มติสภาไฟเขียว ‘พ.ร.บ.ตั๋วร่วม’ รถไฟ-เมล์-เรือ

สภาเอกฉันท์รับหลักการ "ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม" ด้าน "มนพร" ยันเพื่อให้ ปชช.เดินทางได้ทุกระบบด้วยบัตรใบเดียว-ลดค่าใช้จ่าย-ลดโลกร้อน  ขณะที่ "สุรเชษฐ์" ชี้ร่างของ ปชน.ค่าโดยสาร 8-45 บาทตลอดทาง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ เหน็บ  "ตั๋วร่วม" อาจไม่ตอบนโยบาย 20 บาทที่มีแต่ระบบราง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลา 10.40 น. ที่รัฐสภา  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร  ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุม มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ..… ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ และร่างที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะเป็นผู้เสนอ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า  เพื่อเป็นการสนับสนุนการให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือโดยสาร โดยในสถานการณ์ปัจจุบันการขนส่งสาธารณะและการบริการที่มีความหลากหลาย โดยให้ผู้บริการแต่ละรายมีต้นทุนในการจัดการและบริหาร รวมทั้งการจัดเก็บผู้โดยสารหรือค่าธรรมเนียมของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนของการให้บริการขนส่งสาธารณะอยู่ในอัตราที่สูงและผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบต้นทุนดังกล่าว  และยังทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ โดยใช้บัตรโดยสารใบเดียว เดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมจากขนส่งส่วนบุคคลมาเป็นขนส่งสาธารณะ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล

นางมนพรกล่าวต่อว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ 1.การจัดทำมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเพื่อให้เป็นมาตรฐานกลาง โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับตั๋วร่วมในอนาคต 2.เป็นการกำหนดอัตราโดยสารร่วม โดยเป็นอำนาจของ รมว.คมนาคม ในการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม และเป็นการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมไปใช้บังคับในการทำสัญญาสัมปทานขนส่งสาธารณะในอนาคต

รมช.คมนาคมกล่าวอีกว่า 3.จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม 4.ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้  และ 5.ในกรณีมีความจำเป็นให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้ใบรับอนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อรักษาการให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อป้องกันการเสียหายต่อสาธารณะ

“ภาพรวมทั้งหมดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 7 หมวด 54 มาตรา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วยการใช้บัตรโดยสารใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากขนส่งส่วนบุคคล มาเป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล" นางมนพรกล่าว

ด้านนายสุรเชษฐ์กล่าวเสนอหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายที่ได้เสนอ โดยสรุปถึงข้อแตกต่างระหว่างร่างของรัฐบาลและร่างของพรรคประชาชน เพื่อชี้ให้เห็นว่าเหตุใดถึงต้องใช้ร่างของพรรคประชาชนเป็นร่างหลักว่า โดยหลักการเราสนับสนุนให้มีระบบตั๋วร่วม แต่เราต้องการให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ระบบสาธารณะที่ดีไม่ใช่มีเฉพาะร่าง ต้องทำให้รถเมล์กับรถไฟฟ้าทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่สร้างโลกคู่ขนานอุดหนุนแต่รถไฟฟ้า แล้วละเลยรถเมล์ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ร่าง พ.ร.บ.ของ ครม.และพรรคประชาชนแตกต่างกัน เช่น คำว่าตั๋วร่วม กับค่าโดยสารร่วม ซึ่งคำว่า “ค่าโดยสารร่วม” จะส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประชาชนจริงๆ หรือกรณีตั๋วร่วม 20 บาทตลอดทางของพรรคเพื่อไทย  ซึ่งหมายถึงเฉพาะรถไฟ รถไฟฟ้า แต่ค่าโดยสารร่วมตามข้อเสนอของพรรคประชาชนมีราคา 8-45  บาทตลอดทาง ที่รวมถึงทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ ดังนั้นจะต้องเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมกับการบริการขนส่งสาธารณะทั้งหมดของประเทศ

“พ.ร.บ.ตั๋วร่วม อาจจะไม่ได้ตอบนโยบาย 20  บาทโดยตรง แต่อย่างน้อยให้กรอบอำนาจที่จะไปทำ แม้เราจะมีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่เราต้องการ พ.ร.บ.เดียวกัน ดังนั้นจะต้องคิดว่าจะเขียน พ.ร.บ.อย่างไรให้ครอบคลุม และไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องยังอยู่” นายสุรเชษฐ์กล่าว

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ร่างของพรรคประชาชนมีนิยามที่ชัดเจน ครอบคลุมและไม่สับสน โดยเพิ่มสัดส่วนผู้แทนประชาชนในคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม เพิ่มความชัดเจนและกลไกโดยคำนึงถึงความชัดเจนและการบังคับใช้จริง เพิ่มหน้าที่ผู้ประกอบการระบบร่วมให้เปิดเผยสถานะทางการเงิน เพิ่มความชัดเจนในการใช้เงินกองทุน โดยมุ่งหวังสร้างสมดุลการอุดหนุนบริการขนส่งสาธารณะ  พร้อมคำนึงถึงภาระทางการคลังระยะยาว

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นที่หลากหลายกว้างขวาง และเห็นด้วยกับการมีร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยที่ประชุมลงมติเห็นด้วยรับหลักการ 367 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ….. จำนวน 31 คน ระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้ยึดร่างของ ครม.เป็นร่างหลักในการพิจารณา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง