กกพ.ยกแนวทางลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ รีดไขมันจากกลุ่ม Adder และ FiT ให้เหลือเท่าอัตราผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ชี้เอกชนผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว ส่งผลค่าไฟเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ยังไม่ถึง 3.70 บาทต่อหน่วย ตามความต้องการของพ่อนายกฯ ชี้สะท้อนต้นทุนจริง พร้อมหารือภาคนโยบายเพื่อทบทวนและเป็นทางเลือก
เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 2/2568 (ครั้งที่ 943) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2568 มีมติให้นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in Tariff (FiT) ที่มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ มาเป็นราคารับซื้อเดียวกับไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง และจะทำให้ค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายเหลือประมาณ 3.98 บาทต่อหน่วย
“ก่อนหน้านี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และ กกพ.เองก็ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ซึ่ง กกพ.ได้นำเสนอมาตรการในหลายๆ ทางเลือกเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และทางเลือกหนึ่งในขณะนั้นคือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ กกพ.เห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์เหมาะสม จึงได้หยิบยกขึ้นมาหารือ และให้สำนักงาน กกพ.นำเสนอภาคนโยบายเพื่อทบทวนและเป็นทางเลือกในการลดค่าไฟให้พี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่ง” นายพูลพัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ.2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ
1.ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2.การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปี และเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ.คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด
นายพูลพัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิม และให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อม สามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดลงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2568 ได้ระบุค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรีหรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ตอนหนึ่งว่า จะลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย โดยระบุว่า บ้านเรามีเสือนอนกิน มีทุกที่วงการ กำลังนั่งไล่ รัฐมนตรีไปพูดกับข้าราชการ ก็มีคำแก้ตัวสารพัด นายกฯ ก็ไปพูดกับรัฐมนตรีว่าต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้จะเปลี่ยนคนมาแทน รัฐมนตรีจึงจะตื่นตัว อย่างเช่นเรื่องข้าว เรื่องไฟฟ้า
"ปีนี้ค่าไฟฟ้าจะต้องลงไปอยู่ที่เลข 3 ไม่ใช่เลข 4 ใจผมอยากให้เหลือ 3.50 บาท แต่คงได้แค่ 3.70 บาท กำลังให้เขาช่วยทุบอยู่ ปีนี้ค่าไฟลงแน่ เห็นตัวเลขแล้วทุบได้" นายทักษิณกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พรรคส้ม-น้ำเงินโต้เดือด! ทุ่มร้อยล้านซื้อเสียงอบจ.
ปะทะเดือด! "ปชน." โวย สส.ค่ายน้ำเงินขู่กลางห้องประชุมสภาฯ อย่ายุ่งเลือกตั้ง อบจ. "มัลลิกา” ซัดกลับ “ประเสริฐพงษ์”
โปรยยาหอม‘ชายแดนใต้’ อิ๊งค์ประทับใจจะกลับมาอีก
นายกฯ บินชายแดนใต้ อุ่นใจ ผบ.ตร.-ผบ.ทบ.ร่วมวง พร้อมเซลฟีฉ่ำ
‘ผู้มีบารมี’นัดดีลลับกาสิโนที่ฮ่องกง
"นายกฯ" เปิดประชุม รมต.อาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 5 ชูนโยบายร่วมมือแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ยกระดับเข้มปราบภัยออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์
การันตี27ม.ค. นัดโอนเงินหมื่น เช็กสิทธิทางรัฐ
“เผ่าภูมิ” การันตี 27 ม.ค. นัดโอนเงิน 10,000 บาท พร้อมกางไทม์ไลน์ 22 ม.ค.
รพ.ตร.ปกป้องแม้ว ส่งเวชระเบียนให้แพทยสภาแค่บางส่วน‘อมร’ย้ำต้องจบเร็ว
รพ.ตำรวจยังยึกยัก ส่งเวชระเบียนรักษา "นักโทษเทวดา" ให้กรรมการสอบแพทยสภา
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.