20ต.ค.บิ๊กป้อมลงกาญจน์ ประภัตรชี้สุพรรณอย่าตน

ปภ.สรุปผลพวงพายุ "คมปาซุ" 5 จว. 7 อำเภอ 59 หมู่บ้านจมน้ำ  "บิ๊กป้อม" เตรียมคิวลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี 20 ต.ค.นี้ ติดตามบริหารจัดการน้ำเขื่อนศรีนครินทร์-เขื่อนวชิราลงกรณ "ประภัตร" ตรวจอ่างเก็บน้ำกระเสียวหลังล้นสปิลเวย์ในรอบ 10 ปี ย้ำคนสุพรรณอย่าตื่นตูม ได้เก็บเกี่ยวข้าวแน่ "พท." ซัด "2 ป." เดินสายสร้างภาระเจ้าหน้าที่ 

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านตั้งแต่วันที่ 15-17 ต.ค.64ว่าส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก รวม 7 อำเภอ 22 ตำบล 59 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,698 ครัวเรือน ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 3 จังหวัด 5 อำเภอ 14 ตำบล 38 หมู่บ้าน 1,848 ครัวเรือน 

โดยที่ จ.ลพบุรี น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสระโบสถ์  และอำเภอโคกสำโรง ระดับน้ำลดลง จ.ปราจีนบุรี น้ำป่าไหลหลากและน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี และอำเภอประจันตคาม ระดับน้ำลดลง จ.นครนายก น้ำจากคลองสันทรีย์เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมอำเภอปากพลี ระดับน้ำลดลง

"ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่งปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป" ปภ.ระบุ

มีรายงานว่า ในวันที่ 20 ต.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ   เตรียมพื้นที่รับน้ำหลากในปี 2564 และการเตรียมการฤดูแล้งปีถัดไปของกรมชลประทาน และแนวทางการบริหารจัดการเขื่อนแม่กลองและคลองจระเข้สามพัน ติดตามศักยภาพและการพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาล จ.กาญจนบุรี รวมถึงกดปุ่มเปิดน้ำชุมชน ต.ทุ่งกระบ่ำ อ.เลาขวัญ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แล้วรับมอบสุขาลอยน้ำจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

นอกจากนี้ จะไปติดตามภาพรวมการเตรียมการรับมือฤดูฝนปี 2564 และความก้าวหน้าโครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ โดยเลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) การนำเสนอแนวโน้มสถานการณ์น้ำของเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ รวมถึงรับทราบแนวทางการจัดการและความปลอดภัยของเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ก่อนมอบนโยบายและไปติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสันเขื่อนศรีนครินทร์และพบปะผู้นำชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตรลงพื้นที่ไปแล้ว 4 จังหวัด คือ จ.พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา สระแก้ว และขอนแก่น ซึ่งกาญจนบุรีจะเป็นจังหวัดที่ 5 

ขณะที่นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่ตรวจดูปริมาณน้ำที่อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการระบายน้ำว่า เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำกระเสียวมีปริมาณ 100% และยังจะมีปริมาณน้ำจาก อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ที่จะเข้ามาอีกจำนวนมาก ทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ในรอบ 10 ปี ซึ่งน้ำที่ไหลออกจากอ่างเก็บน้ำกระเสียว ส่งผลกระทบกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีระดับน้ำที่สูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ได้รับรายงานจาก อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง ว่าน้ำจาก จ.กาญจนบุรีก็ยังมีมาอีก และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็เอ่อล้นเข้ามาในเขตทุ่ง

"น้ำในปีนี้มาประดังพร้อมกันไปหมด แต่หากไม่มีพายุฝนมาเพิ่มอีก สถานการณ์ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์จะทรงอยู่อย่างนี้อย่างน้อย 3 วัน ขอชาวนาอย่าตื่นตระหนก เก็บเกี่ยวได้แน่นอน เรากำลังช่วยกันปรับทุกๆ สายน้ำไม่ให้มากไปกว่านี้" รมช.เกษตรและสหกรณ์ระบุ

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่านอกจาก 2 ป. จะใช้การลงพื้นที่เป็นการประลองกำลังวัดกันว่า ส.ส.จะตบเท้าตามแห่ใครมากกว่ากัน ยังอาจต้องวัดกันด้วยว่าการลงพื้นที่ของแต่ละคน ใครถูกประชาชนต่อต้านหนักกว่ากัน 

"เดือดร้อนตำรวจต้องแจ้งเตือนประชาชน ห้ามด่า-ห้ามปาไข่-ห้ามเผารูป ห้ามสารพัด แต่ไปลงพื้นที่ไหนก็ถูกขับไล่   การลงพื้นที่แบบนี้เป็นการสร้างภาระ  ประชาชน ไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่ได้เปิดพื้นที่รับฟังสภาพปัญหาที่แท้จริง" รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ​ (พปชร.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รวมทั้ง ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า​ เลขาธิการพรรค พปชร. ​มักจะมีมวลชนบางส่วนออกต่อต้านว่า​ โดยหลักแล้วทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น​ เพียงแต่ในบริเวณที่มีการจัดงาน หรือมีกิจกรรมของผู้นำประเทศก็ไม่ควรเข้ามาวุ่นวาย​ เพราะมีเรื่องของความปลอดภัยด้วย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โธ่!บุคคลสาธารณะ 'ชูศักดิ์-เพื่อไทย' จ่อฟ้อง 'ธีรยุทธ'

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เตรียมฟ้องกลับนายธีรยุทธ

พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ตั้งแต่ 27 พ.ย. ลมหนาวพัดแรงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น. วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

อุตุฯ เตือนอากาศเย็น มีหมอกบางตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้น ใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง