รพ.ตร.ปกป้องแม้ว ส่งเวชระเบียนให้แพทยสภาแค่บางส่วน‘อมร’ย้ำต้องจบเร็ว

รพ.ตำรวจยังยึกยัก ส่งเวชระเบียนรักษา "นักโทษเทวดา" ให้กรรมการสอบแพทยสภา แต่ส่งให้แค่บางส่วน! ด้าน "หมออมร-ปธ.กรรมการฯ" เผยหากยังไม่ครบถ้วนอาจต้องขอเพิ่มเติม ลั่นต้องทำงานเป็นความลับ ไม่ให้ใครมาแทรกแซงได้ ยันปิดบัญชีไม่เกิน มี.ค. ทำงานได้ใจหมอทั่วประเทศ เทคะแนนเสียงท่วมท้นเลือกให้เป็น กก.แพทยสภาชุดใหม่ ได้คะแนนอันดับ 4 ขณะที่ "หมอประสิทธิ์ วัฒนาภา"   คะแนนอันดับหนึ่ง "อดีต สส.ปชป." พบช่องยื่นศาลฎีกาฯ ครั้งที่ 3 ลาก "ทักษิณ" กลับไปขังคุก  "จตุพร" เขย่า "นายกฯ อิ๊งค์" หากผลสอบชี้ว่าป่วยทิพย์ย่อมมีส่วนร่วมปกปิดด้วย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่สำนักงานแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ แพทยสภา ที่ทำการสอบสวน ตรวจสอบ กรณีแพทย์โรงพยาบาลตำรวจรักษานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เพื่อวางแนวทางการสอบสวนเรื่องดังกล่าว โดยใช้เวลาประชุมเกือบ 4 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรกล่าวภายหลังการประชุมว่า อนุกรรมการสอบสวนฯ ได้มีการประชุมเพื่อวางแนวทางการสอบสวนและการตรวจสอบเอกสารทางการแพทย์ของ รพ.ตำรวจ  โดยในที่ประชุมได้มีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ   ที่ รพ.ตำรวจส่งมาว่าได้ส่งมาครบถ้วนตามที่อนุกรรมการฯ ได้ส่งหนังสือถึงแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจให้ส่งมาหรือไม่ แต่รายละเอียดว่าส่งมาครบถ้วนหรือไม่ กำลังจะมีการตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็พบว่าส่งมาแล้วหลายส่วน

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้คุยกันว่า การสอบสวนของอนุกรรมการฯ ต่อจากนี้ จะทำอย่างเป็นความลับ ไม่อยากให้เป็นข่าวออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลออกมา จะได้ไม่เกิดการแทรกแซงการทำงานของอนุกรรมการสอบสวนฯ 

 “ทาง รพ.ตำรวจได้มีการส่งเวชระเบียนรักษาคนไข้ (นายทักษิณ) มาให้คณะอนุกรรมการฯ ตามที่แจ้งให้ รพ.ตำรวจส่งมา โดยมีเวชระเบียนส่งมาด้วย แต่ก็ส่งมาบางส่วน ซึ่งอนุกรรมการฯ จะมีการพิจารณากันต่อไปว่าเอกสารทางการแพทย์ที่ส่งมาครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอที่จะลงมติตัดสินได้เลยหรือไม่ หากเห็นว่าเอกสารทางการแพย์ที่ รพ.ตำรวจส่งมาครบถ้วนเพียงพอ อนุกรรมการฯ ก็จะลงมติตัดสินเลย เรื่องจะได้จบเร็วๆ แต่หากไม่สมบูรณ์ครบถ้วน  อนุกรรมการฯ ก็อาจต้องสอบสวนเพิ่มเติม อนุกรรมการฯ ก็ไม่อยากเปิดเผยความลับมาก เพราะหากเปิดเผยมาก คนรู้เรื่องมาก มันจะยุ่งกันไปหมด หลังจากนี้อนุกรรมการฯ จะมาตรวจดูเอกสาร"

ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พบว่า รพ.ตำรวจมีการส่งเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ทำการรักษาตัวผู้ป่วยส่งมาให้อนุกรรมการฯ เช่นกัน แต่เบื้องต้นอาจจะต้องมีการขอเอกสารเพิ่มเติมอีก และอนุกรรมการฯ จะเรียกมาชี้แจงด้วย เพื่อให้ครบตามขั้นตอน ก็จะทำให้เสร็จเร็วที่สุด เพราะไม่อยากให้มันรั่วไหลแล้วโดนแทรกแซง โดนใครต่อใคร เท่าที่อนุกรรมการสอบสวนฯ คุยกัน ก็อยากให้สอบสวนเสร็จทุกอย่างภายในไม่เกินเดือนมีนาคม แต่หากไม่เสร็จจริงๆ ก็อาจขยับเวลาออกไปเล็กน้อย อนุกรรมการฯ จะพยายามเร่งเครื่องให้มันจบเร็วๆ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ที่มีวาระการทำหน้าที่ 3 ปี คือปี 2568-2570  โดยผลปรากฏว่า ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรได้รับความไว้วางใจจากบุคลากรสาธารณสุข-แพทย์ทั่วประเทศ เลือกให้เข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ด้วยคะแนนสูงจากผู้สมัครที่เป็นแพทย์-อาจารย์แพทย์ โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรได้คะแนนมาเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนน 4,503 คะแนน ส่วนคนที่ได้คะแนนมาอันดับหนึ่งคือ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ได้ 6,424 คะแนน โดยกรรมการแพทยสภาจะมีวาระการทำหน้าที่ 3 ปี และเริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 35 คนแรก จะได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ.2568-2573

