“แพทองธาร” วิ่งรอกประชุมทีมที่ปรึกษา 2 รอบในวันเดียว “ประเสริฐ” รีบดับกระแส 7 พรรคการเมืองยื่นแก้ปัญหาราคาข้าวเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี “สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย” ออกแถลงการณ์เมิน 3 ข้อเสนอแก้ราคาข้าวดิ่ง วงเงิน 1.89 พันล้านบาท ซัดแก้ไขไม่ตรงจุด เปิดช่องหากิน ชง 5 ข้อเสนอ ย้ำราคาไม่ต่ำกว่า 10,000-12,000 บาท/ตัน
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.2568 ในเวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก เพื่อประชุมทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ โดยมีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา, นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา, นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา, นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา และหัวหน้าฝ่ายเลขานุการนายกฯ ฝ่ายบริหาร เข้าร่วม เพื่อหารือแนวทางการปรับปรุงกฎหมายในการประกอบธุรกิจ ก่อนนายกฯ เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่บนตึกไทยคู่ฟ้า และต่อมาในเวลา 15.20 น. นายกฯ ออกจากทำเนียบฯ ไปยังบ้านพิษณุโลกอีกครั้ง เพื่อประชุมทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ในเรื่องนโยบายของรัฐบาล
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงกรณี 7 พรรคการเมืองเสนอญัตติด่วน เพื่อให้สภาพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่เพาะปลูกข้าวเนื่องจากราคาตกต่ำ เกี่ยวข้องกับการเขย่าเก้าอี้ของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์หรือไม่ ว่าต้องแยกประเด็น เนื่องจากเมื่อวานที่เสนอญัตตินี้ขึ้นมา เนื่องจาก สส.ไปรับฟังปัญหามาจากประชาชน โดยเฉพาะราคาข้าว ที่สะท้อนมาจากหลายจังหวัด และเห็นว่าพรรคแต่ละพรรคน่าจะเห็นพ้องต้องกัน เพราะปัญหาเหล่านี้ต้องนำมาพูดกันในเวทีของสภา เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้รับทราบและแก้ไข ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ไม่น่าเกี่ยวข้องกัน เพราะเมื่อมีปัญหาก็แก้ไขกันไป เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติรับฟังปัญหามาก็สะท้อนให้ฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นเรื่องไหนเข้าสภาก็ขออย่าไปมองว่าจะกระทบต่อการปรับโครงสร้างทางฝ่ายบริหาร
ส่วนสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่ออก 3 มาตรการดูแลผลผลิตข้าวนาปรัง ระบุว่า ตามที่ได้ร่วมประชุมคณะอนุ นบข. เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2568 โดยมีนายพิชัยเป็นประธานการประชุม และได้ร่วมพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านราคาข้าวนาปรังปีการผลิต 2568 ดังนี้ 1.ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ระยะเวลา 1-5 เดือน ในพื้นที่ 72 จังหวัด ปริมาณ 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219.13 ล้านบาท 2.การเพิ่มช่องทางการตลาดในประเทศโดยเปิดจุดรับซื้อ รัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท ผู้ประกอบการช่วยซื้อในราคานำตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 300,000 ตัน ในพื้นที่ 72 จังหวัด งบประมาณ 150 ล้านบาท เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะขายเลย และ 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว ช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการ 6% สำหรับผู้ประกอบการเก็บสต๊อก 2-6 เดือน และผู้ประกอบการรับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 200 บาท/ตันขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524.40 ล้านบาท โดยทั้ง 3 มาตรการ ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท
ทั้งนี้ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย โดยนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย, นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ชี้แจงรายละเอียด ข้อจำกัด และขีดความสามารถของมาตรการดังกล่าว ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับการใช้งบประมาณ การเปิดช่องโอกาสให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย รวมถึงความไม่พร้อมในเรื่ององค์ประกอบในสถาบันที่ร่วมโครงการ และที่สำคัญ มาตรการต่างๆ ยังไม่ตรงตามความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ดังนั้น เพื่อเป็นไปตามมติกรรมการสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จึงเห็นพ้องว่า มาตรการทั้งหมดมิได้ตอบสนองความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยแท้จริง จึงขอให้คณะอนุ กบข.ทบทวนและวางมาตรการใหม่ตามที่เกษตรกรร้องขอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และป้องกันการสุ่มเสี่ยงทางเสถียรภาพของรัฐบาล
โดยสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ขอสรุปความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ทำนาปรังปีการผลิต 2567/68 ดังนี้ 1.ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการประกันราคาผลผลิตข้าวเปลือกเจ้าในฤดูนาปรัง ปีการผลิต 2568 โดยความชื้นไม่เกิน 15% ราคาไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท/ตัน ความชื้นไม่เกิน 25% ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน 2.ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีงดเผาตอซังฟางข้าว ไร่ละ 500 บาท ตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ 3.ขอให้ภาครัฐควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา และน้ำมันเชื้อเพลิง 4.ขอให้ภาครัฐพิจารณาหาแนวทางชดเชยพื้นที่เกษตรกรที่ใช้เป็นทุ่งรับน้ำ ตามที่เกษตรกรร้องขอ 5.ขอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการไร่ละ 1,000 บาทให้ยังคงเดิม อันเป็นการวางมาตรการความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภาครัฐต้องพิจารณาถึงกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวไปแล้วให้ได้รับสิทธิ์ในมาตรการดังกล่าวทุกมาตรการโดยเท่าเทียมกัน
ส่วนนายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วนจากสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาสินค้าหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารสด ได้รับผลกระทบโดยตรงจากต้นทุนวัตถุดิบและโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ ผัก และอาหารทะเลปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและร้านอาหารที่ต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น
“ขอเตือนว่า หากสถานการณ์นี้ยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งในแง่ของกำลังซื้อที่ลดลงและต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การควบคุมราคาสินค้าจำเป็น การลดภาษีนำเข้า หรือการสนับสนุนผู้ผลิตภายในประเทศให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ของแพงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว มิฉะนั้นประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และผู้ประกอบการรายย่อยอาจต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น” นายชัชวาลระบุ
นายชัชวาลกล่าวอีกว่า ปัญหาของเกษตรกรก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เกษตรกรต้องขายสินค้าเกษตรในราคาที่ตกต่ำ ขายได้ถูก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ปัญหานี้ต้องได้รับความสนใจจากรัฐบาลและผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดมาตรการช่วยเหลือที่เป็นธรรมและยั่งยืน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนคาดอ่วม9แสนล. จักรภพชงสทร.คุยทรัมป์
“พิชัย” รับสภาพตลาดหุ้นดิ่งเพราะผลพวงนโยบายภาษีทรัมป์ เชื่อเป็นช่วงสั้นๆ
บทสรุปบิมสเทค รับรอง6เอกสาร เมินจุ้นเมียนมา
เริ่มแล้วประชุม 7 ชาติ BIMSTEC ผู้นำทุกประเทศหารือแบบตัวต่อตัวในรอบ 7 ปี
แพทยสภาเลื่อนคดีชั้น14
กลิ่นทะแม่ง! แพทยสภาออกประกาศเลื่อนคดีชั้น 14 อ้าง รพ.ราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจเพิ่งส่งเอกสารใหม่มาจำนวนมากต้องใช้เวลา
ยังไม่ชัดสาเหตุตึกสตง.ถล่ม
ผ่าน 1 สัปดาห์เหตุตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว "ผู้ว่าฯ กทม." เผยลุยใช้เครื่องมือหนักเปิดทางเพิ่ม ขอโทษยังเจาะไปไม่ถึงผู้ที่คาดว่าติดอยู่ไม่ได้
หึ่ง!บ่อนแลกนิรโทษ พท.หวังจบดีลก่อนปิดสมัยประชุม/‘ชูศักดิ์’ชี้6-8ด.คลอด
"ภูมิธรรม" สวนฝ่ายค้านจินตนาการ กล่าวหา รบ.เร่งกาสิโนให้นายทุน
เริ่มแล้ว ประชุม 7 ชาติ ผู้นำบิมสเทค หนุนกระชับความร่วมมือเศรษฐกิจ
เริ่มแล้วประชุม 7 ชาติ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล BIMSTEC ผู้นำทุกประเทศหารือแบบตัวต่อตัวในรอบ7ปี ครั้งแรก พร้อมหนุนกระชับความร่วมมือเศรษฐกิจ ขณะที่เมียนมาเดินหน้าแก้ปัญหาทุกมิติร่วมกันกับไทย ทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ คอลเซ็นเตอร์ และการป้องกันวาตภัย