กกพ.ประกาศตรึงค่าไฟงวดใหม่ พ.ค.-ส.ค.68 ที่ 4.15 บาท/หน่วย หลังเสร็จสิ้นรับฟังความเห็น “ทีดีอาร์ไอ” แนะแผนงานแก้ไฟแพง รัฐต้องทำราคาก๊าซสะท้อนต้นทุนจริง ยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้าไม่จำเป็น พร้อมเร่งเปิดเสรี
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2568 คงเดิมที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย สอดคล้องกับอัตราที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอมา ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2568 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 11-24 มี.ค.2568 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 33 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ.เสนอรวมทั้งสิ้น 29 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 3 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 1 ความเห็น
โดยสามารถสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2568 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ดังนี้ เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1 (ค่าเอฟที 137.39 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 21%, เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 2 (ค่าเอฟที 116.37 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 18%, เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 3 (ค่าเอฟที 36.72 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 49%, ข้อเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือกรณีศึกษา จำนวน 9%, ข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟที จำนวน 3% รวมทั้งสิ้น (33 ความเห็น) เป็น 100%
วันเดียวกัน น.ส.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาค่าไฟที่โครงสร้าง ได้แก่ 1.โครงสร้างราคาก๊าซ โดยราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไม่สะท้อนการแข่งขัน จึงต้องสนับสนุนให้ราคาก๊าซนำเข้าสะท้อนการแข่งขันทางด้านราคา 2.การคิดค่าผ่านท่อ และค่าแปรสภาพก๊าซ โดยการเก็บค่าผ่านท่อ (T) ที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนใช้งานที่แท้จริง จึงต้องตรวจสอบให้การคิดค่าผ่านท่อมีการสะท้อนต้นทุนการสร้างตามอายุการใช้งานที่แท้จริง รวมถึงต้องคิดผลตอบแทนจากเงินลงทุน โดยพิจารณาจากสินทรัพย์ท่อก๊าซที่อยู่ในการกำกับดูแลในส่วนที่มีการใช้งานอยู่แล้วเท่านั้น ควรมีการทบทวนการจองท่อ โดยให้มีการระบุถึงปริมาณความต้องการจากผู้ใช้ร่วมกับปริมาณการจองจาก Shipper แต่ละราย
3.การใช้ LNG Terminal ที่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการใช้งานเต็มประสิทธิภาพ แต่มีการเปิด terminal ใหม่ โดยควรกำหนดแนวทางการใช้งาน LNG Terminal และ 4.ค่าความพร้อมจ่าย (AP) โดยการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริงมาก ส่งผลให้ไฟสำรองสูงมากกว่า 37% โดยต้องยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น โดยทบทวนการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น สำหรับโรงไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีการก่อสร้าง ควรยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว แต่ถ้าต้องทำสัญญาควรทบทวนให้มีการปรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าร่วมกันรับผิดชอบต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย
"ในระยะสั้นรัฐต้องหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ หยุดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ส่วนในระยะกลางต้องมีการใช้ศักยภาพเทคโนโลยีด้านพลังงานให้ โดยการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวมถึงระบบการกักเก็บพลังงานสำรองให้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนถูกลง และในระยะยาวต้องปรับระบบการผลิตการซื้อขายไฟโดยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้า โครงการโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด" นางสาวอารีพร ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
8แบงก์รัฐโดดอุ้ม เหยื่อแผ่นดินไหว ฉุดศก.ไตรมาส2
8 แบงก์รัฐออกมาตรการเร่งด่วน ช่วยประชาชนได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว
‘เมียนมา’ดับเฉียด2พัน ไทยส่งทีมฉก.ช่วยกู้ภัย
อาฟเตอร์ช็อกเขย่า "มัณฑะเลย์" ปฏิบัติการกู้ภัยหยุดค้นหาผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวเมียนมา
ล้อมคอกระบบเตือนภัย ชง‘TraffyFondue’ทุกจว.
ล้อมคอกตามสูตร "รมว.ดีอี" เรียก "ปภ.-กสทช.-โอเปอเรเตอร์"
นัดบุกสภายื่นค้านกม.กาสิโน
ปธ.วิปรัฐบาลคาดสภาฯ ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์ฯ 9 เม.ย.นี้
อาฟเตอร์ช็อก!สตง. ‘โยธา-คตง.’รุมสอบตึกถล่ม ‘ประจักษ์’เสียใจยันโปร่งใส
ศูนย์เอราวัณเปิดตัวเลขธรณีวิปโยค คนกรุงสังเวยแล้ว 17 ราย “ปภ.”
องค์กรต้านโกง แฉยับผู้รับเหมา ต้นเหตุตึกถล่ม!
อัยการไขปริศนาตึกถล่มใครต้องรับผิดชอบ ข้อ 11 ระบุชัดแม้ตึกถล่มเพราะเหตุสุดวิสัยแผ่นดินไหว กิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทยก็ต้องรับผิดสร้างใหม่เอง “กทม.