ไทยดัชนีโกงร่วง รั้งอันดับ110โลก ยื่นปปช.ฟันบิ๊กตู่

ผล CPI ดัชนีรับรู้การทุจริตประจำปี 64 ไทยร่วง! ได้ 35 คะแนน อยู่อันดับ 110 โลก ตกจากปีที่แล้ว รั้งอันดับ 6 อาเซียน "หมอชลน่าน" จ้วงซ้ำสะท้อนรัฐบาลประยุทธ์ล้มเหลว เอื้อประโยชน์พวกพ้อง "อดีต ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 5" ร้อง ป.ป.ช.ฟันอาญา "บิ๊กตู่-วิษณุ" ปมตั้งอดีตเลขาฯ ศาลยุติธรรมนั่งตำแหน่งสำคัญ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เวลาประมาณ 12.01 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก ลดลงจากปีก่อนที่ได้รับ 36 คะแนน และเป็นอันดับที่ 104 ของโลก

สถิติคะแนน CPI ของไทยประจำปี 2564 หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 จากทั้งหมด 11 ประเทศ โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 85 คะแนน ถัดมาเป็นมาเลเซีย 48 คะแนน, ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน, เวียดนาม 39 คะแนน, อินโดนีเซีย 38 คะแนน และไทย 35 คะแนน

ลำดับถัดจากนั้นคือ ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน, ลาว 30 คะแนน, เมียนมา 28 คะแนน, กัมพูชา 23 คะแนน ส่วนบรูไนมิได้มีการระบุข้อมูลคะแนนของปี 2564

สำหรับแหล่งข้อมูลของคะแนนจาก CPI ปี 2564 ที่ใช้ในการประเมินมีทั้งสิ้น 9 แหล่งข้อมูล จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่า 1.IMD WORLD หรือคะแนนในส่วนการติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ 39 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 41 คะแนน 2.BF (IT) หรือการปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563 3.EIU หรือความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

4.GI หรือการดำเนินการทางธุรกิจ ต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน เท่ากับปี 2563 5.PERC หรือระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน 6.PRS หรือการมีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ได้ 32 คะแนน เท่ากับเมื่อปี 2563

7.WEF หรือภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด ได้ 42 คะแนน ลดลง 1 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 43 คะแนน 8.WJP หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน 9.V-DEM หรือการทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม มากน้อยเพียงใด ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน โดยได้ 26 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้เพียง 20 คะแนน

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณชัดว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้นที่สามารถบ่งชี้เป็นดัชนีได้ สะท้อนกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ต้องการมาปราบทุจริตคอร์รัปชัน แต่กลับพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันเยอะที่สุด ดัชนีดังกล่าวยังสะท้อนการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีความสามารถในการเข้าไปดูว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะปราบอย่างไร และจะแก้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นความล้มเหลว รวมถึงยังสะท้อนว่ามีการปล่อยปละละเลย รู้เห็นเป็นใจ แสวงหาผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อตนเองเพื่อกลุ่มและเพื่อพวกพ้อง

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฐานแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม แต่งตั้งข้าราชการศาลยุติธรรม ที่ประธานศาลฎีกามีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องทุจริตจัดซื้อจัดจ้างไปทำหน้าที่สำคัญในหน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัดรัฐบาลหลายแห่งอันอาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย ในข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และความผิดต่อจริยธรรมของนักการเมือง

สำหรับรายละเอียดหนังสือร้องเรียนระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม กรณีมีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง และได้มีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดแล้วก่อนหน้านี้ แต่หลังจากนั้นมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีชื่อนายสราวุธ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งนายวิษณุเป็นผู้รับผิดชอบลงนามสนองพระบรมราชโองการ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการตำรวจโดยแต่งตั้งให้นายสราวุธ ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการ ในคณะอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 คณะรัฐมนตรีซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์และนายวิษณุ ได้ร่วมประชุมและมีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการไฟฟ้านครหลวง โดยมีชื่อนายสราวุธ ดำรงตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้านครหลวงต่ออีก 1 สมัย

กรณีแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ 3 กรณีเกิดขึ้นภายหลังประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์และนายวิษณุย่อมทราบดีว่าต้นสังกัดไม่อาจอนุญาตให้นายสราวุธไปดำรงตำแหน่งอื่นใดนอกราชการศาลยุติธรรมได้ กรณีผู้ถูกร้องทั้งสองใช้อำนาจในตำแหน่งแต่งตั้งหรือเห็นชอบให้นายสราวุธไปดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยพลการ เป็นการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม และเป็นการด้อยค่า ทำลายความน่าเชื่อถือของประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายสราวุธ อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 193 และขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้มีการแถลงต่อรัฐสภา จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม จึงขอให้ ป.ป.ช.สอบสวน และดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 91 รวมทั้งตรวจสอบว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเป็นความผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วยหรือไม่

นอกจากนั้นยังพบว่า นายสราวุธยังดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาล เช่น ประธานกรรมการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ป.ป.ช., ประธานกรรมการธุรกรรมในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, กรรมการทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์