แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ รพ.ตำรวจ ขีดเส้นเดือน มี.ค.ต้องจบ จ่อเรียกหมอเจ้าของไข้สอบถามรายคน ขณะที่ “คปท.-กองทัพธรรม” บุกให้กำลังใจให้รอดเงื้อมมือการเมือง อย่ากลายเป็นสร้างตราบาปองค์กรฟอกผิดให้ทักษิณ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านลับมีดศึกซักฟอก คุยฟุ้งสับเละ 20 ประเด็นโยงทุจริตเชิงนโยบายโจ่งแจ้ง นักร้องรุก ยื่น อสส.ส่งศาล รธน. "อุ๊งอิ๊ง" ตั้ง "เต้น-ณัฐวุฒิ" นั่งเป็นกุนซือนายกฯ
เมื่อวันพุธ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ แพทยสภา ที่สอบสวนจรรยาบรรณแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กรณีรักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร ที่นอน รพ.ตำรวจ 6 เดือน เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 16 ม.ค. เพื่อวางแนวทางการสอบสวนเรื่องดังกล่าว หลังจากครบกำหนดที่คณะอนุกรรมการฯ ส่งหนังสือถึงแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ให้ส่งเอกสารการรักษาตัวนายทักษิณมาให้คณะอนุกรรมการฯ ทั้งหมดภายในวันที่ 15 มกราคม ซึ่งเบื้องต้นก็ทราบมาว่าได้มีการทยอยส่งมาให้บ้างแล้ว
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรระบุว่า การสอบสวนของอนุกรรมการฯ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งหาก รพ.ตำรวจส่งเอกสารมาครบ การตรวจสอบก็ใช้เวลาไม่นาน โดยหากมีประเด็นที่อนุกรรมการสอบสวนติดใจสงสัย ก็อาจต้องเรียกแพทย์ รพ.ตำรวจแต่ละคนที่เกี่ยวข้องมาสอบถามต่อไป ที่ก็พยายามให้เสร็จภายในไม่เกินเดือนมีนาคมนี้
“โดยหากอนุกรรมการฯ พิจารณาและทำความเห็นเสร็จ เราก็ส่งให้แพทยสภาชุดใหม่ ที่เลือกตั้งกันวันนี้ 15 มกราคม เป็นผู้พิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับอนุกรรมการฯ หรือไม่ การตรวจสอบช้าหรือเร็วอยู่ที่เอกสารมาครบหรือไม่ อนุกรรมการฯ ก็อยากเร่ง แต่ต้องทำให้รอบคอบ ถูกต้อง การตรวจสอบจบเร็วก็ดี มีนาคมก็อยากให้จบ ผมก็อยากให้จบเร็ว ไม่อยากให้ช้า ส่วนที่สังคมจับตามองการทำงานของอนุกรรมการฯ ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ยืนยันจะทำให้ถูกต้อง ยุติธรรม ตามเอกสารหลักฐาน ตามกฎเกณฑ์” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรระบุ
เมื่อถามว่า อนุกรรมการฯ จะต้องเรียกหมอ รพ.ตำรวจมาชี้แจงหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมรกล่าวว่า ก็อาจจะต้องเรียกมาชี้แจง ถ้าตรงไหนไม่ชัดเจน เห็นเอกสารแล้วไม่ชัดเจน ก็ต้องเชิญเขามา ให้เขาพูดชี้แจงได้เต็มที่ ก็เหมือนกับศาล ก็ถามกันได้เต็มที่ แต่ขั้นตอนนี้ก็อยู่ในกฎระเบียบการสอบสวนของแพทยสภาอยู่แล้ว คือเรียกเอกสาร และเรียกมาชี้แจงเพิ่มเติมได้ อนุกรรมการฯ ก็จะดำเนินการให้ครบถ้วน ทำให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา ในฐานะประธานอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ที่ตั้งโดยมติที่ประชุมแพทยสภาฯ ได้ทำหนังสือของแพทยสภา ลงวันที่ 16 ธ.ค.2567 ถึงแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 3 หน้ากระดาษ โดยมีใจความโดยสรุปที่น่าสนใจว่า คณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเฉพาะกิจตั้งขึ้น ขอความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ที่ก็คือการขอความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตอนที่แพทย์ทำรายงาน 3 ครั้งคือ ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ รมว.ยุติธรรม ในช่วงครบ 30 วัน 60 วัน และ 120 วันตามลำดับ โดยให้ส่งรวมมาให้อนุกรรมการฯ ทั้งหมด
นอกจากนี้ อนุกรรมการสอบสวนของแพทยสภายังขอให้ส่งสำเนาใบส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาต่อสำเนาเวชระเบียน สำเนาบันทึกการผ่าตัด สำเนาบันทึกการให้ยาระงับความรู้สึก สำเนาบันทึกการพยาบาล สำเนารายงานทางการแพทย์ และเอกสารหรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล เช่น ภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัย ผลการตรวจทางรังสี ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอกสารใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษานายทักษิณ ชินวัตร โดยให้ระบุหมายเลขหน้าเอกสาร และให้เจ้าหน้าที่ลงนามรับรองเอกสารทุกหน้าด้วย
“ขอตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อการรักษาไปที่ รพ.ตำรวจ จนกระทั่งผู้ป่วยถูกจำหน่ายออกจาก รพ.ตำรวจ ซึ่งถือว่าเกี่ยวข้องกับการพิจารณาจริยธรรมในครั้งนี้ โดยขอให้ท่านทำคำชี้แจงพร้อมพยานหลักฐานที่สนับสนุนคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามประเด็นข้างต้น โดยให้ส่งมาให้คณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2568" เอกสารสำคัญของแพทยสภาดังกล่าวระบุ
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม รวมตัวกันที่แพทยสภา เพื่อยื่นหนังสือและให้กำลังใจแพทยสภา ในการเฝ้ารอเวชระเบียน ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของทางแพทยสภา ที่ได้ขอข้อมูลการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่รักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตลอด 6 เดือน
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ครบกำหนดเส้นตายที่แพทยสภาให้ รพ.ตำรวจส่งเอกสารทางการแพทย์กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณมาให้ เราจึงเดินทางมาให้กำลังใจแพทยสภา เดินหน้าพิสูจน์ความจริง รักษากระบวนการยุติธรรม รักษาอาการป่วยของประเทศไทย หากไม่กระจ่างเราก็ตั้งคำถามอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
"อย่างไรก็ตาม แพทยสภาอยู่ใกล้ชิดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย และมีความห่วงใยว่าจะมีการเมืองแทรกแซงแพทยสภา หากแพทยสภาปล่อยให้การเมืองแทรกแซงได้ ก็จะกลายเป็นองค์กรฟอกความผิดให้นายทักษิณ กลายเป็นตราประทับ ตราบาปชนิดหนึ่ง จึงหวังว่าแพทยสภาจะยึดมั่น รักษา มั่นใจจรรยาบรรณของแพทย์ วันนี้แพทยสภาเป็นทางออก ทางรอดหนึ่งที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สังคมได้อย่างชัดเจน แล้วฉีดยาความจริงให้สังคม ซึ่งความจริงนั้นอยู่ที่เวชระเบียนที่จะช่วยรักษากระบวนการยุติธรรม” นายพิชิตระบุ
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ตามกำหนดจะอยู่ในช่วงเดือน มี.ค. เราจะพยายามยื่นให้เร็วที่สุด โดยภายในพรรคร่วมฝ่ายค้านขณะนี้ดำเนินการในส่วนของพรรคตัวเอง ในส่วนของพรรคประชาชนขณะนี้มี 20 เรื่อง
“เราอยากยืนยันว่า มีเรื่องที่พ่อแม่พี่น้องประชาชน รวมถึงข้าราชการในส่วนราชการ ที่ส่งข้อมูลมาให้เรา มีหลายเรื่องที่เรามองว่าสามารถโยงไปทำให้เห็นได้ว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบายอย่างเห็นได้ชัด มีผลประโยชน์ทับซ้อนภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในตอนนี้ได้” นายณัฐพงษ์ระบุ
วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถนนเเจ้งวัฒนะ นายสนธิญา สวัสดี นักร้องเรียนทางการเมือง ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อให้ตรวจสอบพิจารณาส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ต.ค.67 ที่ผ่านมา ที่อาจจะกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายณัฐวุฒิถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ถูกจำคุก 2 ปี 8 เดือน กรณีบุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้กระทำความผิดกฎหมายในมาตรา 112
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่นายวินิจ จินใจ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่าการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องที่ 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ถูกร้องที่ 2 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ถูกร้องที่ 3 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ถูกร้องที่ 4 นายสนธิญา สวัสดี ผู้ถูกร้องที่ 5 พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 6 และพรรคภูมิใจไทย ผู้ถูกร้องที่ 7 ที่ดำเนินการต่อพรรคก้าวไกล เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องในฐานะอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5มาตรา 25 และมาตราอื่น ๆ หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่ปรากฏว่านายวินิจถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยตรงจากการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต.อย่างไร เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของนายวินิจในฐานะอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองและ กกต.เท่านั้น กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ
สภา415เสียง แก้ไขข้อบังคับ คนนอกรื้อรธน.
“รัฐสภา” ถกแก้ข้อบังคับการประชุม "สว.-รทสช." รุมค้านเปิดทาง