กก.ชุดใหม่ชี้ขาดป่วยทิพย์

ที่น่าสนใจก็คือ กรรมการแพทยสภาชุดใหม่ดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ลงมติตัดสินผลการสอบสวนเรื่อง รพ.ตำรวจด้วย หลังคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจฯ ที่สอบสวนการทำงานของแพทย์ รพ.ตำรวจสรุปผลสอบสวนเสร็จสิ้น และทำความเห็นของอนุกรรมการฯ ส่งไปให้แพทยสภา ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากันในที่ประชุมกรรมการแพทยสภา ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานโดยตำแหน่ง

มีรายงานว่า นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องเป็นครั้งที่ 3 ขอให้ศาลไต่สวนและออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร กลับไปขังคุกแล้วเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ โดยได้ยื่นคำร้องเป็น 2 ฉบับ 

ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ทำการไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์นำนักโทษออกจากเรือนจำโดยขัดหมายศาล และฝ่าฝืนคำพิพากษาของศาล โดยไม่เข้ากรณีที่จะนำนักโทษออกไปนอกเรือนจำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำการไต่สวนและออกหมายจับจำเลยมาขังไว้ตามคำพิพากษาต่อไป

ฉบับที่ 2 ยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกา ขอให้มีคำสั่งให้นำคำร้องขอไต่สวนดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะเป็นเรื่องสำคัญ กระทบต่อระบอบการปกครอง  กระทบต่อพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ และความศักดิ์สิทธิ์ของศาล และเป็นการถ่วงดุลการก้าวล่วง ทำลายล้างอำนาจตุลาการของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะต้องรอฟังคำสั่งของประธานศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีคำสั่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ทั้งนี้ นายชาญชัยเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 โดยนายชาญชัย และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ได้ร่วมกันยื่นร้องต่อศาลในประเด็นว่า นายทักษิณได้รับโทษจำคุกและได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริง พฤติกรรมการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ป.วิอาญา และคำสั่งของศาลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ศาลได้วินิจฉัยตอบในวันนั้นว่า ศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว  การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง

นายชาญชัยเชื่อว่า เท่ากับศาลได้ชี้ประเด็นกลับมาให้ดูว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด มีพฤติกรรมเช่นใด เพราะคำร้องนี้ร้องเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องไปร้องต่อศาลอื่น ศาลฎีกานักการเมืองไม่มีอำนาจวินิจฉัย

เขย่า 'นายกฯ อิ๊งค์' ร่วมปกปิด

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2567 นายชาญชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นครั้งที่ 2 ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ว่าด้วยหมวด 9 การบังคับคดีข้อ 61 และ 62 ว่า มีกฎหมายมาตรา 246 และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่ระบุมิให้ออกกฎกระทรวงหรือมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ การที่นายทักษิณออกมานอนรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ถือเป็นการทุเลาโทษ และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

แต่ศาลมีคำวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า  กรณีไม่ปรากฏมีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง”  นายชาญชัยเชื่ออีกว่า การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 246 อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ไม่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เสมือนศาลต้องการให้ตนไปเขียนคำฟ้องใหม่ โดยต้องรวบรวมพยานหลักฐานและตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน จึงสามารถยื่นคำร้องใหม่เป็นครั้งที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองได้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า วันที่ 15 ม.ค. ครบกำหนดที่แพทย์ รพ.ตำรวจและ รพ.ราชทัณฑ์ ที่ถูกสอบจรรยาบรรณต้องส่งคำชี้แจงการรักษาและเวชระเบียนให้แพทยสภาได้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ส่งมา ประชาชนที่ห่วงใยบ้านเมืองคงพากันไปทวงถามความรับผิดชอบกับนายกฯ  ที่คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ สตช. ซึ่งดูแล รพ.ตำรวจโดยตรง

 "นายกฯ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีทักษิณ ชินวัตร เข้าพักชั้น 14 รพ.ตำรวจ เพราะเป็นบุคคลหนึ่งในสิบชื่อที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม หากการพักชั้น 14 เป็นป่วยทิพย์แล้ว นายกฯ ย่อมมีส่วนร่วมปกปิดการป่วยทิพย์ด้วย"

นายจตุพรกล่าวว่า ส่วน ป.ป.ช.เริ่มมีความคืบหน้า โดยตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการไต่สวนชั้น 14 ดังนั้น การทำหน้าที่ของแพทยสภาและ ป.ป.ช. ควรเร่งเวลาที่มีคุณค่ากับสถานการณ์ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะตั้งบ่อนกาสิโน แล้วยังออกกฎหมายมารองรับให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ขณะเดียวกัน สังคมได้ส่งเสียงต่อต้านบ่อนกาสิโนลุกลามอย่างกว้างขวางในสื่อโซเชียลมีเดีย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง