"หนูไม่รู้ 2" นายกฯ บอกยังไม่ทราบกฤษฎีกาใช้เวลาพิจารณา กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์กี่วัน ด้าน "ปกรณ์" บอกรัฐบาลบรรจุไว้ในแผนกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 50 วัน เปรียบกฤษฎีกาเหมือนพ่อครัว ต้องทำตามโจทย์ให้ถูกใจลูกค้า ขณะที่มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันล่าชื่อได้แล้ว 7 หมื่นคน เตรียมยื่น กกต.ทำประชามติ "ชิดตะวัน" ย้ำใช้นโยบายเกี่ยวกับอบายมุข จะนำมาซึ่งหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ เพื่อปรับถ้อยคำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ได้มีการแจ้งหรือไม่ว่าจะใช้เวลาพิจารณากี่วัน ว่า “ยังไม่ทราบเลยค่ะ”
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการชุดพิเศษประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ, นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ, นายไพโรจน์ วายุภาพ อดีตประธานศาลฎีกา
ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติในเรื่องดังกล่าว นายปกรณ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบายโดยแท้ กฤษฎีกาไม่เกี่ยวข้อง โดยเราพยายามทำให้กฎหมายครอบคลุม เหมือนการยกเรือสำราญที่มีทุกกิจกรรมมาไว้บนบก หลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง หลักคือกระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่น กระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องเรื่องภาษี
เมื่อถามว่า ใช้กรอบเวลาดำเนินการนานแค่ไหน เลขาธิการกฤษฎีกาตอบว่า รัฐบาลบรรจุไว้ในแผนกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการภายใน 50 วัน และกฤษฎีกาพยายามทำให้ทัน ขณะนี้ประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือวันอังคารและพฤหัสฯ และพยายามหาวันว่างเพิ่มขึ้น เราต้องรีบทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นักกฎหมายชั้นนำมาร่วมกันพิจารณาในเรื่องนี้ จะทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า การเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ เป็นคนละประเด็น สิ่งที่เราทำคือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และเรื่องนี้ต้องถามสังคมจะว่าอย่างไรถึงจะมาทำให้สอดคล้องกับความต้องการ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อนโยบายมาแบบนี้ แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว สิ่งที่เราต้องทำให้สอดคล้องกับนโยบาย การทำความเข้าใจกับประชาชน เป็นเรื่องรัฐบาลต้องชี้แจงและดำเนินการอยู่แล้ว และเราเป็นเหมือนพ่อครัวที่คอยปรุงใส่วัตถุดิบตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ถ้ามีบางอย่างที่เขาไม่ต้องการ เราก็ทักท้วง แต่ถ้ายืนยันจะเป็นแบบนั้นก็ต้องตามใจลูกค้า
วันเดียวกันนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการ เปิดแถลงข่าว "ไม่เอากาสิโน ต้องทำประชามติ" โดยเครือข่ายฯ ประกาศเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลจัดให้มีการทำประชามติว่าประเทศไทยสมควรมีกาสิโนถูกกฎหมายหรือไม่ ในขณะที่ก่อนหน้านี้ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อแสดงจุดยืนว่า "เราไม่เอากาสิโน" โดยล่าสุดมีผู้ลงชื่อแสดงจุดยืนแล้ว 70,000 คน
นายธนากร คมกฤส กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า เรื่องนี้สำหรับเราแล้วเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันจะอยู่ไปอีกนาน และกฎหมายฉบับนี้จะถูกรัฐบาลชุดใดก็ได้ในอนาคตหยิบเอามาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเปิดแหล่งเล่นพนันขนาดใหญ่ไปได้เรื่อยๆ นี่คือประเด็นที่เราเห็นว่าน่ากังวล จึงต้องมีความรัดกุม รอบคอบ และต้องมีอะไรที่ชัดเจนมากกว่านี้ แต่เมื่อเขาไม่ฟัง เราก็ต้องหาช่องทางที่ทำให้รัฐบาลรับฟัง โดยอาศัยกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” นายธนากรกล่าว
เขาระบุว่า ในการเข้าชื่อของประชาชนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบการจัดทำประชามติเรื่องกาสิโนนั้น มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันจะเป็นผู้ริเริ่มจัดทำเอกสาร ข้อมูล และแบบฟอร์มต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป มูลนิธิจะเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อ และนำเสนอรายชื่อประชาชนทั้งหมดและเอกสารใบปะหน้าไปยัง กกต.
จากนั้น กกต.จะทำการตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 5 หมื่นรายชื่อหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน หากทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ กกต.จะส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตรวจสอบอีกครั้ง และนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ครม.ไม่มีสิทธิ์ไม่เห็นชอบการจัดทำประชามติ โดย ครม.มีหน้าที่รับทราบ และต้องไปกำหนดวันลงประชามติว่าเป็นเมื่อใด
ด้าน รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ภาคประชาสังคมต้องเสนอให้รัฐบาลจัดให้มีการทำประชามติในเรื่องกาสิโนถูกกฎหมายนั้น มี 2 เหตุผลหลัก คือ 1.การที่รัฐบาลนำนโยบายเกี่ยวกับอบายมุขเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ จะนำมาซึ่งหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในบริบทประเทศกำลังพัฒนา และ 2.ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่มีพรรคการเมืองใดนำเสนอนโยบายกาสิโนถูกกฎหมาย
“ผลกระทบไม่ได้เกิดกับผู้ที่ไปเล่นพนันในกาสิโนเท่านั้น แต่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ไม่ได้เล่นกาสิโนและเศรษฐกิจไทยด้วย จึงมีความจำเป็นต้องจัดให้มีการประชามติ ซึ่งประชามติมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย ซึ่งในรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว และนานาอารยประเทศ การจัดให้มีกาสิโนถูกกฎหมายนั้น โดยปกติแล้วจะต้องมีการทำประชามติ ให้ประชาชนในประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงว่าเห็นเป็นเช่นไร” รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าว
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะไม่กำหนดสัดส่วนพื้นที่กาสิโนต่อพื้นที่ทั้งหมดในกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายฉบับนี้ควรจำกัดจำนวนกาสิโนที่เปิดในช่วงแรก เนื่องจากคนของรัฐบาลมักจะยกตัวอย่างกาสิโนของประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาอ้างอิงเทียบเคียง แต่กาสิโนในสิงคโปร์นั้น ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายควบคุมกาสิโน หรือ Casino Control Act และรีสอร์ตครบวงจร หรือ integrated resort ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนกาสิโนในพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกาสิโนเท่านั้น หรือคือกฎหมายของสิงคโปร์อนุญาตให้ทำกาสิโนเป็นหลัก ขณะที่ประเทศไทย กำลังร่างกฎหมายเพื่อให้มีกาสิโนในลักษณะกลับหัวกับสิงคโปร์ เพราะร่างเป็น พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร แล้วเอาการอนุญาตให้ทำธุรกิจกาสิโนมาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของสถานบันเทิงครบวงจร
นายจุลพงศ์ยังตั้งข้อสังเกตและท้วงติง 3 ประการไปยังรัฐบาล และคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ได้แก่ ข้อสังเกตแรกคือ หากร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรจะปล่อยให้คณะกรรมการนโยบายไปกำหนดสัดส่วนพื้นที่กาสิโนต่อพื้นที่สถานบันเทิงครบวงจร โดยไม่มีการกำหนดสัดส่วนที่แน่นอนไว้ในกฎหมายนั้น ยกตัวอย่าง หากต่อมามีนักลงทุนต่างชาติเสนอมาให้พื้นที่กาสิโน 50% หรือ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองการลงทุน แล้วคณะกรรมการนโยบายได้อนุญาตไป เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ไว้ ก็จะถือว่าขัดกับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ที่มุ่งเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว และไม่ได้มุ่งเน้นการพนัน
ประการที่สอง แม้กาสิโนในสิงคโปร์จะไม่กำหนดสัดส่วนพื้นที่กาสิโนต่อพื้นที่ทั้งหมดไว้ แต่ในกฎหมายควบคุมกาสิโนของสิงคโปร์ มีการควบคุมจำนวนกาสิโนในประเทศ ซึ่งอนุญาตให้เปิดได้ไม่เกิน 2 แห่ง ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. แต่ในร่างกฎหมายของเรา กลับไม่กำหนดจำนวนกาสิโน และยังได้ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายไปตัดสินใจว่าจะเปิดกาสิโนกี่แห่งในที่ไหนบ้าง ตนจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายมากเกินไป
ประการที่สาม องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคนสร้างเป็นหลักการของกฎหมาย แต่คำถามคือ คณะกรรมการนโยบายยังจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ และมีรัฐมนตรีอีกหลายคนมานั่งในคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่ เพราะหากอ่านตามกฎหมาย Casino Control Act ของสิงคโปร์ จะพบว่าองค์กรที่ควบคุมการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้คือ Gambling Regulatory Authority of Singapore ที่ก็ไม่ได้มีนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เป็นประธานแต่อย่างใด เนื่องจากกิจการโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ในกาสิโน ไม่อยู่ในอำนาจขององค์กรนี้ และมีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่แล้ว "มันน่าตลกที่นายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิง เรื่องแบบนี้คงมีแต่ประเทศไทย"
"หากรัฐบาลจะยังคงผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ ผมจึงเห็นว่าควรกำหนดสัดส่วนพื้นที่กาสิโนต่อพื้นที่ทั้งหมดไว้ในตัว พ.ร.บ. เพื่อรักษาหลักการของกฎหมายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ว่าไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการพนัน และในระยะเริ่มแรก ควรควบคุมจำนวนกาสิโนทั้งประเทศไว้ในกฎหมายก่อนจะดีกว่า เพราะอาจจะกระทบต่อวงกว้างหากมีการอนุญาตออกไปหลายๆ ที่" นายจุลพงศ์ทิ้งท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พท.ขอลดเวลาซักฟอกแค่2วัน
“รังสิมันต์” ยังอุบไต๋เชือดรัฐมนตรีกี่ราย แต่มั่นใจเป็นเรื่องของกรรม บอก 5 วันไม่มากไป
‘กาสิโน’ต้องฟังปชช. กฤษฎีกาคลอดร่างกม.ให้ทำได้ยากขึ้น/ม็อบขู่จัดทัพลงถนน
เร่งเดินหน้าเปิด "กาสิโน" กฤษฎีการับลูกติดสปีดทำคลอดร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์ฯ
โจ๊กลุ้นกก.วินัย 20ก.พ.ชี้ชะตา! บี้‘สุชาติ’ไขก๊อก
"บิ๊กหวาน" เตรียมนัดประชุมสรุปผลสอบวินัยร้ายแรง "บิ๊กโจ๊ก" หลังครบกำหนด 270
ครม.ทุ่มงบหนุนภาคใต้ NGOห้ามเอื้อทุนผูกขาด
นายกฯ ร่อนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ชาวบ้านต้อนรับมาให้กำลังใจลูกสาวทักษิณ
กห.ยันทำงานร่วม3ปท. เตือนไทยสูญเสียอิสระ
"หลิว จงอี้" เข้าพื้นที่เมียวดีพบเหยื่อชาวจีนและต่างชาติที่ศูนย์บัญชาการ BGF กว่า 900 คน
โต้ปปช.กวาดบ้านก่อนสอย112
“ไหม” บอกรู้สึกชิลๆ ปม ป.ป.ช.เรียกรับทราบข้อกล่าวหาปมแก้มาตรา 112