เคาะโควิด‘โรคประจำถิ่น’

ไทยติดเชื้อใหม่ 8,078 ราย ดับเพิ่ม 22 คน คกก.โรคติดต่อเคาะเกณฑ์จ่อประกาศโควิด "โรคประจำถิ่น"  ป่วยไม่เกินหมื่นรายต่อวัน เสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% เข้า รพ.น้อยกว่า 10% พร้อมไฟเขียวคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ ศบค.ชุดใหญ่นัดถกต้น ก.พ. นายกฯ และคณะตรวจโควิดรอบแรกเป็นลบ ยังกักตัวทำงานที่บ้านพัก ส.ส.ปชป.ติดเชื้ออีกราย

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,078 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,816 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,772 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 44 ราย, มาจากเรือนจำ 37 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 225 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,595 ราย อยู่ระหว่างรักษา 82,760 ราย อาการหนัก 548 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 102 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 22 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 12 ราย หญิง 10 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 16 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,407,022 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,302,164 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,098 ราย ยอดการฉีดวัคซีนวันที่ 26 ม.ค. เพิ่มขึ้น 440,671 โดส ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 113,622,267 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 363,064,303 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,645,889 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,427 ราย,  สมุทรปราการ 692 ราย, นนทบุรี 460 ราย, ชลบุรี 334 ราย, ภูเก็ต 332 ราย,  ขอนแก่น 247 ราย, นครศรีธรรมราช 204 ราย, ปทุมธานี 195 ราย, ราชบุรี 187 ราย, อุดรธานีและลพบุรี จังหวัดละ 129 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ภายหลังกลับจากการเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ยังคงปฏิบัติงานจากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข โดยใช้ระบบซีลรูต ต้องแยกตัวเองและเว้นระยะห่าง ซึ่งจากการตรวจ RT-PCR ในรอบแรก ผลตรวจโควิด-19 ของนายกฯ และคณะ พบว่าไม่ติดเชื้อ และจะมีการตรวจคัดกรองเชื้ออีกครั้งในวันที่ 30 ม.ค.นี้ ซึ่งระหว่างนี้ นายกฯ จะยังคงปฏิบัติงานภายในบ้านพัก ก่อนที่จะเริ่มงานที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 31 ม.ค.

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ฝากเชิญชวนคนไทยรณรงค์เทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2565 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ก.พ.  ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 พร้อมขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในช่วง "วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว" หลายครอบครัวมีการรวมกลุ่มญาติพี่น้อง ซึ่งอาจมีพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19 จึงขอความร่วมมือทั้ง 3 วันนี้ สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล “DMHTTA” อย่างเคร่งครัด

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม

นายอนุทินกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ซึ่งมาตรการที่ สธ.ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด สธ.จะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และ 2.เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะฉีดให้ตามสูตรที่กำหนด เพื่อให้บริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ได้ถูกต้อง ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเป็นวัคซีนที่ดี รวมทั้งได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส และไฟเซอร์อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 โดยในเดือน ก.พ. จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น จึงขอความร่วมมือช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด

ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อเห็นชอบแนวทางปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นว่า ยังมีอีกหลายขั้นตอนในการประเมิน คาดว่าใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งที่จะมีการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นอย่างเป็นทางการ โดยการประเมินอยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเป็นผู้ประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ อาการ และภาพรวมทุกมิติ ซึ่งในต้นเดือน ก.พ. จะมีการนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ หารือถึงความพร้อมในทุกด้านให้สอดคล้องกัน ทั้งเรื่องคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ การรับสิทธิการรักษาของประชาชน และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเหมือนโรคประจำถิ่นโรคอื่นๆ ที่ได้ประกาศไว้แล้ว ก่อนจะประกาศอย่างเป็นทางการ หากประกาศสิทธิการรักษาต้องควบคู่มาด้วยกัน

วันเดียวกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า ติดโควิด  โดยหมอได้ยืนยันผลการตรวจแบบ RT-PCR จึงเเจ้งพี่น้องประชาชนที่ได้สัมผัสใกล้ชิดตนในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้สังเกตอาการ และปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ซึ่งไม่ทราบว่ารับเชื้อหรือติดจากที่ไหน ส่วนอาการเจ็บคอเล็กน้อยเหมือนเป็นหวัด ตอนนี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท มีอาการคล้ายหวัด และที่ผ่านมาโชคดีไม่ได้เข้าร่วมประชุมพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 25 ม.ค. และไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26 ม.ค.ด้วย ไม่เช่นนั้นคงต้องกักตัวกันเป็นจำนวนมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทองธาร' ขนคณะลงพื้นที่ภูเก็ตตัดริบบิ้นเปิดงานพิธีแสดงเรือนานาชาติ!

'นายกฯ' ลงพื้นที่ภูเก็ตพรุ่งนี้ ขอแก้ไขปัญหาให้ครบทุกวงจร เพิ่มศักยภาพทุกมิติทั้งท่องเที่ยว ยกเป็นต้นแบบทำให้ได้ทุกจังหวัด