โฆษก บช.น.เผย "ส.ต.ต.นรวิชญ์" ซิ่งบิ๊กไบค์ 108-128 กม./ชม.ก่อนชน "หมอกระต่าย" เตรียมเรียกแจ้งข้อหาเพิ่ม ขณะที่ ตร.-กทม.เปิดมาตรการล้อมคอก ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรให้ชะลอความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย เหลือ 30 กม./ชม.
เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น. แถลงความคืบหน้ากรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ผู้ขี่บิ๊กไบค์ยี่ห้อดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ ทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ชนเข้ากับ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต
เขาเผยว่า หลังกองพิสูจน์หลักฐานกลางเข้าตรวจสอบพื้นที่ทางม้าลาย บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐานความเร็วและข้อมูลทางเทคนิคเพื่อนำไปประกอบสำนวนคดี พบว่าความเร็วในขณะที่ผู้ต้องหาใช้รถจักรยานยนต์แซงรถตู้ อยู่ที่ 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งผิดกฎเพราะเป็นการขับขี่รถเร็วเกินกว่ากำหนด ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะทำการเรียกตัวผู้ต้องหามาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีข้อหาขับรถโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน หากเข้าข่ายความผิดดังกล่าว ก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมไปพร้อมกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ภายในวันที่ 31 มกราคมนี้ ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนสามารถสรุปสำนวนและส่งฟ้องได้ทันตามเวลาที่กำหนด
ส่วนประเด็นการลาราชการเพิ่มเติมของผู้ต้องหา ซึ่งได้ลาแล้วครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา วันนี้ก็ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้ว และต้นสังกัดได้ทำการสอบสวนเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ซึ่งตัวผู้ต้องหาเองได้ทำการลาราชการต่อในวันพรุ่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29-31 มกราคม
ขณะที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ยังมีอาการเครียด ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ได้เดินทางเข้ากองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนมาทำงานตามปกติหลังจากลาบวช และเข้าพบคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ขับขี่รถบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย โดยคณะกรรมการชุดนี้เป็นบุคคลจากกองกำกับอื่น ไม่ใช่ในสังกัดของกองกำกับการอารักขา 1 ที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ทำงานอยู่ เพื่อความโปร่งใสในการสืบสวน โดยจะสืบสวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำข้อมูลจากสำนวนคดีของ สน.พญาไทมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยจะสืบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดภายใน 15 วัน จากกรอบระยะเวลา 60 วัน
ทั้งนี้ ส.ต.ต.นรวิชญ์ได้ยื่นหนังสือลาต่อผู้บังคับบัญชา ขอลากิจส่วนตัวอีก 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 29-31 มกราคม และกลับมาทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมรายงานต่อผู้บังคับบัญชาว่าต้องคดีอาญา ต้องเข้าสู่การกระบวนการสอบสวนในคดี โดย ส.ต.ต.นรวิชญ์มีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด ไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการประชุมหารือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลาย ระหว่างตำรวจกับ กทม. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตำรวจเตรียมออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร กำหนดชะลอความเร็วเหมาะสมก่อนถึงทางม้าลาย บางจุดอาจให้ใช้ 30 กม.ต่อชั่วโมงก่อนถึง ส่วนบริเวณทางม้าลายก่อนถึงหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ให้ชะลอความเร็วก่อนถึงในระยะ 50 เมตรไม่เกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง ยกเว้นทางม้าลายที่อยู่นอกเมือง ที่มองเห็นได้ในระยะไกล 100 เมตร ให้ใช้ความเร็ว 60 กม.ต่อชั่วโมงได้
ถามว่าการสร้างทางม้าลายในพื้นที่ต่างๆ ใช้ปัจจัยอะไรมากำหนดว่าเหมาะสม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจร่วมกันของแต่ละจังหวัด และตามความประสงค์ของแต่ละจุด ซึ่งทางม้าลายหน้าสถาบันโรคไตฯ เมื่อปี 2558 โรงพยาบาลร้องขอมาที่ กทม. ว่ามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องใช้เดินสัญจรข้ามไปมา และมีการพิจารณาอนุญาตร่วมกันหลายหน่วย ในที่ประชุมวันนี้จึงมีมติยังไม่ยกเลิกทางม้าลายดังกล่าว เนื่องจากมีความจำเป็น แต่จะปรับปรุงให้มีความปลอดภัยสูงสุด และช่วงนี้อาจมีตำรวจไปกวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
รอง ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่สำรวจทางม้าลายที่มีการใช้งานน้อยมาก และเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถป้องกันได้ บางจุดที่อยู่ใกล้สะพานลอย เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงยกเลิกต่อไป
ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ทาง กทม.ได้รับมอบหมายให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนข้ามแบบกดปุ่ม จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์ การติดตั้งกล้อง AI เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายบริเวณทางข้ามดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน รวมไปถึงการทาพื้นสีแดง ขยายความกว้างของทางข้ามให้เห็นได้ชัดเจน จะใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 29-30 มกราคม และวันจันทร์ที่ 31 มกราคม จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง จากการสำรวจพบว่าใน กทม.มีทางม้าลายจำนวน 3,280 แห่ง มีการติดตั้งไฟกะพริบ 1,277 แห่ง ติดตั้งไฟแบบกดปุ่ม 226 จุด และทาพื้นสีแดง 431 แห่ง ยังคงสภาพเดิมอีก 1,934 แห่ง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ขอจัดสรรงบประมาณ ติดตั้งไฟสัญญาณทางข้ามแบบกดปุ่ม 100 จุดเสี่ยงในกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน ส่วนจุดที่เหลือจะแก้ไขเบื้องต้นโดยการทาพื้นสีแดงอย่างทั่วถึง
ถามว่าจะมีการทำสะพานลอยคนข้ามบริเวณหน้าสถาบันโรคไตหรือไม่ รองผู้ว่าฯ กทม.ตอบว่า กรุงเทพมหานครคงศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกว่าจะทดแทนได้ดีกว่าหรือไม่ หากดีกว่าทาง กทม.พร้อมทำทันที ในชั้นนี้ยังไม่สามารถตอบได้ทันที ขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาก่อน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ยอมนิกร พรบ.ประชามติ ไม่ใช่กม.การเงิน
“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.