คณะอนุฯ ดีเอสไอเปิดไฟเขียวคดีฮั้วเลือก สว. 67 เป็นคดีพิเศษ ในความผิดฐานอั้งยี่ มาตรา 77 (1) พ.ร.ป.สว. และฐานฟอกเงิน “ทวี” ทุบโต๊ะ 6 มี.ค. บอร์ด กคพ.ต้องมีคำตอบ ด้านกลุ่ม สว.สำรองเขย่าหนัก ร้องประธานรัฐสภาสอบจริยธรรมก๊วน สว.ลงชื่อสอบดีเอสไอ ลากไส้เปิดฉากฮั้วก่อนเลือกยันปิดหีบ แฉยับโพยสลักหลังใบ สว.3 ทั้ง 20 กลุ่ม
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีระบุในที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ไม่มีอำนาจรับคดีฮั้วเลือก สว.ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการลงมติรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ขอให้รอการประชุม กคพ.ในวันที่ 6 มี.ค.นี้
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีเอกสารหลุดรายชื่อ 1,200 ราย เป็นบุคคลที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเรียกสอบปากคำในฐานะพยานในคดีฮั้วเลือก สว.ว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้หลุดจากดีเอสไอ แต่ได้สอบถามไปว่าในวันที่มีการเลือก สว.ที่เมืองทองธานี มีการเลือกประมาณ 3,000 รายเศษ ทราบว่ามีโพยและรายชื่อประมาณ 1,000 คน ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลชุดนี้มากกว่า ในส่วนของดีเอสไอจะตรวจสอบรายชื่อที่เข้ามา และอาจมีมากกว่าประมาณ 1,200 คน ซึ่งการที่มีรายชื่อไม่ได้ยืนยันว่าเขาทำผิดหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ในสำนวนมีมากและเข้มข้นกว่านี้ เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงความเห็นในที่ประชุม ว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบในเรื่องดังกล่าวนั้น พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ก็จะนำมาพิจารณา แต่ในวันนั้นท่านไม่ได้พูดแบบนี้ ท่านพูดหลักการว่าไม่อยากให้ไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิก็ตอบแล้วว่าอันนี้เป็นคนละส่วน ซึ่งเราต้องยึดกฎหมาย ก็ไม่มีประเด็น
“โดยความเป็นจริงแล้วท่านมีความเห็นที่ดีหลายความเห็น ก็ให้ดีเอสไอไปดูให้ละเอียด เพราะในความผิดอาญา หรืออื่นๆ มันเป็นความผิดของดีเอสไออยู่แล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร และเชื่อว่าการทำงานจะไม่มีปัญหา” พ.ต.อ.ทวีระบุ
เมื่อถามถึงกรณี สว.ยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบ พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.อ.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ จะทำให้การทำงานมีปัญหาหรือไม่ รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ในระบบประชาธิปไตยหากรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีการใช้สิทธิ์ได้ และยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่คนที่ยื่นคำร้อง หากดูเอกสารที่เป็นตัวเลขหรือในโพยอาจเป็นตัวเลขที่ตรงกัน ซึ่งก็มีเอกสารที่ปรากฏว่ามีรายชื่อที่ยื่นในจำนวน 140 คน คือมี 138 คนที่อยู่ในสภา มีชื่อที่ปรากฏอยู่ในโพย และมีอีกประมาณ 62 คนที่ไม่ปรากฏ
เมื่อถามว่า ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ไม่ใช่หลักฐานที่ชัดเจน แต่เป็นหลักฐานที่ได้มาในแต่ละแห่งมายื่นให้ ส่วนในการประชุม กคพ.วันที่ 6 มี.ค.จะได้ข้อสรุปว่าจะรับหรือไม่เป็นคดีพิเศษ และเรื่องต้องจบ
สว.สำรองร้อง 'วันนอร์'
