‘ภูมิธรรม’ นำทีมบี้ 160 วุฒิ

แผนล้าง สว.สีน้ำเงินเดือด!  ประชุมบอร์ดคดีพิเศษอังคารนี้ ขอมติสอบสวนเลือก สว.67 อั้งยี่-ซ่องโจร สลาย-ไล่ทุบ สว.สีน้ำเงิน 160 คน! เปิดลับ กรรมการตั้งธงซักหนักอธิบดีดีเอสไอ 3 ปม กฎหมายให้ทำได้หรือไม่-จะมีปัญหากับ กกต.หรือไม่-จะโดน สว.ฟ้องกลับไหม ยันไม่ได้ถูกล็อบบี้ ภูมิใจไทยขวาง ยก กม.สอบสวนพิเศษไม่ให้อำนาจ ไม่เช่นนั้นดีเอสไอสามารถล้มการเลือก สว.ได้

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษโดยตำแหน่ง หรือบอร์ดดีเอสไอ กล่าวถึงการประชุมบอร์ดดีเอสไอในวันอังคารที่ 25 ก.พ. เพื่อพิจารณาเรื่องการให้ดีเอสไอเข้าสอบสวนข้อร้องเรียนกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ว่ามีความผิดปกติฯ ตามที่ดีเอสไอจะเสนอให้ที่ประชุมลงมติให้รับเป็นคดีพิเศษว่า ขอศึกษารายละเอียดที่ดีเอสไอจะส่งให้บอร์ดพิจารณาก่อน ยังพูดอะไรมากไม่ได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะนักกฎหมาย คิดว่าการสอบสวนกระบวนการเลือก สว.ว่าทำโดยมิชอบ ดีเอสไอสามารถเข้าไปสอบสวนได้หรือไม่  เพราะตามกฎหมายให้เป็นอำนาจของ กกต.  นายกสภาทนายความฯ ตอบว่า “หากมีการร้องคัดค้านการเลือก สว.ตามกฎหมาย กฎเกณฑ์เป็นเรื่องของ กกต. ส่วนเรื่องการไปทำผิดกฎหมายที่นอกเหนืออำนาจของ กกต. ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย ถ้ามันเข้ากฎเกณฑ์ตามที่กฎหมายดีเอสไอมีอำนาจ ดีเอสไอก็สามารถดำเนินการได้ ก็ต้องมาดูข้อกฎหมายกันในการประชุมวันอังคารนี้”

ถามย้ำว่า หากบอร์ดดีเอสไอมีมติให้รับเป็นคดีพิเศษ จะกลายเป็นเรื่องดีเอสไอเข้าไปทำเรื่องการเมืองหรือไม่ นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า "ประเด็นทางการเมืองผมไม่ทราบว่าจะมีประเด็นการเมืองอะไรหรือไม่ แต่อะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ควรต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการเมืองผมไม่อาจไปวิเคราะห์อะไรได้”

ซักว่าหากบอร์ดดีเอสไอมีมติให้ดีเอสไอเข้าสอบสวนได้ โดยมีมติให้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ  เกรงหรือไม่ว่าจะทำให้ สว.ยื่นดำเนินคดีบอร์ดดีเอสไอที่ลงมติรับเรื่องว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ผิดมาตรา 157 นายวิเชียรตอบว่า  เป็นสิทธิ์ของ สว. แต่จะไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ ก็ต้องดูข้อเท็จจริง สำหรับส่วนตัวตนนั้นขอดูรายละเอียดที่ดีเอสไอส่งมาก่อน

ด้านแหล่งข่าวที่เป็นหนึ่งในบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษอีกคนหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ได้รับหนังสือนัดประชุมบอร์ดดีเอสไอวันอังคารที่ 25 ก.พ.นี้แล้ว โดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้แนบเอกสารสำนวนการสอบสวนการเลือก สว.ดังกล่าวเข้ามาด้วยบางส่วน ยืนยันได้ว่าหากบอร์ดดีเอสไอมีมติให้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ จะสามารถชี้แจงกับสังคมได้ว่าไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือต้องการทำลายกลุ่ม สว.แต่อย่างใด เพราะเรื่องนี้จริงๆ มีกลุ่ม สว.สำรองที่ชื่อไม่ติดใน สว. 200 คนที่ กกต.ประกาศเมื่อปี 2567 มาร้องต่อดีเอสไอตั้งแต่ปี 2567 แล้ว มีการส่งพยานหลักฐานเข้าไปที่ดีเอสไอจำนวนมาก

