ศบค.ลั่น‘Test&Go’พร้อม

ยอดติดเชื้อรายใหม่ขยับเป็น 8,450 ราย เสียชีวิต 28 ราย “ศบค.” ยันโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ยังไม่น่าห่วง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ติดตามใกล้ชิด ไม่พบพันธุกรรมต่างจากเดิมมากนัก ย้ำเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกัน วอนปชช.ช่วยเป็นหูเป็นตา หลัง 1 ก.พ.เริ่มระบบเทสต์แอนด์โกนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย “บิ๊กตู่” มั่นใจทุกระบบมีความพร้อม คาดจะมีต่างชาติเข้าเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคนตลอดปี 2565 สร้างรายได้ 4.8 แสนล้านบาท “อนุทิน” แจงชงโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแค่วางแนวทางไว้เป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เร็วๆ นี้ 

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า หลายท่านมีความตื่นตระหนกกับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำยังไม่มีรายงานชัดเจนที่น่าเป็นห่วง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ติดตามสถานการณ์โลก ติดตามผู้ติดเชื้อในประเทศอย่างใกล้ชิด แม้จะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในไทยเกิน 14 ราย แต่ในเบื้องต้นยังไม่พบความแตกต่างทางพันธุกรรมมากมายจากโอมิครอนเดิม แม้ต่างชาติจะระบุตรวจหาเชื้อดังกล่าวได้ยาก แต่กรมวิทย์ยืนยันว่ายังสามารถตรวจสายพันธุ์ดังกล่าวได้จาก ATK และ RT-PCR ซึ่งเป็นมาตรฐานสาธารณสุขของไทยได้ตามปกติ โดยเราจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและนำมารายงานให้ทราบโดยตลอด

สำหรับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พบ 8,450 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,191 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,153 ราย ค้นหาเชิงรุก 38 ราย เรือนจำ 48 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 211 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,484 ราย อยู่ระหว่างรักษา 83,698 ราย อาการหนัก 528 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 102 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 28 ราย เป็นชาย 17 ราย หญิง 11 ราย ผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 23 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,415,472 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,309,648 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,126 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 366,694,287 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,656,642 ราย

 “ยอดการฉีดวัคซีนวันที่ 27 ม.ค. เพิ่มขึ้น 465,154 โดส ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 114,087,421 โดส โดยเป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สะสมเพียงร้อยละ 19.3 ของจำนวนประชากร จึงอยากเชิญชวนเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันโอมิครอน และเมื่อดูจากข้อมูลมีถึง 7 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนประชาชนทั่วไปไม่ถึง 60% ของจำนวนประชากร ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน ตาก ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และมี 3 จังหวัดที่ฉีดผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ได้ไม่ถึง 60% ของจำนวนประชากร ได้แก่ ปัตตานี ราชบุรี และกาญจนบุรี” พญ.อภิสมัยกล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,292 ราย, สมุทรปราการ 743 ราย,  นนทบุรี 499 ราย, ชลบุรี 446 ราย, ภูเก็ต 379 ราย, ปทุมธานี 245 ราย, ราชบุรี 239 ราย, นครราชสีมา 192 ราย, ศรีสะเกษ 182 ราย, ลพบุรี 168 ราย ส่วนคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังยังเป็นเหมือนเดิมคือ คลัสเตอร์ร้านอาหาร โรงเรียน ตลาด โรงงาน สถานประกอบการ พิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งในส่วนของพิธีกรรมทางศาสนานั้น ไม่ได้มีการติดเชื้อจากการร่วมพิธีกรรม แต่เป็นการติดเชื้อภายหลังพิธีกรรมที่มีการทานอาหารร่วมกัน มีการเล่นการพนัน จึงฝากผู้ว่าฯ เข้มงวดในการรวมกลุ่มคนด้วย ขณะที่คลัสเตอร์โรงเรียนมีการพบในหลายจังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี น่าน เพชรบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย ยโสธร เลยศรีสะเกษ และจากการตรวจสอบทุกโรงเรียนเคร่งครัดมาตรการ

