคนจนใหม่ ‘คนละครึ่ง’เฟส4คึกคัก

ครม.เคาะแล้ว! บัตรคนจนรอบใหม่ 20 ล้านคน คาดใช้งบ 6-7 หมื่นล้าน วางเกณฑ์เข้มข้นขึ้น ไม่จนจริงหมดสิทธิ์ รายได้ไม่เกินแสนบาทต่อปี ไร้บัตรเครดิต คลังปลื้มคนละครึ่งเฟส 4 คึกคัก ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.40 อีก 6 เดือน

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน และความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นให้สามารถเข้าถึงโครงการ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 20 ล้านคน (ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เดิม และผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่) คาดสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 โดยมีกรอบวงเงิน 564.455 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเหมาบริการระบบลงทะเบียน และการยืนยันตัวตน 164.274 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียน ของหน่วยรับลงทะเบียน 400.181 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบของกองทุนประชารัฐฯ ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว

สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน มีดังนี้ ผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐ, รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี ต้องไม่มีบัตรเครดิต จะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการฯ และปัญหาผู้มีบัตรฯ ที่ไม่ควรได้รับสิทธิ ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับลงทะเบียนตามโครงการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจะมีการดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งอีกด้วย

สำหรับผู้ได้รับสิทธิจากโครงการปี 2565 จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรสวัสดิการฯ เนื่องจากบัตรสวัสดิการฯ ที่ได้เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือน ต.ค.2560 มีอายุการใช้งาน 5 ปี และจะหมดอายุในเดือน ก.ย.2565 ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตบัตรสวัสดิการฯ ใหม่ ประมาณ 1,258 ล้านบาท อีกทั้งลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิบัตรประจำตัวประชาชนหรือการนำบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่นไปใช้สิทธิแทน และช่วยลดการทุจริต เช่น กรณีร้านค้าเก็บบัตรสวัสดิการฯ ไว้เอง เป็นต้น

 “โครงการลงทะเบียนฯ ปี 65 มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการบางประการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มเติมเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน และการดำเนินการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ในปัจจุบันไม่สามารถสะท้อนข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนรอบใหม่ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการแห่งรัฐ อย่างครบวงจร เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งเน้นในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด” นายธนกรระบุ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.45 ล้านคน ทั้งหมดจะต้องมาลงทะเบียนใหม่ด้วย โดยในรอบนี้คาดว่าจะมีผู้ผ่านเกณฑ์และได้สิทธิราว 17 ล้านคน จากที่ขอ ครม.ไว้ไม่เกิน 20 ล้านคน และคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6-7 หมื่นล้านบาท ส่วนสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนใหม่นั้นจะยังเหมือนเดิม ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทะเบียนที่เข้มข้นขึ้นนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไปถึงคนที่จนจริงๆ และสมควรได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น

 รมว.การคลังเปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้จ่ายเงินในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 วันแรก เป็นไปอย่างคึกคัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และประชาชนส่วนใหญ่ต่างรอโครงการอยู่ ดังนั้นเมื่อเริ่มให้มีการยืนยันตัวตนตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการใช้จ่ายทันที ตอนนี้พบว่าร้านอาหารเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าโครงการคนละครึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้มีรายได้น้อย ให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วยรักษาระดับการบริโภคของประชาชน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประชาชนยืนยันสิทธิแล้ว 16.45 ล้านคน มีการใช้จ่ายเงินราว 445 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนใช้จ่าย 225 ล้านบาท และรัฐบาลร่วมจ่าย 220 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.- 31 ก.ค.65 โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดทั้ง 3 ทางเลือก ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอดังนี้ ทางเลือกที่ 1 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ และทางเลือกที่ 3 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทองธาร' ขนคณะลงพื้นที่ภูเก็ตตัดริบบิ้นเปิดงานพิธีแสดงเรือนานาชาติ!

'นายกฯ' ลงพื้นที่ภูเก็ตพรุ่งนี้ ขอแก้ไขปัญหาให้ครบทุกวงจร เพิ่มศักยภาพทุกมิติทั้งท่องเที่ยว ยกเป็นต้นแบบทำให้ได้ทุกจังหวัด