ปัดการเมืองล็อบบี้

“การร้องหลังการประกาศรายชื่อ สว.เมื่อปี 2567 ข้อมูลที่ได้มาคือมีการร้องไปที่ กกต.ร่วมๆ 570 เรื่อง แต่ กกต.ยกคำร้องไป 270 คำร้อง โดย กกต.ก็ไม่ได้บอกกับสาธารณชนว่ายกคำร้องเพราะอะไร กลุ่ม สว.สำรองหรือคนที่พลาดจากการได้เป็น สว.เขาเลยไปร้องที่ดีเอสไอ ตอนแรกดีเอสไอก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเกรงจะมีปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจกับ กกต. แต่หากดีเอสไอมาร่วมสอบสวนด้วย แล้วผลสอบออกมาว่ากระบวนการเลือก สว.ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ  ทุกอย่างโปร่งใส ถามว่ามันก็เป็นผลดีกับ สว.เองไม่ใช่หรือ เท่ากับดีเอสไอร่วมฟอกให้เขาว่าได้มาเป็น สว.โดยชอบ ไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาร้องเรียน สว.ก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ถ้า สว.ไม่กังวลอะไร ทำไมต้องเกรงการถูกตรวจสอบ เพราะหากมีการบล็อกโหวต สว.แบบนี้ บ้านเมืองมันเดินไม่ได้ ดีเอสไอเขาต้องการเอาความจริงมาพูดมากกว่า”

แหล่งข่าวคณะกรรมการคดีพิเศษกล่าวต่อไปว่า จนถึงขณะนี้ยืนยันได้ว่าไม่ได้มีฝ่ายการเมืองมาล็อบบี้ให้กรรมการลงมติให้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษเพื่อจัดการกับ สว.สีน้ำเงินอย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกต โดยการลงมติของบอร์ดดีเอสไอในวันที่ 25 ก.พ. ต้องใช้มติของที่ประชุม ในวันดังกล่าว กรรมการบางส่วนได้เตรียมที่จะซักถามอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้แล้วว่าเรื่องนี้มีพยานหลักฐานแค่ไหน และดีเอสไอมีอำนาจเข้าสอบสวนเรื่องดังกล่าวได้ตามกฎหมายหรือไม่ และจะเกิดปัญหากับสำนักงาน กกต.หรือไม่ในเรื่องอำนาจหน้าที่ ตรงนี้อธิบดีดีเอสไอต้องตอบให้ได้ก่อน

“วันที่ 25 นี้ หากอธิบดีดีเอสไอชี้แจงเคลียร์หมด ทำให้บอร์ดเห็นว่ามีอำนาจทำได้ กฎหมายให้อำนาจไว้ ก็อาจจะมีมติให้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ แล้วก็แจ้งเรื่องไปยังสำนักงาน กกต.ว่าเขาเห็นว่าอย่างไร โดยกระบวนการสอบสวนของดีเอสไอจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก หากผลการสอบสวนพบว่าเรื่องมีมูล มีการเลือก สว.โดยมิชอบ ก็จะส่งข้อมูลไปให้ กกต.ประกอบการพิจารณา เพื่อว่าให้ กกต.พิจารณาว่าจะให้ใบเหลืองใบแดงกับ สว.คนที่เกี่ยวข้องกับการทำผิด    และอีกส่วนหนึ่งก็คือการดำเนินคดีอาญากับคนที่เกี่ยวข้องว่ามีการบล็อก มีการฮั้วเลือก สว. โดยหากดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ส่งสำนวนไปให้อัยการเพื่อฟ้องคดีอาญาต่อไป ซึ่งตรงนี้หากอัยการมีความเห็นด้วยกับดีเอสไอ ก็ต้องส่งฟ้องไปที่ศาลอาญาปกติ ไม่ใช่ศาลฎีกานักการเมือง ก็สู้คดีกันไปถึง 3 ศาล กว่าจะจบก็อีกหลายปี ซึ่งทั้งหมดต้องรอวันที่ 25 ก.พ.นี้ ที่คาดว่าจะมีกรรมการซักถามอธิบดีดีเอสไอกันจำนวนมากก่อนลงมติ ซึ่งประเด็นหลักๆ ก็คือ หนึ่ง ดีเอสไอมีอำนาจตามกฎหมายสามารถเข้าไปสอบสวนได้หรือไม่, สอง หากดีเอสไอเข้าไปสอบสวน จะมีปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจตามกฎหมายกับ กกต.หรือไม่ จะเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างสององค์กรหรือไม่ และสาม หากมีมติให้สอบสวน กลุ่ม สว.จะฟ้องบอร์ดหรือดีเอสไอได้หรือไม่”  แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคดีพิเศษระบุ

เครือข่าย สว.สีน้ำเงิน 160 คน

สำหรับ สว.ชุดปัจจุบัน พบว่าจากการเช็กข้อมูลล่าสุด มี สว.สีน้ำเงินที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับพรรคการเมืองหนึ่ง และมีผู้มากบารมีจังหวัดบุรีรัมย์คอยสนับสนุน มีประมาณ 130 คน แต่ยังสามารถระดม สว.ให้ลงมติในเรื่องสำคัญๆ ได้อีกประมาณ 30 คน ทำให้มีเครือข่าย สว.สีน้ำเงินตอนนี้ประมาณ 160 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นประธาน มีคณะกรรมการรวม 19 คน รวมทั้งตัวประธาน โดยกรรมการจะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกรรมการโดยตำแหน่ง ที่จะเป็นพวกข้าราชการประจำระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อัยการสูงสุด, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายกสภาทนายความฯ เป็นต้น

และอีกส่วนหนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  ที่ตั้งโดยมติ ครม.อีก 9 คน โดยมีการตั้งเมื่อ 21 พ.ย.2567 ยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร  ประกอบด้วย นายเพ็ชร ชินบุตร (ด้านเศรษฐศาสตร์), นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม (ด้านการเงินการธนาคาร), นางดวงตา ตันโช (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ), นายชาติพงษ์ จีระพันธุ (ด้านกฎหมาย), นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน (ด้านกฎหมาย), นางทัชมัย ฤกษะสุต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ด้านกฎหมาย),  พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง อดีตรอง ผบ.ตร. (ด้านการสอบสวนคดีอาญา), พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผช.ผบ.ตร. (ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน), พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก อดีตรอง ผบ.ตร. (ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล)

ภูมิใจไทยขวาง

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.) กล่าวถึงกรณีดีเอสไอมีหนังสือด่วน แจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวน และขอความเห็นการดำเนินคดี กรณีมีผู้ร้องต่อดีเอสไอเกี่ยวกับการฮั้วกันในการเลือก สว. และดีเอสไอได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เชื่อได้ว่ามีขบวนการดังกล่าวจริง และเข้าข่ายความผิดอาญาฐานอั้งยี่และความผิดฐานฟอกเงิน ดีเอสไอจึงประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวนในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการว่า ทราบว่าสำนักงาน กกต.ได้รับหนังสือฉบับนี้แล้ว และอยู่ระหว่างการประมวลเรื่องและจัดทำความเห็นของสำนักงานเพื่อเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาตามแนวทางปฏิบัติของสำนักงานที่ได้วางไว้

ส่วนที่ปรากฏหนังสือว่า สำนักงาน กกต.มีการตอบกลับไปที่ดีเอสไอว่า ยังไม่ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการ กกต.นั้น เป็นเพราะยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงาน กกต.

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายแสวง บุญมี    เลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 ก.พ.2568 ตอบกลับไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่องแจ้งการรับเรื่องการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง  หลังจากที่ได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือก สว.ที่ไม่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม จำนวน 3 เรื่อง ซึ่งในหนังสือตอบกลับของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ยังไม่ได้นำเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่

ด้านนายคารม พลพรกลาง สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในฐานะนักกฎหมาย แสดงความเห็นทางกฎหมายกรณีที่มีกลุ่มผู้สมัคร สว.ที่ไม่ได้รับเลือกไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยอ้างว่าการเลือก สว.มีการฮั้วกัน และมีแนวโน้มว่าจะรับเป็นคดีพิเศษว่า เรื่องนี้ต้องรับว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจมาก เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2545 นั้น โดยมีเจตนาเพื่อเป็นพนักงานสอบสวนในคดีอาญา ในคดีอาชญากรรมที่มีผลกระทบเศรษฐกิจ มีการกระทำความผิดที่ซับซ้อน เป็นเครือข่ายอาชญากรรมเดิมนั้น เดิมผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญาทุกประเภทคือพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ดีเอสไอไม่มีอำนาจ

จากพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษฯ  นั้น กำหนดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้กำกับ   เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น จะเห็นว่าต้องการให้มีพนักงานสอบสวนในคดีอาญาที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าคดีอาญาทั่วไป แต่ไม่น่าจะรวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้เฉพาะ  และข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นเพียงพนักงานสอบสวน เหมือนพนักงานสอบสวนคดีอาญาทั่วไป การฟ้องคดีจึงต้องส่งผ่านพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามปกติของการฟ้องคดี

นายคารมกล่าวว่า การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนัดประชุมคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ ในวันที่ 25  กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีที่มีผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แต่ไม่ได้รับเลือกมาร้องและอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ชอบนั้น จึงมีคำถามทางกฎหมายว่า

1.แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะบอกว่า อาจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา สามารถทำได้ เพราะถือกฎหมายคนละฉบับ แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งและละเอียดแล้ว การพ้นตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาภายหลังจาก กรรมการการเลือกตั้งรับรองแล้ว ย่อมเป็นไปตามมาตรา  111 ของรัฐธรรมนูญ แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการดำเนินคดี ก็อาจทำได้เฉพาะบุคคล แต่แม้จะดำเนินคดีอาญาเฉพาะบุคคล ในสมัยประชุมก็ต้องขออำนาจจากสภา หากจะจับกุมคุมขังในสมัยการประชุมสภาก็ไม่อาจทำได้

2.คดีที่อ้างว่าการเลือกตั้ง สว.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองและยืนยันแล้วว่าไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามคำกล่าวหาหรือคำร้อง และ กกต.เป็นองค์กรที่จัดการเลือกตั้งได้รับรองแล้ว แต่หากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษ และให้มีการดำเนินคดีอาญากับ สว. จะถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายไหม

ดีเอสไอล้มเลือก สว.

3.การที่รัฐมนตรียุติธรรมอ้างว่า มีสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนถึง 138 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีจนต้องพ้นตำแหน่งทั้ง 138 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา ก็ต้องมีการเลือกวุฒิสภาขึ้นใหม่ เพื่อให้ครบ 200 คนถึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ย่อมแปลได้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถล้มการเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้ ทั้งที่สมาชิกวุฒิสภามาตามรัฐธรรมนูญ

4.การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและเป็นผู้บังคับบัญชากรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเพียงพระราชบัญญัติ และมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญมาดำเนินการ ซึ่งหากเป็นไปตามที่มีผู้สมัคร สว.ที่ไม่รับการเลือกตั้งร้องมา ก็อาจทำให้ สว.ต้องหลุดไป หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ถึง 138 คนนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญได้ไหม และมีผลอย่างไร หรือเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป

“ประเด็นเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญทางกฎหมายอย่างยิ่ง สามารถนำเอาไปทำวิทยานิพนธ์ได้เลย เพราะเป็นใช้อำนาจขององค์กรทางการบริหารมาล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ดูสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นจุดจบของฝ่ายนิติบัญญัติ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถทำได้ เพราะถ้าตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภาจนต้องหลุดไป ทั้งที่ กกต.รับรองไปแล้ว  ต่อไปก็จะมีการตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยมีการอ้างว่ามีการฮั้วการเลือกตั้ง  อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะใหญ่กว่าอำนาจของประชาชน ผมเชื่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายตอนร่างขึ้นไม่น่าจะเป็นแบบนี้" นายคารมกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

องค์กรต้านโกง แฉยับผู้รับเหมา ต้นเหตุตึกถล่ม!

อัยการไขปริศนาตึกถล่มใครต้องรับผิดชอบ ข้อ 11 ระบุชัดแม้ตึกถล่มเพราะเหตุสุดวิสัยแผ่นดินไหว กิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทยก็ต้องรับผิดสร้างใหม่เอง “กทม.