ถามว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบเทสต์แอนด์โกในวันที่ 1 ก.พ.นี้ มีการเตรียมความพร้อมรับอย่างไร พญ.อภิสมัยกล่าวว่า เทสต์แอนด์โกจะเริ่มต้นให้ลงทะเบียนในวันที่ 1 ก.พ.นี้ และขอเน้นย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือเป็นคนไทยเดินทางกลับบ้านก็ตาม เริ่มลงทะเบียน 1 ก.พ. โดยจะมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน บางครั้ง 3 วันก็ประเมินสำเร็จ แล้วอนุญาตให้เดินทางได้ โดยการประเมินจะต้องเข้มงวดกระทำโดยกรมควบคุมโรค ตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โรงแรมที่พัก สถานประกอบการ จะต้องร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบว่ามีการชำระค่าที่พักถูกต้องหรือไม่ โรงแรมดังกล่าวเป็นโรงแรม SHA พลัสหรือไม่ แล้วนักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางเข้ามาได้ จากนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องถูกกำหนดโดยมาตรการอย่างเข้มงวด ที่สำคัญนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่กำหนด คือตรวจ RT-PCR ซ้ำเป็นครั้งที่สอง ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ซึ่งต้องทำให้ได้ 100% และหากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อนักท่องเที่ยว ต้องมีประกันคุ้มครองในการรักษาอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

“ขอฝากพี่น้องประชาชน เมื่อเราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยในขณะที่เศรษฐกิจก็สามารถขับเคลื่อนไปได้ คงต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตา ดูแลสุขภาพของตัวเอง คนใกล้ชิด และคนในครอบครัวแล้ว หากเห็นนักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามกฎ ไม่สวมหน้ากากอนามัย สถานบริการทำผิด หละหลวมมาตรการ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ไม่เข้มงวดปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบโควิดฟรีเซตติง ขอให้ประชาชนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ” พญ.อภิสมัยระบุ

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มั่นใจทุกระบบของไทยมีความพร้อม ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศไทยในรูปแบบเทสต์แอนด์โกอีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ.นี้ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาได้โดยเร็วที่สุดต่อ หลังรัฐบาลตัดสินใจระงับไปเมื่อปลายปี 2564 เพราะเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เชื่อมั่นแพทย์และระบบสาธารณสุขไทยพร้อมรับมือ หากมีการเปิดเทสต์แอนด์โกอีกครั้ง คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งปี 2565 ได้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน สร้างรายได้ 4.8 แสนล้านบาท

“ยังมีผู้ที่พยายามลักลอบเข้ามายังประเทศไทยเพื่อหางานทำอย่างผิดกฎหมายต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเจ้าหน้าที่พื้นที่ที่ติดต่อกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีช่องทางผ่านแดนที่เป็นช่องทางธรรมชาติ คุมเข้มทุกด่านให้ระมัดระวัง รวมทั้งขอให้เครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ทั้ง อสม. ฝ่ายท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมช่วยสอดส่องว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่หรือไม่ หากพบให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วประเทศ โดยเฉพาะวันนี้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นนั้น ตนยังเชื่อว่าจะค่อยๆ ลดลง วันนี้เน้นในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยหนัก และยังยืนยันว่าจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ในจำนวนที่ดี ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่

“ที่สหรัฐอเมริกามีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ทั้งที่เชื้อโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงนั้น ต้องดูในรายละเอียด อย่างที่สหรัฐมีประชากรจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน  และวิถีการใช้ชีวิตไม่เหมือนเรา คนไทยยังให้ความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้การติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่เราควบคุมได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อมา มาจากการรวมตัวกัน การปาร์ตี้สังสรรค์ ตรงนี้ยอมรับว่ายังมีอยู่ เพราะทุกคนถือว่าฉีดวัคซีนกันแล้ว ระมัดระวังกันอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งเหมือนเป็นการคัดกรองชั้น 1 แล้ว ย้ำว่าวันนี้เรื่องวัคซีนไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้หลีกเลี่ยงการรวมตัวเฮฮาปาร์ตี้ การสังสรรค์ ได้รับรายงานว่าขณะนี้เป็นคลัสเตอร์หลักมาจากกิจกรรมเหล่านี้” นายอนุทินกล่าว

ถามถึงการปรับให้เป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการป่วยหนัก การเสียชีวิต การติดเชื้อ จำนวนผู้ได้รับวัคซีน รวมถึงความร่วมมือที่ได้รับ หากตัวเลขไม่กระโดดขึ้นสูงนัก เชื้อจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง แต่การที่จะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าจะประกาศพรุ่งนี้ ตอนนี้เป็นเพียงเป้าหมายและแนวทาง ทุกคนจะได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการประกอบอาชีพ

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ติดเชื้อโควิด-19 โดยมีผลตรวจยืนยันชัดเจนเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ว่า จากการสอบถามนายอัครเดช พบว่าอาการไม่รุนแรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล สำหรับไทม์ไลน์นั้น ทราบว่ามีอาการเมื่อวันพุธที่ 26 ม.ค. และเข้ารับการตรวจผลพบว่าติดเชื้อเมื่อ 27 ม.ค. ซึ่งในวันที่ 26 ม.ค.นั้น นายอัครเดชได้ลาการประชุมสภา และไม่ได้เข้ามายังพื้นที่รัฐสภาแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง