"วันมูหะมัดนอร์" ขอคุยวิป 3 ฝ่าย เคาะวันถกใหม่ ระบุ 3 ญัตติยังค้างพิจารณาอยู่ "เพื่อไทย" ยันทำสภาล่มเพื่อรักษาร่างแก้ รธน. เล็งเสนอญัตติตัวเองให้ ปธ.รัฐสภายื่นศาล รธน.ตีความทำประชามติกี่ครั้ง เชื่อไม่เป็นญัตติซ้ำหมอเปรม "ปชน." ควันออกหู จี้นายกฯ คุยพรรคร่วมผลักดันแก้ รธน. ลั่นทำไม่ได้ควร "ยุบสภา" คืนอำนาจ ปชช. "อิ๊งค์" นิ่งรูดซิปปาก "นิกร" แนะช่องผ่าทางตัน ถอน 2 ร่างออกรอทําประชามติก่อน
ที่รัฐสภา วันที่ 14 ก.พ.2568 มีการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะเป็นผู้เสนอ และร่างของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ภายหลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์ประชุมไม่ครบจนทำให้ต้องปิดประชุม
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา เวลา 08.30 น. พรรคเพื่อไทย (พท.) นัดประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท., นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธานการประชุม รวมทั้งมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และรองหัวหน้าพรรค รทสช.
ต่อมาเวลา 09.40 น. การประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ….. เริ่มขึ้น โดยนายวันมูหะมัดนอร์ได้แจ้งก่อนเข้าวาระว่า ได้มีการกำหนดเวลาพิจารณาทั้งหมด 19 ชั่วโมง โดยวิปแต่ละฝ่ายได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จึงอนุญาตให้นายพริษฐ์อภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติ ซึ่งนายพริษฐ์กำลังเริ่มอภิปราย แต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรค พท. ได้ลุกขึ้นขอหารือ แต่ยังไม่ทันพูดนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ก็ประท้วงประธานรัฐสภาในการควบคุมการประชุมเช่นกัน เพราะขณะนี้นายพริษฐ์ได้เข้าสู่ระเบียบวาระแล้ว ถ้าสมาชิกหารือควรจะรอให้นายพริษฐ์เสนอญัตติให้จบก่อน
นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงกับ นพ.ชลน่านว่า เข้าระเบียบวาระแล้ว ดังนั้นหลังจากนายพริษฐ์อภิปรายจบ เดี๋ยวจะให้พูด แต่ไม่ใช่หารือเรื่องอื่น หากหารือเรื่องอื่นรัฐธรรมนูญจะตก ตนจึงไม่อนุญาต แต่ นพ.ชลน่านขอใช้สิทธิ์ประท้วงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาและเพื่อนสมาชิกรัฐสภา ว่าตนไม่เชื่อในข้อบังคับที่ประธานจะเข้าสู่ระเบียบวาระในขณะนี้ เพราะตนเชื่อว่าองค์ประชุมที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระได้ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ตัดบทพร้อมกล่าวว่า ตามข้อบังคับระบุว่า หากสมาชิกมาลงชื่อครบองค์ประชุมแล้วก็ต้องดำเนินการประชุมไป ซึ่งขณะนี้มาร่วมลงชื่อเกินองค์ประชุมแล้ว ตนก็เปิดประชุม ไม่ทราบว่าผิดข้อบังคับข้อใด
นพ.ชลน่านแจ้งว่า เป็นไปตามข้อบังคับอย่างนั้นจริงๆ แต่เมื่อเปิดประชุมได้แล้วการจะพิจารณาเรื่องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ องค์ประชุมที่อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ต้องครบด้วย เพราะฉะนั้นตนขอประท้วง และให้ประธานวินิจฉัย แต่นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงสวนขึ้นว่า สมัยนายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา เคยมีการเสนอเรื่องอย่างนี้แล้ว ซึ่งประธานได้วินิจฉัยว่าเมื่อองค์ประชุมครบก็เปิดประชุมได้
"ถ้าดำเนินการประชุมในระหว่างนั้นสมาชิกเห็นว่าองค์ประชุมไม่ครบ ก็ใช้สิทธิ์นับองค์ประชุมได้ แต่หน้าที่ประธานเมื่อองค์ประชุมครบจำนวนก็ต้องเปิดประชุมตามระเบียบวาระ และถ้านายพริษฐ์เสนอไปจะจบหรือไม่จบ ท่านสามารถใช้สิทธิ์ แต่ถ้าท่านไม่ใช้สิทธิ์นับองค์ประชุม ถือว่าผมดำเนินการตามข้อบังคับแล้ว ยืนยันว่าทำหน้าที่ตามข้อบังคับ" นายวันมูหะมัดนอร์ระบุ
สภาล่มซ้ำแก้ รธน.ไม่ถึงฝั่ง
อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่านยังกล่าวว่า ถ้าตนไม่ทำอย่างนี้ก็ไม่มีโอกาสได้พูดเลย ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ เพราะฉะนั้นขอเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนที่ผู้เสนอจะอภิปรายตามระเบียบวาระ
นายวันมูหะมัดนอร์จึงแจ้งว่า นพ.ชลน่านเสนอให้นับองค์ประชุม และมีผู้รับรองถูกต้อง ทำให้นายปกรณ์วุฒิประท้วงว่า ขอประท้วงให้ควบคุมการประชุม เพราะประธานได้วินิจฉัยไปแล้วว่านายพริษฐ์เข้าสู่ญัตติไปแล้ว แต่ นพ.ชลน่านใช้สิทธิ์ประท้วง ทั้งที่ประธานได้วินิจฉัยไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ นพ.ชลน่านพูด ชัดเจนว่าจงใจที่จะทำผิดข้อบังคับ เพื่อที่จะเสนอญัตติแทรกเข้ามา จึงขอให้ประธานวินิจฉัยว่าได้เข้าสู่ญัตติไปแล้ว ไม่มีสมาชิกมีสิทธิ์ที่จะเสนอญัตติใดๆ แทรก แต่ นพ.ชลน่านยืนยันว่าสิ่งที่ตนเสนอถูกต้องตามที่ประธานวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความวุ่นวาย เพราะนายพริษฐ์ได้พยายามอธิบายที่จะเดินหน้าแถลงเสนอญัตติ ในส่วน สส.พรรค พท.ก็ได้ประท้วงและขอให้นับองค์ประชุมก่อนเสนอญัตติ
นายวันมูหะมัดนอร์จึงวินิจฉัยว่า แม้ว่าจะให้แถลงญัตติแล้ว แต่เมื่อมีการเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมสามารถทำได้ และประธานต้องดำเนินการนับองค์ประชุมโดยไม่มีเหตุผลอะไร เพราะการเสนอนับองค์ประชุมเป็นเอกสิทธิ์ พร้อมกับเรียนสมาชิกรัฐสภากดบัตรแสดงตน
“เจตนาผมเมื่อองค์ประชุมครบต้องเปิดการประชุม เป็นไปตามข้อบังคับ หากมีสมาชิกขอนับองค์ประชุม ตรวจสอบองค์ประชุม ผมต้องดำเนินการ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ ระหว่างนับองค์ประชุมต้องทำให้จบก่อนดำเนินการต่อไปได้” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
ทั้งนี้ ได้มีสมาชิกรัฐสภายกมือประท้วงจำนวนมาก แต่นายวันมูหะมัดนอร์ไม่อนุญาต พร้อมบอกว่า จะให้สิทธิประท้วงทุกคน แต่หลังจากที่นับองค์ประชุมแล้วเสร็จ และได้ปิดไมโครโฟนของสมาชิกรัฐสภา
นายพริษฐ์ได้ขอหารือว่า การเสนอนับองค์ประชุมที่ผ่านมามีการให้หารือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ให้สิทธิเพื่ออธิบายให้กับสมาชิกรัฐสภาที่เสนอขอนับองค์ประชุมได้รับทราบ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า "หากองค์ประชุมไม่ครบ ขอให้ไปแถลงกับสื่อมวลชน ผมเข้าใจคุณพริษฐ์ถึงบรรจุ คุณไม่ต้องส่ายหัว หากผมไม่จริงใจก็จะไม่บรรจุ ผมให้ความสำคัญกับคุณ แต่คุณไม่ให้ความสำคัญกับประธานเลย เราจะดื้อเอาตามใจของแต่ละคนไม่ได้ ท่านคงไม่ใส่ร้ายผมว่าไม่เป็นกลาง หากไม่เป็นกลางคงไม่บรรจุวาระ”
จากนั้น น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. เสนอให้นำองค์ประชุมโดยการขานชื่อ ทำให้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า การนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อเป็นไปตามข้อบังคับ แต่ข้อบังคับข้อที่ 56 กำหนดว่า การนับองค์ด้วยการขานชื่อ ต้องให้รัฐสภาอนุมัติ หากรับญัตติดังกล่าวต้องถามให้สมาชิกรัฐสภาอนุญาตและต้องตรวจสอบองค์ประชุม ทำให้นายปกรณ์วุฒิขอให้พักการประชุม เพื่อให้ทุกฝ่ายหารือร่วมกัน นายวันมูหะมัดนอร์จึงสั่งพักการประชุม 20 นาที ในเวลา 10.10 น. หลังจากที่ประชุมได้เปิดประชุมไปเพียง 30 นาที
เวลา 10.35 น. การประชุมร่วมรัฐสภากลับมาประชุมอีกครั้งหลังจากที่พัก 20 นาที โดยนายพริษฐ์อภิปรายว่า ทราบถึงข้อกังวลของสมาชิกรัฐสภาในซีกรัฐบาลในการเดินหน้าพิจารณาแก้ไขร่าง รธน. 2 ฉบับในวันนี้ และยืนยันว่าในฐานะตัวแทนของพรรค ปชน. เราไม่ได้ข้อกังวลดังกล่าว และมองว่าสามารถเดินหน้าต่อไปด้วยได้ แต่เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้จากซีกรัฐบาล ก็ได้มีการหารือกันว่าพอจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากเราจะเดินหน้าหารือเรื่องนี้ต่อและไม่เร่งนับองค์ประชุม ขอให้พักอีก 10 นาที
นายวัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรค พท. ได้เสนอขอให้นับองค์ประชุมโดยการเสียบบัตร แทนการขานชื่อ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์กดออดเรียกสมาชิกเพื่อจะขอมติว่าจะตรวจสอบองค์ประชุมด้วยวิธีการขานหรือเสียบบัตร ผลปรากฏว่ามีองค์ประชุมจำนวน 175 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ขณะที่มียอดผู้เข้าประชุม 620 คน
ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. พยายามที่จะขอให้นับใหม่ แต่ไม่เป็นผล ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์แจ้งว่าเมื่อองค์ประชุมไม่ครบขอปิดการประชุม และปิดในเวลา 10.47 น.
ปชน.หัวเสียจี้นายกฯ ยุบสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบสมาชิกรัฐสภาที่แสดงตนในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 176 คน แบ่งเป็น พรรค ปชน. แสดงตน 139 คน ไม่แสดงตน 8 คน, พรรค พท. แสดงตน 2 คน ไม่แสดงตน 140 คน, พรรค ภท. ไม่แสดงตน 69 คน, พรรค รทสช. ไม่แสดงตน 36 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงตน 2 คน ไม่แสดงตน 22 คน, พรรคกล้าธรรม ไม่แสดงตน 25 คน, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แสดงตน 2 คน ไม่แสดงตน 18 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แสดงตน 1 คน ไม่แสดงตน 9 คน, พรรคประชาชาติ แสดงตน 1 คน ไม่แสดงตน 8 คน, พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ไม่แสดงตน 6 คน, พรรคชาติพัฒนา ไม่แสดงตนทั้ง 3 คน, พรรคไทรวมพลัง ไม่แสดงตนทั้ง 2 คน, พรรคไทยก้าวหน้า ไม่แสดงตน 1 คน, พรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่แสดงตน 1 คน, พรรคเป็นธรรม แสดงตน 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย ไม่แสดงตน 1 คน ส่วน สว.มีผู้แสดงตน 28 คน ไม่แสดงตน 171 คน
นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่มอีกครั้งว่า แม้องค์ประชุมล่ม แต่ถือว่าญัตติยังคงค้างการพิจารณาจำนวน 3 ญัตติ คือญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติ และญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ส่วนจะมีการประชุมพิจารณาเมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ตนและวิป 3 ฝ่ายจะต้องประชุมนัดกันใหม่อีกครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อม
พรรคเพื่อไทย โดยนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พร้อมคณะ แถลงข่าวหลังองค์ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมล่มเป็นวันที่สองว่า เป้าหมายของพรรค พท.จะรักษาร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้ไว้ให้อยู่ในระเบียบวาระได้มากที่สุด ไม่ให้ถูกตีตก ซึ่งวันนี้มีท่าทีจะเปิดประชุมเพื่อพิจารณาต่อ ทุกคนรู้คำตอบแล้วว่าถ้าพิจารณาแล้วลงมติก็ต้องตกไป จึงทำวิธีการที่ไม่อยากทำ คือไม่เป็นองค์ประชุม และในที่สุดการประชุมวันนี้ไม่สามารถดำเนินการไปได้ เมื่อไม่ได้ร่างนั้นก็ยังอยู่ เราจะพยายามนำสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาตีความอีกครั้งหนึ่งให้ได้ ไม่ใช่ให้ค้างอยู่
นายสุทินกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนบอกว่าเคยยื่นไปแล้วแต่ศาลไม่รับว่า ตอนนั้นยังไม่มีข้อขัดแย้ง เพราะยังไม่เข้าสู่สภา แต่วันนี้เราจึงทำให้องค์ประกอบนั้นชัด คือยื่นเข้าสภาและมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว ฝ่ายหนึ่งบอกบรรจุไม่ได้อีกฝ่ายบอกบรรจุได้ จึงเชื่อว่าสาเหตุองค์ประกอบที่ครบแล้วศาลจะรับและตีความออกมา เราหวังอย่างนั้น และจำเป็นต้องเดินแบบนี้ เราต้องลงทุน ซึ่งอาจมีคนที่ไม่เข้าใจเรา ก็ยอมให้ตำหนิ แต่เชื่อว่าเมื่อจบไปสู่เป้าหมายแล้วทุกคนจะเข้าใจเรา
ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรค พท. กล่าวว่า การยื่นให้ศาล รธน.ตีความ พรรคจะรวบรวมรายชื่อให้เกิน 40 คน ซึ่งเรามี สส.จำนวนมากอยู่แล้วเพื่อเสนอญัตติใหม่เข้ามาบรรจุในระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาลำดับที่ 4 โดยจะรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมพิจารณาให้เร็วที่สุด โดยจะไม่ใช้ญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ที่เสนอไว้ เพราะอยากทำใหม่เลยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
"ญัตติของพรรค พท.สามารถที่จะนำมาพิจารณาได้ ไม่เป็นญัตติซ้ำ หลังที่ประชุมลงมติไม่เลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณา เพราะมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่การขอเลื่อน และญัตติดังกล่าวยังคงอยู่ไม่ได้ตกไป และเราจะเสนอเลื่อนอีกครั้งให้ศาล รธน.ตีความ" นพ.ชลน่านกล่าว
ขณะที่พรรคประชาชน นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ปชน. และคณะ แถลงว่า พรรค ปชน.รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เราไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมแบบที่เป็นอยู่จะสามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ประชาชนต้องการ รธน.ฉบับใหม่ได้
"วิธีในการหาทางออกเรื่องนี้ ถ้านายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล มีความจริงจังที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ นายกฯ เป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา สามารถที่จะเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ยืนยันว่าพรรค พท.เคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถที่จะเดินหน้าผลักดันการแก้ไข รธน. ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้" หัวหน้าพรรค ปชน.ระบุ
ชงผ่าทางตันทําประชามติก่อน
วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปกล่าวปาฐกถาในงานของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงเหตุการณ์สภาล่มเป็นครั้งที่ 2 แต่นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด โดยได้ขึ้นรถกลับทำเนียบรัฐบาลทันที
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.25 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เดินลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้า ภายหลังหารือกับนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยนายอนุทินกล่าวว่า ไปหารือกับนายกฯ เพราะถึงคิวของพรรค ภท.ในการจัดดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่ได้พบปะกัน 4-5 เดือนแล้ว ซึ่งตนยินดี และนัดไว้วันที่ 25 ก.พ. ส่วนเรื่องสถานที่ ให้นายกฯ เป็นผู้กำหนด เพราะตนไม่อยากเชิญแขก ให้นายกฯ กําหนดว่าจะเชิญใคร
ถามว่า ได้มีการเคลียร์ความวุ่นวายในสภาหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ต้องเคลียร์อะไร เพราะไม่มีความวุ่นวาย นายกฯ เข้าใจว่าเป็นความวุ่นวายของสภา และไม่มีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกฯ ยังบอกว่าอีกหน่อยต้องพูดคุยกันบ่อยกว่านี้หน่อย ซึ่งตนแจ้งกับนายกฯ ไปว่าเพิ่งทราบว่ามีร่างประกบตอนที่วาระการประชุมออก
"นายกฯ เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร เป็นเรื่องของนิติบัญญัติ ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เป็นเรื่องของการเสนอกฎหมายของพรรคการเมืองตรงเข้าสู่สภา ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล" นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่เมื่อสภาล่มทำให้ช้ากว่าเดิม นายอนุทินกล่าวว่า ถ้ามีการหารือก็ต้องหาช่องทางที่ทุกคนสบายใจเข้าไปพิจารณา แต่หากมีการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ก็ตีความได้ว่าขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเกิดความไม่สบายใจ ไม่ใช่เฉพาะ สส. แต่ สว.ด้วย ก็ต้องหาทางเข้าสู่สภาให้ได้ หากเขาบอกต้องทำประชามติก็ต้องทํา แบบนั้นทุกคนก็ไม่มีข้อแก้ตัว
