องค์กรต้านโกง แฉยับผู้รับเหมา ต้นเหตุตึกถล่ม!

อัยการไขปริศนาตึกถล่มใครต้องรับผิดชอบ ข้อ 11 ระบุชัดแม้ตึกถล่มเพราะเหตุสุดวิสัยแผ่นดินไหว กิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทยก็ต้องรับผิดสร้างใหม่เอง “กทม.” พร้อม “กรมโยธาฯ” เตรียมนำทีมวิศวกรตรวจสอบอาคาร  เบื้องต้นสั่งปิดอาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อความปลอดภัย พร้อมประสานกลับ 700 เคส Traffy Fondue ก่อนเข้าตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยตัวแทนจากสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย  แถลงความเคลื่อนไหวภายหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติกล่าวว่า หน้าที่หลักของวิศวกรคือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะอาคารที่สร้างเสร็จ 100% นั้นไม่มีการพังทลายออกมา มีเพียงรอยแตกร้าว นี่คือสิ่งที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งวันนี้ก็ฝากให้สภาวิศวกรช่วยไปตรวจสอบ และให้สภาวะกลับคืนสู่ปกติ ส่วนอาคารใดที่เสียหายรุนแรงก็ต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและซ่อมแซม

นายพงษ์นรากล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อที่จะรับแจ้งในการตรวจสอบอาคาร มีสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาที่จะร่วมกันดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบอาคารใน 3 หน่วยงานที่เป็นโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลเลิดสิน โดยขณะนี้มีอาคารของโรงพยาบาลราชวิถีที่จะต้องระงับการใช้งานทั้งอาคาร โดยเฉพาะอาคารทศมินทราธิราช 20 ชั้น ที่มีการกะเทาะแตกจนเห็นเหล็ก ซึ่งได้มีการประสานไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีการประชุมในทีมของวิศวกร เพื่อวางแผนตรวจสอบอาคารที่เป็นอาคารสาธารณะหรืออาคารที่รับแจ้งมา โดยวันนี้จะมีการลงพื้นที่ ซึ่งได้มีการประสานกับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะประสานงานและทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน

นายพงษ์นรากล่าวอีกว่า ส่วนอาคารขนาดใหญ่และอาคารของเอกชน เช่น คอนโดฯ ห้างสรรพสินค้า โรงแรมขนาดใหญ่ อาคารเหล่านี้มีการตรวจสอบตามกฎหมายทุกปีอยู่แล้ว จะมีผู้ตรวจสอบอาคารประจำที่เป็นวิศวกร ซึ่งทางกรมก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของอาคารเร่งแจ้งผู้ตรวจสอบอาคารเข้าดำเนินการตรวจสอบ หากไม่เพียงพอหรือไม่พร้อม ทางกรมมีบัญชีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกว่า 2,600 ราย ก็สามารถจะดำเนินการในส่วนนี้ได้ ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดตั้งศูนย์เช่นเดียวกันกับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ขณะที่นายชัชชาติกล่าวว่า จะสั่งการให้ตรวจสอบอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ในส่วนอาคารของประชาชน วิศวกรรมสถานและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจะเข้ามาช่วย ส่วนอาคารราชการ โรงพยาบาล สถานศึกษา จะเป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องลงไปดูในพื้นที่ พร้อมกับผู้ดูแลอาคารที่เป็นช่างประจำอาคาร เพื่อให้รู้ข้อมูลความเสียหายจะได้ตรวจได้ตรงจุด และจะได้ระบุว่าอาคารมีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งอาคารสาธารณะที่มีความเร่งรัดต้องเปิดให้บริการ จะมีทีมวิศวกรพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นว่าต้องทำอย่างไร

ด้านนายวิศณุกล่าวว่า จากกว่า 2,000 เคสที่แจ้งมา จะมีการลงพื้นที่ไปตรวจความเสียหายกว่า 700 เคส ซึ่งในช่วงเช้าก็จะมีการประสานงานกลับไปยังผู้ที่แจ้งมา เพื่อให้การเข้าตรวจเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

วันเดียวกันนี้ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนักวิจัย สกสว. ตั้งข้อสังเกตถึงจุดเริ่มต้นของการถล่มว่า จากภาพวิดีโอมีจุดที่พังทลายที่สำคัญ 3 จุดได้แก่ 1.เสาชะลูดชั้นล่างหักที่บริเวณกลางเสา 2.รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง และ 3.การพังที่เกิดจากปล่องลิฟต์ โดยในขณะนี้ยังไม่สรุปว่าจุดเริ่มต้นการถล่มเกิดที่จุดใด แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากจุดใดก่อน  ก็สามารถทำให้อาคารถล่มราบคาบลงมาเป็นทอดๆ ได้ ซึ่งในทางวิศวกรรมเรียกว่า Pancake collapse

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุการถล่มได้คือการสั่นพ้อง (resonance) ระหว่างชั้นดินอ่อนกับอาคารสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหวระยะไกลจากเมียนมา เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึงชั้นดินอ่อนกรุงเทพฯ จะเป็นแผ่นดินไหวแบบคาบยาว (long period) ซึ่งจะกระตุ้นอาคารสูงได้ เนื่องจากมีคาบยาวที่ตรงกันระหว่างอาคารกับชั้นดินอ่อน

ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น ตัวปั้นจั่นที่ติดตั้งในปล่องลิฟต์ มีการสะบัดตัวและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอย่างไรนั้น ยังต้องพิสูจน์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว ปี 2550 และ 2564 อาคารหลังนี้ควรต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหวในระดับที่ไม่ควรถล่มแบบนี้ จึงต้องไปตรวจสอบแบบและการก่อสร้างด้วย

อีกประเด็นสำคัญที่ตัดทิ้งไม่ได้คือ คุณภาพวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต และเหล็กเสริมว่ามีกำลังรับน้ำหนักเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นที่นำมาใช้ ได้มาตรฐานและมีความเหนียวเพียงพอหรือไม่ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบทุกปัจจัยก่อนจะสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้

ส่วน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลงมาหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวว่า ความรับผิดของผู้รับจ้างกรณีตึก สตง.ถล่ม

กรณีตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างจากการเสนอราคาต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท  ได้ถล่มลงมาหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 นั้น มีประเด็นเรื่องความรับผิดของผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่น่าสนใจ  ซึ่งผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการเพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ท่านที่สนใจและเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องดังนี้

(ผมขอตั้งสมมติฐานในการเขียนเรื่องนี้ว่า  สตง. กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี ทำสัญญาจ้างก่อสร้างโดยใช้แบบสัญญาจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และในส่วนของเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างนั้น เป็นไปตามแบบเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง ที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้ความเห็นชอบแล้ว  ซึ่งเป็นปกติของหน่วยงานของรัฐในการทำสัญญาจ้างก่อสร้างที่จะทำสัญญาตามแบบดังกล่าว โดยการจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างเมื่อพิจารณาจากเนื้องานแล้วน่าจะเป็นการจ่ายค่าจ้างที่เป็นราคาเหมารวมโดยกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงวดๆ)

1.กรณีตึกถล่ม ใครต้องรับผิดชอบจ่ายเงินสร้างตึกใหม่       ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 11 วรรคสอง หากการที่ตึกถล่มลงมาเป็นเพราะความผิดของผู้รับจ้าง รวมทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยจากการเกิดแผ่นดินไหว แต่หากยังไม่มีการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ผู้รับจ้างต้องรับผิดในการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง  จะเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมจาก สตง.ไม่ได้ เว้นแต่การที่ตึกถล่มพังลงมานั้นเกิดจากความผิดของ สตง. ผู้ว่าจ้าง และตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 13 กำหนดไว้ว่า ผู้รับจ้างจะมาอ้างเหตุจากการมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ผู้ควบคุมงาน เพื่อให้ผู้รับจ้างพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ได้ (การก่อสร้างตึกอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ในครั้งนี้มีกิจการร่วมค้า PKW เป็นผู้ควบคุมงาน)

2.กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนงานของผู้รับจ้างและบุคคลภายนอกตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 12 วรรคสาม กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยให้ลูกจ้างทุกคนที่จ้างมาทำงาน และข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและต้องรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับจ้าง ดังนั้น คนงานที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ก็จะได้รับเงินเยียวยาความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้รับจ้างทำไว้ให้ และตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า  จากการที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงนามใน “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันใน โครงการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ที่พังถล่มเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พบว่าการก่อสร้างหย่อนประสิทธิภาพ โดยเห็นได้จากการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วงๆ ซึ่งได้ทักท้วงมาโดยตลอด โดยปกติโครงการจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เริ่มเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อป้องกันการล็อกสเปก การฮั้วประมูล และการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง ให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายอย่างเปิดเผยโปร่งใส แต่โครงการนี้กลับไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ ทาง สตง.เป็นผู้ติดต่อขอให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการนี้เอง เนื่องจาก สตง.มีภารกิจตรวจสอบผู้อื่น เพื่อเป็นแบบอย่างการเปิดเผยโปร่งใส จึงต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้ามาร่วมให้ความเห็น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรคอร์รัปชันฯ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังจาก สตง.คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรวมทั้ง TOR ดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้รับเหมาโครงการนี้มีการหยุดงานเป็นช่วงๆ ในช่วงแรก และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนมกราคม 2568 สตง.แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่ายแล้ว 22 ราย 17.4 ล้าน! ก.แรงงานเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

กระทรวงแรงงานจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวแล้ว 17.4 ล้านบาท พร้อมเตรียมช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ หากเอกสารครบสามารถดำเนินการเสร็จภายใน 7 วัน

แพทยสภาเลื่อนคดีชั้น14

กลิ่นทะแม่ง! แพทยสภาออกประกาศเลื่อนคดีชั้น 14 อ้าง รพ.ราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจเพิ่งส่งเอกสารใหม่มาจำนวนมากต้องใช้เวลา

ยังไม่ชัดสาเหตุตึกสตง.ถล่ม

ผ่าน 1 สัปดาห์เหตุตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว "ผู้ว่าฯ กทม." เผยลุยใช้เครื่องมือหนักเปิดทางเพิ่ม ขอโทษยังเจาะไปไม่ถึงผู้ที่คาดว่าติดอยู่ไม่ได้