สั่งจัดหาแรงงานไปซาอุ ยัน‘บิ๊กตู่’ลุยฟื้นสัมพันธ์

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ  เร่งผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานไทย-ซาอุฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที ย้ำต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน ยันเป็นประวัติศาสตร์ผลจากความพยายามของรัฐบาลไทยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา "ทิพานัน" เปิดไทม์ไลน์ "บิ๊กตู่" ลุยเองฟื้นสัมพันธ์ "ไทย-ซาอุฯ" วอนฝ่ายการเมืองอย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ เห็นแก่ประโยชน์ชาติและประชาชน เปิดประตูโอกาสลงทุนในซาอุฯ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการจัดหาแรงงานไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมทำงานในซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ซึ่งนอกจากนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกับขั้นตอนดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี เพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญนั้น

นายธนกรกล่าวว่า ในการเดินทางครั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานของไทย ได้หารือทวิภาคีร่วมกับนายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี (Ahmad Sulaiman ALRajhi) รมว.ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะผลักดันความร่วมมือด้านแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการต่างๆ ทั้งธุรกิจโรงแรม สุขภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่

"ซึ่งผลจากการหารือทวิภาคีดังกล่าว  ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานแรงงานในกรุงริยาด จะเป็นผู้ประสานงานหลักร่วมกับฝ่ายซาอุดีอาระเบีย โดยจะดำเนินการตามข้อหารือต่อไปเพื่อพิจารณาแรงงานไทยเข้าทำงานตามความประสงค์ของซาอุฯ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแรงงานไทยเข้าทำงานอยู่ในซาอุฯ จำนวน 1,345 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงาน และระบบ Re-entry โดยมีตำแหน่งที่เข้าทำงานในหลายประเภท เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค ช่างเครื่องยนต์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป คนงานควบคุมเครื่องจักร ผู้ช่วยกุ๊ก แม่บ้าน เป็นต้น"

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวอีกว่า ในเรื่องความร่วมมือด้านแรงงานกับซาอุฯ เป็นความท้าทายที่สำเร็จจากความพยายามของรัฐบาลในการปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ซาอุฯ เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในด้านการยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย กระตุ้นให้บริษัทจัดหาแรงงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานปรับปรุงการจัดหาแรงงานที่เป็นธรรม ไม่โก่งราคา คุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการให้สอดคล้องกับที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียต้องการ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการเดินทางแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรี บริษัทจัดหาแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านแรงงานระหว่างไทยและซาอุฯ มากขึ้น เพื่อเร่งรัดการดำเนินการจนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 “นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การจัดหาแรงงานไทยนั้นต้องทำทันที และต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนภายใน 2 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นแรงงานที่มีศักยภาพ มีความพร้อมของไทย ซึ่งความสำเร็จจากการหารือร่วมกับซาอุฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลจากความตั้งใจและความพยายามในการดำเนินการของรัฐบาลไทยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้ไปจะเกิดความร่วมมือในมิติอื่นๆ  อย่างต่อเนื่อง เป็นผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อประเทศและประชาชน” นายธนกรกล่าว

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีหลักฐานในเชิงประจักษ์ที่น่าภาคภูมิใจถึงเสียงชื่นชมผลงานการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ เพราะมีเบื้องหลังที่เกิดมาจากความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างแท้จริง โดยมีจุดเริ่มต้นฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุฯ อย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รมว.การต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในขณะนั้น ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ

จากนั้น นายกฯ ได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำ G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 นอกจากนี้ รมว.การต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายยังมีการพบหารือกันเป็นระยะๆ เพื่อหารือรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยมีการเยือนที่สำคัญ คือ การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ตามคำเชิญของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รมว.การต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม 2563

กระทั่งล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 จนมีผลการเยือนที่สำคัญคือ การประกาศการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติ และพัฒนาความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และแรงงาน

 “การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Vision 2030) ถือเป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทย รวมถึงแรงงานไทยด้วย แต่ก่อนที่จะเข้าไปมีโอกาสได้ ก็ต้องมีรากฐานความสัมพันธ์ที่ต้องประสานร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความสัมพันธ์อันดีต่อกันก่อน ไม่ใช่ปุบปับทำได้เลย เบื้องหลังความสำเร็จในวันนี้ จึงมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นคีย์แมนสำคัญ มาโดยตลอด และต้องละเอียดรอบคอบ เอาใจใส่ ติดตามทุกมิติทางการทูต ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาด้อยค่าหรือพยายามบิดเบือนกันได้ เพียงเพื่อหวังผลในทางการเมืองเท่านั้น"

น.ส.ทิพานันกล่าวด้วยว่า บางพรรคการเมืองอาจหวั่นไหวเป็นพิเศษ แต่วันนี้นายกรัฐมนตรีมองข้ามเรื่องการเมือง แต่เร่งแก้ไขปัญหาของประเทศ แก้ไขปัญหาเศรษกิจ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เปิดประตูโอกาสให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ นักลงทุนและแรงงานไทย ฝ่ายการเมืองจึงไม่ควรปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ เพราะพยายามปิดอย่างไรก็ปิดไม่มิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์