“ทุกคนต้องรับวาระแรกอยู่แล้ว ไปตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) แปรญัตติ หารือกัน ใครจะใส่อะไร หรือถอนอะไร มันมีขั้นตอนซึ่งทําได้อยู่” นายอนุทินกล่าว
ด้านนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงเหตุสภาล่มว่า ไม่ว่าจะประชุมกี่ครั้ง สถานการณ์จะยังเหมือนเดิม และสภาจะเกิดความเสียหายมากขึ้น วิปทั้ง 3 ฝ่ายอาจต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อรักษาสภาไว้ แต่หากไม่ผ่านประชามติที่ต้องรอกฎหมายใหม่เสียก่อน ไม่ว่าจะทํายังอย่างไรก็ไม่ผ่าน ชนกันแล้วไม่มีใครชนะ สภาก็จะแตกหักเสียเปล่าๆ
"อาจจะต้องพิจารณาถอนร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 2 ร่าง และรอทำประชามติถามประชาชนก่อน หากเห็นชอบกันมาก จะเป็นเหตุผลให้ สว.มีโอกาสจะให้ความเห็นชอบมากพอ แล้วค่อยยื่นร่างใหม่ในนามพรรคร่วมรัฐบาล จะได้หารือปรับปรุงแล้วรับผิดชอบร่วมกันแบบนี้ถึงจะมีโอกาส" นายนิกรระบุ
ด้าน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. พร้อมด้วย สว.พันธุ์ใหม่ แถลงว่า ภาพสภาล่ม 2 วันที่ผ่านมาเป็นภาพที่อัปยศที่สุด เป็นกระบวนการเล่นเกมหักเหลี่ยมกันทางการเมือง ทำให้การแก้ไข รธน.ไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เราเสียเงินไป 19 ล้าน โดยที่ สส.และ สว.ไม่ได้ทำหน้าที่กันเลย
ส่วนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และ น.ส.จีรนุช เปรมชัย พร้อมด้วยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ปชน. ร่วมกันแถลงข่าว
นายยิ่งชีพกล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยเป็นครั้งที่ 3 เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้อยืนยันที่ชัดเจนที่สุดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และหวังว่าเมื่อเรื่องนี้ได้นำกลับขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง จะได้เห็นความจริงใจมากกว่าการเล่นเกมทางการเมือง
"แม้วันนี้จะยังไม่ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็จะเดินหน้ารณรงค์เคลื่อนไหวจนกว่าจะได้มา ขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาทั้ง 175 คน ที่ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาต่อไปให้ได้ และขอมองคนที่เหลือ ทั้งคนที่เลือกจะวอล์กเอาต์ หรือคนที่มานั่งอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่ยอมแสดงตน ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อถ่วงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่อย่างไรเสียก็จะต้องเกิดขึ้น พวกเขาได้แค่ถ่วงเวลาไปเฉยๆ" นายยิ่งชีพระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนคาดอ่วม9แสนล. จักรภพชงสทร.คุยทรัมป์
“พิชัย” รับสภาพตลาดหุ้นดิ่งเพราะผลพวงนโยบายภาษีทรัมป์ เชื่อเป็นช่วงสั้นๆ
บทสรุปบิมสเทค รับรอง6เอกสาร เมินจุ้นเมียนมา
เริ่มแล้วประชุม 7 ชาติ BIMSTEC ผู้นำทุกประเทศหารือแบบตัวต่อตัวในรอบ 7 ปี
แพทยสภาเลื่อนคดีชั้น14
กลิ่นทะแม่ง! แพทยสภาออกประกาศเลื่อนคดีชั้น 14 อ้าง รพ.ราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจเพิ่งส่งเอกสารใหม่มาจำนวนมากต้องใช้เวลา
ยังไม่ชัดสาเหตุตึกสตง.ถล่ม
ผ่าน 1 สัปดาห์เหตุตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว "ผู้ว่าฯ กทม." เผยลุยใช้เครื่องมือหนักเปิดทางเพิ่ม ขอโทษยังเจาะไปไม่ถึงผู้ที่คาดว่าติดอยู่ไม่ได้
หึ่ง!บ่อนแลกนิรโทษ พท.หวังจบดีลก่อนปิดสมัยประชุม/‘ชูศักดิ์’ชี้6-8ด.คลอด
"ภูมิธรรม" สวนฝ่ายค้านจินตนาการ กล่าวหา รบ.เร่งกาสิโนให้นายทุน
เลิกอีแอบ! ไล่บี้ทุกพรรคประกาศจุดยืน 'กาสิโน' เอาหรือไม่เอา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถามดังๆ จุดยืนต่อกาสิโน ของแต่ละพรรค เมื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร