“วิษณุ" นั่ง "ปธ.กฤษฎีกาคณะพิเศษ" มี "บวรศักดิ์" เป็นกรรมการ ปรับแก้ กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เรียกคลัง-มหาดไทยคุยแล้ว 3-4 ครั้ง คาดเสร็จเร็วกว่า 50 วัน "จุลพันธ์" แจงไม่เขียนสัดส่วนกาสิโน 10% ไว้ใน พ.ร.บ. เปิดทางให้ผู้รับผิดชอบกำหนดตามสถานการณ์ "บัวแก้ว" จัดเสวนา MOU 44 “สว.ชิบ” เผยวุฒิสภาชงทำประชามติเลิก MOU 44 พร้อมกาสิโน “สรจักร" ย้ำก่อนคุยผลประโยชน์ร่วม ต้องเจรจาเส้นขีดเหนือเส้นรุ้งที่ 11 แผนที่แนบท้ายให้จบก่อน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 ม.ค.2568 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ..... หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ว่าการหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ในตอนนี้เรียกประชุม 3-4 ครั้งแล้ว ส่วนใหญ่เรียกกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้ว
นายปกรณ์กล่าวว่า การหารือไม่ได้มีอะไร ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้ข้อสังเกตไว้ อย่างเรื่องการรักษาการร่วม และการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ได้มีประเด็นอะไร
ถามถึงกรณีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ระบุกฎหมายจะไม่มีการตราเรื่องสัดส่วนกาสิโน 10% ลงไปในนั้น นายปกรณ์กล่าวว่า ยังไม่ถึงขนาดนั้น
ซักว่า กฤษฎีกามองว่าควรจะมีการบัญญัติสัดส่วนของกาสิโนลงไปในกฎหมายเลยหรือไม่ เนื่องจากหากไม่มีการเขียนลงไปอย่างชัดเจน จะเป็นช่องว่างทางกฎหมาย เลขาธิการกฤษฎีกากล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงแค่นายจุลพันธ์มาชี้แจงและเล่าให้ฟัง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติขนาดนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แต่งตั้งขึ้นมา 1 ชุด ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ..... หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มาให้ปรับถ้อยคำให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายและคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะนั้น มีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 (เกี่ยวกับบริหารราชการแผ่นดิน) เป็นประธาน และมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 13 (เกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) เป็นกรรมการด้วย
"ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งนายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ และนายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนเข้าไปร่วมประชุม คอยชี้แจงหลักการและแนวคิดของรัฐบาล โดยคณะกรรมการฯ ได้ประชุมกันไปแล้วหลายครั้ง รวมทั้งมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง คือนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง และกระทรวงการมหาดไทยเข้าไปชี้แจงแล้ว ล่าสุดมีรายงานว่า จากการเร่งเดินหน้าเรื่องดังกล่าว อาจทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จเร็วกว่ากรอบ 50 วัน ที่จะครบในช่วงต้นเดือน มี.ค.68" แหล่งข่าวระบุ
แจงไม่เขียนสัดส่วนกาสิโน
นายจุลพันธ์ปฏิเสธจะชี้แจงรายละเอียดการเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ โดยระบุเพียงว่า ไม่มีอะไร การพูดคุยราบรื่นดี และขอยืนยันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่ร่างกาสิโน
เมื่อถามว่า ได้มีการชี้แจงเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์อย่างไร นายจุลพันธ์กล่าวว่า ได้ชี้แจงตามข้อเท็จจริง และเป็นไปในแนวทางนโยบายแห่งรัฐ โดยสรุปว่านโยบายนี้คือองค์ประกอบของธุรกิจหลายรูปแบบ โดยรัฐบาลสามารถกำหนดได้ ซึ่งกาสิโนเป็นเพียงส่วนหนึ่ง
"สัดส่วนกาสิโนไม่ได้มีการเขียนในกฎหมายตั้งแต่ต้น เพราะเราไม่อยากเอาความคิดของเราไปกำหนด เพราะไม่รู้ว่าผู้กำหนดนโยบายในขณะนั้นจะกำหนดอะไร เช่น กำหนดให้มีสนามกีฬาสัดส่วนของกาสิโนก็อาจจะเหลือเพียง 1-2% ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้ ฉะนั้นจึงอยู่ที่เจตจำนงของผู้กำหนดนโยบายในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเปิดกว้างเอาไว้ แต่หากต้องกำหนด เช่น ไม่เกิน 10% ก็สามารถดำเนินการได้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะสามารถบริหารจัดการได้" นายจุลพันธ์กล่าว
ถามว่า การไม่กำหนดสัดส่วนกาสิโนเข้าไปในกฎหมาย จะไม่เป็นช่องโหว่ทางกฎหมายใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ยืนยันว่า นโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องกาสิโน และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และดึงดูดเม็ดเงินกว่าแสนล้าน ฉะนั้นจึงต้องมีความโปร่งใสและกลไกที่รองรับได้ ขณะที่รายละเอียดของสถานที่ก็จะยังไม่เขียนในรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นอำนาจของซูเปอร์บอร์ดในอนาคต (คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร) เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตใครจะมาเป็นผู้บริหาร
ถามย้ำว่า หากไม่มีการเขียนในกฎหมาย แสดงว่าในอนาคตสามารถเพิ่มสัดส่วนเกินกว่า 10% ได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ชี้แจงว่า ตามหลักโมเดลธุรกิจไม่เกินอยู่แล้ว เพราะมาตรฐานทั่วโลกไม่เกิน 5% เช่น สิงคโปร์ มีสัดส่วนกาสิโน 3% ฉะนั้นอย่าจินตนาการเลยสิ่งที่มันไม่เป็นจริงและข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่าไม่กังวล ที่ขณะนี้สังคมกำลังจับตา เพราะทำตามหน้าที่และขั้นตอน
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า พม.ยืนยันเหมือนเดิมว่ามีทั้งแง่ดีและแง่ด้อย ในแง่ดีเชื่อว่าทุกคนคงทราบดี แต่ประเด็นที่เป็นห่วงคือเรื่องการค้ามนุษย์ รวมถึงการค้าประเวณี และการสร้างลักษณะนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งคงต้องมีมาตรการทั้งการประชาสัมพันธ์ การดูแลอย่างใกล้ชิด การบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวด
ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดงานเสวนา "OCA ไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงและทางเลือก" ในช่วงเปิดเวทีเสวนา “บทบาทของรัฐสภาต่อประเด็น OCA รวมถึงข้อคิดเห็น/ข้อกังวลในเบื้องต้น”
สว.ชงทำประชามติเลิก MOU
นายชิบ จิตนิยม รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ในส่วนของ สว. มีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยให้ยกเลิก MOU 44 ซึ่งเรื่องนี้มีพัฒนาการหลายสิบปี จึงต้องพิจารณาดูข้อดีข้อเสีย หากตั้งคณะเทคนิคก็ไม่รับประกันว่าจะมีอะไรเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม รวมถึงยังเสนอทางออกว่าควรจะทำประชามติไปพร้อมกับประเด็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ดีหรือไม่ แต่ที่สำคัญอย่างเพิ่งตื่นตระหนักว่าจะเสียพื้นที่ เพราะเป็นเพียงสำรวจแหล่งพลังงาน
นายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ รักษาการอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “กฎหมายระหว่างประเทศและการเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา” ตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อทั้งสองประเทศประกาศเขตทับกัน จึงเกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน โดยทั้งสองประเทศเจรจากันมานานมาแล้ว แต่ไม่คืบหน้า กระทั่งปี 44 เห็นว่าต้องคุยกันให้เรียบร้อย โดยประเทศกัมพูชาขอคุยเรื่องพัฒนาร่วม เพราะเห็นว่าเรื่องเขตแดนน่าจะคุยกันยาก แต่สุดท้ายก็ตกลงกันว่าต้องคุยทั้ง 2 เรื่อง คือทั้งเรื่องเขตแดนและพัฒนาร่วม เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน ก็บันทึกตกลงความเข้าใจร่วมกัน คือ MOU 44 โดยมีข้อตกลง 5 ข้อ อาทิ เราจะแก้ปัญหาด้วยการเจรจา เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทย โดยดำเนินการทั้งสองส่วนไปพร้อมกันมิอาจแบ่งแยกได้ ตั้งกรรมการร่วมด้านเทคนิค เป็นต้น
นายสรจักร เกษมสุวรรณ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “MOU 2544 ในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ” ว่า ในหลักการของกฎหมายทะเลกำหนดพื้นที่ไว้ในส่วนที่เป็นพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นดินแดน ถือเป็นเขตแดนอำนาจอธิปไตย แต่พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) และไหล่ทวีปตาม Artide 56 และ 77 ของอนุสัญญากฎหมายทะเล 1982 (UNCLOS 1982) มิใช่เขตอำนาจอธิปไตยของรัฐชายฝั่ง มีเพียงสิทธิอธิปไตยในการสำรวจกำหนดให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ครอบกลุ่มการสำรวจและแสวงประโยชน์ทั้งในพื้นที่ที่เป็นห้วงน้ำเหนือพื้นดินท้องทะเล ในพื้นดินใต้ผิวดิน
นายสรจักรกล่าวว่า แผนที่แนบท้าย MOU 2544 เส้นที่ขีดเหนือเส้นรุ้งที่ 11 ต้องแบ่งเขตกันให้ได้ เพราะเรายอมไม่ได้ เนื่องจากเกาะกูดต้องมีทะเลในเขตของตัวเอง และกฎหมายทะเลกำหนดว่า ทุกเกาะที่มีชีวิตทางเศรษฐกิจได้ต้องมีไหล่ทวีปของตัวเอง ดังนั้นเส้นของกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูด จะต้องดันลงมาข้างล่างอีกเยอะ เรารับไม่ได้ที่จะขึ้นโด่เด่อยู่ข้างบน ซึ่งต้องดันเฉียงลงมาข้างล่างให้ได้ เพราะฉะนั้นเขตพื้นที่เหนือเส้นรุ้งที่ 11 ต้องเจรจาให้สำเร็จ ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ ส่วนใต้ลงมา ค่อยมาคุยกันเรื่องของพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) จะทำอันหนึ่งอันใดก่อนก็ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นนัยของ MOU 44
"ประเด็นสำคัญที่สุดคณะกรรมการที่เราจะตั้งขึ้นมา จะไปเจรจาอะไร สิ่งที่เจรจาโปร่งใสหรือไม่ มีอะไรยัดไว้ใต้โต๊ะ มีอะไรอยู่หลังกอไผ่ มีผลประโยชน์ใครเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ต้องเจรจา เพราะกฎหมายบอกให้เราเจรจา และขอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการเสียดินแดน และขออย่าพูดเรื่องการเสียดินแดน เพราะเราไม่ได้รับดินแดน เรามีสิทธิ์ในทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น" อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ระบุ
นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อ “อนาคตความมั่นคงทางพลังงานจากอ่าวไทย” ว่า MOU 44 เป็นกรอบที่ดี การยกเลิกจะทำให้บรรยากาศไม่ค่อยดี และไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ ที่สำคัญตนเป็นห่วงถ้ายกเลิก MOU 44 จะเข้าทางคนที่ไม่อยากแบ่งเขต แต่อยากแค่แบ่งผลประโยชน์ทางทะเลอย่างเดียว
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต สว. กล่าวในหัวข้อ “มุมมองต่อ MOU 2544” ว่า กรณีที่ไทยและกัมพูชาเกิดประเด็นขึ้นมาเริ่มต้นจากการประกาศกฤษฎีกาของกัมพูชาเมื่อปี 2515 ซึ่งกำหนดเส้นเขตแดนไหล่ทวีปที่มีความแตกต่างมากจากของไทยที่ประกาศเมื่อปี 2516 โดยไทยใช้เส้นมัธยะจากเส้นกึ่งกลางทะเล ในเมื่อแตกต่างกันมาก จึงทำให้คุยกันได้ยาก ตนเรียกว่าเส้นของกัมพูชาว่าเป็นเส้น เถยจิต ซึ่งคำนี้แปลว่าความคิดที่จะขโมย คิดอย่างโจรตั้งใจที่จะลักทรัพย์ ลักขโมย เพราะกัมพูชาจงใจบิดเบือนด้วยการลากเส้นเล็งห่างหลักเขตแดนจากเขาสูงสุดมายังเกาะกูด เป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลที่รุกล้ำ ผ่ากลางเกาะกูดที่เป็นอธิปไตยของไทย ละเมิดอาณาเขตทางทะเลดินแดนเกาะกูด จึงทำให้ฝ่ายที่เห็นต่าง มองว่าเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชาเมื่อปี 2515 จึงเป็นการเต้าเรื่องและเคลมขึ้นมา จนสร้างเรื่องมหาศาล เมื่อมีการนำเส้นที่อีกฝ่ายอ้างสิทธิมาเข้าเกี่ยวข้อง ทำให้ถูกมองได้ว่าไทยยอมรับเส้นนั้นมาเป็นฐานในการเจรจาได้ ต่างฝ่ายต่างยอมรับของการมีอยู่ของเส้นอ้างสิทธิ กัมพูชาอาจใช้อ้างได้ว่าเขาประสบความสำเร็จที่ทำให้ไทยยอมรับ หรือฝ่ายไทยอาจจะอ้างได้ว่าเราทำสำเร็จที่ทำให้กัมพูชายอมรับเส้นที่เราอ้าง
"ข้อดีของ MOU 44 เป็นนวัตกรรมที่มาจากการที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ยินยอมให้มีการเสียดินแดน ทำให้ต้องมีการเจรจากันทั้งเรื่องการแบ่งเขตแดนและแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ MOU ปี 2544 มีอายุ 24 ปีแล้ว เป็นสิ่งที่ทางกระทรวงหวังว่าจะสำเร็จ แต่มาถึงขณะนี้ก็ยังไม่สำเร็จ และจากนี้ไปมีหลายสิ่งที่ยิ่งทำให้ยากประสบความสำเร็จ แม้ยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ" นายคำนูณกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อันวาร์พบแม้ว ถกปมเมียนมา สกุลเงินคริปโต
"อันวาร์" โพสต์ภาพ "ทักษิณ" ร่วมหารือสถานการณ์ "เมียนมา-สกุลเงินคริปโต"
‘คลัง’แจงหุ้นตก ให้มองระยะยาว โวศก.ไทยแกร่ง
นายกฯ ถกเตรียมจัดประชุมสภาธนาคารโลก ต.ค. 69 ที่กรุงเทพฯ
ตัดไฟเมืองบาปเบาไปหาหนัก
รัฐบาลไทยมะงุมมะงาหรา ไม่กล้าตัดไฟเมืองบาป “สมช.” ดิ้นหนีความรับผิดชอบ
คิกออฟหยุดเผาหยุดฝุ่น พื้นที่ขานรับแล้ว43จว.
เริ่มแล้วเคาะประตูบ้าน "หยุดเผา หยุดฝุ่น" ทุกพื้นที่ขานรับมาตรการ
เลือกตั้งสจ.ใหม่4เขต กกต.ชี้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์แง้มบัตรเขย่ง5แห่งรอจว.ชงมา
“แสวง” เผยยอดใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. 58.45% เตรียมเลือก ส.อบจ.ใหม่ 4 เขตใน 4 จังหวัด เหตุได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์
โต้นายสิ้นมนตร์ขลัง พท.โวได้เกินครึ่ง/บัตรเสีย-โนโหวตพุ่ง
เลือกนายก อบจ.-ส.อบจ. บัตรเสีย-บัตรโนโหวตพุ่งสูง "โคราช"