ที่รัฐสภา เวลา 10.30 น. กลุ่มตัวแทนผู้สมัคร สว. ทั้งกลุ่ม สว.สำรองและผู้สมัคร สว.อื่นๆ นำโดยนายอัครวัฒน์ พงศ์ธนาชลิตกุล สว.สำรอง รวมถึงภาคประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ผ่านนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาฯ เพื่อให้สอบจริยธรรม สว.ที่ร่วมลงชื่อพิจารณาไต่สวนและดำเนินการกับดีเอสไอ เกี่ยวกับการกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายอัครวัฒน์ระบุถึงกรณีเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาตให้ผู้สมัคร สว.นำโพยเข้าไปในวันเลือกได้ว่า เรื่องนี้มีโพยหลุดออกไปเป็นจำนวนมาก โดยแต่ละกลุ่มที่ได้รับเอกสารมาก่อนที่จะเดินเข้าห้องเลือกที่เมืองทองธานี มีการเขียนไว้ที่ สว.3 และเขียนใส่กระดาษเพื่อให้ติดตัวไว้ และเมื่อมีการตรวจสอบ และประกาศว่าห้ามเอาเอกสารเข้าหน่วยเลือก ซึ่งในระหว่างนั้นมีผู้ตรวจการเลือก ได้พบพฤติกรรมการอนุญาตให้นำโพยเข้าไปในหน่วยเลือกได้ โดยที่ กกต.บอกว่าให้เอาเอกสารเข้าไปได้ ทำให้ผู้ตรวจการเลือกสงสัยว่าถ้าปล่อยให้ขบวนการนี้เกิดขึ้นคงจะมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ในคืนวันเลือกไปร้องต่อ กกต. แต่ไม่ได้เป็นผลอะไร จนการเลือกเสร็จสิ้นลง ผู้ตรวจการเลือกจึงได้ไปแจ้งความต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและดีเอสไอ
“แต่ที่ กกต.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องโพย กลับกลายเป็นว่าคณะกรรมการเป็นลูกน้องของผู้ที่ถูกร้อง คือนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่แต่งตั้งลูกน้องขึ้นมาให้ตรวจสอบตัวเอง จึงเป็นไปได้ยากที่จะได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้มีการให้ปากคำต่อดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว” นายอัครวัฒน์ระบุ
แฉโพยประกบ
เมื่อถามว่า แสดงว่านายแสวงให้เอาโพยเข้าไปใช่หรือไม่ นายอัครวัฒน์กล่าวว่า จากที่ผู้ตรวจฯ ไปให้ปากคำต่อดีเอสไอ แจ้งว่านายแสวงเป็นคนอนุญาตให้เอาโพยเข้าไปได้ ซึ่งมีในใบ สว.3 และกระดาษจะถูกเขียนด้วยโพยอยู่ด้านหลัง เป็นตารางทั้ง 20 กลุ่ม มีตัวเลขระบุให้เลือกตามช่อง ซึ่งเรามีหลักฐานเป็น สว.3 ที่ยึดมาได้ อยู่ที่ดีเอสไอจำนวนมาก
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ระบุว่า เขาให้เขียนโพยเข้าไปได้เพราะผู้สมัครอาจจะจำได้ไม่หมด นายอัครวัฒน์กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาโพยเข้าไปเพราะเป็นการทุจริต แต่สว.3 ที่เขาแจกมาให้เพื่อทุกคนได้ศึกษาว่ากลุ่มต่างๆชอบใคร หากมีโอกาสได้ไขว้กันเราสมควรจะเลือกใคร ซึ่งคนที่เลือกก็ต้องเปิดดูประวัติใน สว.3 แต่ที่ไม่ยุติธรรมที่สุดคือ การเขียนโพยเป็นร้อยๆ โพยอยู่หลัง สว.3 แล้วเลือกตรงกันทั้งหมดทั้งประเทศ
“ยกตัวอย่างจากเอกสารตัวจริงที่อยู่ที่ดีเอสไอแล้ว ซึ่งเป็นการเขียนด้วยลายมือของแต่ละคนหลากหลาย ซึ่งเขาบอกว่าทุกคนต้องเขียนด้วยลายมือตัวเอง และมีเทรนเนอร์ไปสอนว่าต้องเขียนโพยอย่างไป และเมื่อเข้าไปสู่กระบวนการเลือกตั้งเขามีข้อกำหนดว่า ห้ามเปิดดู สว.3 เป็นอันขาด ถ้าใครเปิดดู สว.3 เขาจะหักเงิน จะไม่จ่ายเท่าที่ตกลงกันไว้ คือก่อนเดินทางมาจ่าย 2 หมื่นบาท ขากลับจากเมืองทองให้อีก 3 หมื่นบาท ถ้าได้เกิน 120 คน จ่ายให้อีกเป็นแสน” นายอัครวัฒน์กล่าว
นายอัครวัฒน์ระบุด้วยว่า เราคัดค้านที่จะให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่ความผิดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นความผิดของขบวนการ ซึ่งมีการฮั้วกันมาตั้งแต่ยังไม่ประกาศกฤษฎีกาเลือก มีการวางแผนกันมาตั้งแต่เห็นรัฐธรรมนูญแล้ว ว่าทำอย่างไรถึงจะชนะการเลือกในครั้งนี้ ดังนั้นจะต้องหาคนผิดมาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
สำหรับรายชื่อ สว.ที่ถูกยื่นให้สอบจริยธรรม มีอาทิ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร, น.ส.อมร ศรีบุญนาค, น.ส.อัจฉรพรรณ หอมรส, นายเอนก วีระพจนานันท์, นายอภิชา เศรษฐวราธร, นายชวภณ วัธนเวคิน, นายชีวะภาพ ชีวะธรรม, นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว, พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา, นายอภิชาติ งามกมล, นายพรเพิ่ม ทองศรี ซึ่งเป็นกลุ่ม สว.ที่ร่วมลงชื่อยื่นญัตติต่อวุฒิสภาเพื่อให้พิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย
อนุ กก.เคาะคดีพิเศษ
วันเดียวกัน เวลา 16.20 น. ที่ดีเอสไอ ภายหลังจากที่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้งหมด 9 ราย และ 4 ผู้แทนหน่วยงาน อันประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณีการคัดเลือก สว.ที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กคพ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ.มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2561
โดย ร.ต.อ.สุรวุฒิเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมตามที่บอร์ด กคพ.ได้มอบหมายในที่ประชุม ได้มีการพูดคุยตามอำนาจหน้าที่ของเรา ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ 3 ข้อ คือ 1.มีการกำหนดไว้ว่าเรื่องดังกล่าวมีมีความผิดอาญาฐานใดบ้าง ซึ่งกรรมการทุกคนได้เห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า มันมีความผิดอาญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 ววรคหนึ่ง (ก)-(จ) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน รวมถึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอต่อบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ เพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษทั้ง 2 กรณี
ร.ต.อ.สุรวุฒิระบุว่า โดยกรณีที่ 1 คือ กรณีการกระทำความผิดทางอาญาอื่นที่เกิดขึ้นจากการอั้งยี่ รวมทั้งการกระทำความผิดที่เป็นการได้มาซึ่ง สว. ตามมาตรา 77 (1) ส่วนกรณีที่ 2 คือ ความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการคดีพิเศษ
“ดีเอสไอไม่ได้ทำเรื่องการเลือกตั้ง แต่ทำเรื่องความผิดทางอาญาอย่างเดียว ทั้งนี้ความเห็นโดยสรุปของคณะอนุกรรมการในวันนี้ เราทำตามหน้าที่ที่บอร์ด กคพ.ได้มอบหมาย แต่ส่วนบอร์ด กคพ.จะมีความเห็นอย่างไรก็เป็นในส่วนของบอร์ดฯ คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ไม่สามารถก้าวล่วงได้ เพราะอย่างไรแล้วก็ต้องดูความเห็นบอร์ดเป็นหลัก เนื่องด้วยการจะรับหรือไม่รับเป็นคดีพิเศษจะต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของบอร์ดดังเดิม คณะอนุกรรมการมีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเรื่อง” ร.ต.อ.สุรวุฒิระบุ
ร.ต.อ.สุรวุฒิกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางของบอร์ดคกพ. ในวันที่ 6 มี.ค. หากรับเป็นคดีพิเศษก็จะมีการสอบสวนโดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับพนักงานอัยการ แต่ถ้าไม่รับเป็นคดีพิเศษก็ต้องมีมติว่าจะส่งต่อหน่วยงานใดดำเนินการแทน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘เมียนมา’ดับเฉียด2พัน ไทยส่งทีมฉก.ช่วยกู้ภัย
อาฟเตอร์ช็อกเขย่า "มัณฑะเลย์" ปฏิบัติการกู้ภัยหยุดค้นหาผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวเมียนมา
8แบงก์รัฐโดดอุ้ม เหยื่อแผ่นดินไหว ฉุดศก.ไตรมาส2
8 แบงก์รัฐออกมาตรการเร่งด่วน ช่วยประชาชนได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว
ล้อมคอกระบบเตือนภัย ชง‘TraffyFondue’ทุกจว.
ล้อมคอกตามสูตร "รมว.ดีอี" เรียก "ปภ.-กสทช.-โอเปอเรเตอร์"
นัดบุกสภายื่นค้านกม.กาสิโน
ปธ.วิปรัฐบาลคาดสภาฯ ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์ฯ 9 เม.ย.นี้
อาฟเตอร์ช็อก!สตง. ‘โยธา-คตง.’รุมสอบตึกถล่ม ‘ประจักษ์’เสียใจยันโปร่งใส
ศูนย์เอราวัณเปิดตัวเลขธรณีวิปโยค คนกรุงสังเวยแล้ว 17 ราย “ปภ.”
องค์กรต้านโกง แฉยับผู้รับเหมา ต้นเหตุตึกถล่ม!
อัยการไขปริศนาตึกถล่มใครต้องรับผิดชอบ ข้อ 11 ระบุชัดแม้ตึกถล่มเพราะเหตุสุดวิสัยแผ่นดินไหว กิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทยก็ต้องรับผิดสร้างใหม่เอง “กทม.