‘จ่าเอ็ม’นอนคุก ล่าตัว‘มือชี้เป้า’ โยงคนจ้างวาน

ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง "จ่าเอ็ม" เปิดพฤติการณ์ฆ่าโหด "ลิม กิมยา" พบมือปืนนวดผ่อนคลายก่อนลงมือสังหาร เจ้าตัวสารภาพทุกข้อกล่าวหา ออกหมายจับ "พิช กิมสริน" มือชี้เป้าถือพาสปอร์ตกัมพูชา บช.น.เร่งขยายผลหาผู้มีพระคุณคนจ้างวาน พร้อมออกหมายแดงจับตัวคนชี้เป้า "ทวี" เตรียม “อสรจ.” ประกบดูแลความปลอดภัยหากส่งมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สั่งเช็กคู่อริคนสัญชาติเดียวกัน

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 13 มกราคม  พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้นำตัว พ.จ.อ.เอกลักษณ์ หรือจ่าเอ็ม อดีตนาวิกโยธิน สังกัดกองทัพเรือ ผู้ต้องหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง กรณีก่อเหตุยิง นายลิม กิมยา อายุ 73 ปี อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชาและนักเคลื่อนไหว ขณะเดินทางมาประเทศไทย กับภรรยาชาวฝรั่งเศส ที่บริเวณเกาะกลางถนนตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกต่อศาลอาญาเป็นเวลา 12 วัน

โดยคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.45 น. วันที่ 7 ม.ค. 2568 บริเวณวงเวียน 13 ห้าง ถนน 13 ห้าง พ.จ.อ.เอกลักษณ์ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้มาดักรอเพื่อก่อเหตุยิงทำร้าย นายลิม กิมยา ผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศฝรั่งเศสจนถึงแก่ความตาย โดยก่อนเกิดเหตุผู้ต้องหาได้มาใช้บริการที่ร้านนวดแผนโบราณเพื่อรอเวลาที่ผู้ตายเดินมาถึงที่เกิดเหตุ เมื่อผู้ตายนั่งรถโดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียนของประเทศกัมพูชามาใกล้ถึงสถานที่เกิดเหตุ ผู้ต้องหาได้ดักรอก่อเหตุที่บริเวณซุ้มประตูของวัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้นมีนายพิช กิมสริน ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนี และถือหนังสือเดินทางของประเทศกัมพูชา เดินลงจากรถโดยสารประจำทางคันดังกล่าว และได้เดินไปทางที่ผู้ต้องหาที่ 1 ยืนอยู่

จากนั้นนายพิช กิมสริน ได้กระทำท่าทีในลักษณะให้สัญญาณบ่งชี้เป้าหมายด้วยการมองหน้าไปยังผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 1 มองไปยังนายพิช กิมสริน จากนั้นผู้ต้องหาที่ 1 ได้เดินตามนายพิช กิมสริน พร้อมนำโทรศัพท์ขึ้นมาพิมพ์ข้อความ จากนั้นนายพิช กิมสริน หยิบโทรศัพท์มือถือจากกระเป๋ากางเกงข้างซ้ายขึ้นมาดู ผู้ต้องหาที่ 1 หันหลังกลับเดินตามผู้ตายกับพวกไป

ส่วนนายพิช กิมสริน เดินอ้อมกลับมาบริเวณเกาะกลางวงเวียน 13 ห้าง พร้อมหันไปมองผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ตายกับพวกอยู่ตลอด ในลักษณะตามดูเหตุการณ์และตามดูผลงานที่ผู้ต้องหาที่ 1 กำลังก่อเหตุยิงผู้ตาย จนกระทั่งผู้ต้องหาที่ 1 ใช้อาวุธปืนลูกโม่สั้น ยี่ห้อสมิทฯ ขนาด.38 ยิงผู้ตายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จากนั้นนายพิช กิมสริน ได้เดินออกจากสถานที่เกิดเหตุไป และผู้ต้องหาที่ 1 ก็หลบหนีไปเช่นกัน

จากข้อเท็จจริงในทางสืบสวน ผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 แบ่งหน้าที่กันทำ โดยผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้ลงมือยิงผู้ตาย ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้ชี้เป้าหมาย พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน จนศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 1-2 ต่อมาวันที่ 11 ม.ค. 2568 สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 และนำมาฝากขังต่อศาลในวันนี้ ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ยังหลบหนีและไม่สามารถจับกุมได้ในขณะนี้

การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288, 289 (4) 371, 376 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน      

ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนพยานอีก 20 ปาก (พยานชุดจับกุมและประจักษ์พยาน) รอผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ, ผลตรวจดีเอ็นเอผู้ต้องหา,ผลตรวจเขม่าอาวุธปืนจากร่างกายและเสื้อผ้าของผู้ต้องหา,ผลตรวจใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน, ผลตรวจทางนิติเวชจากศพผู้ตาย ศาลพิจารณาคำร้องเเล้วอนุญาตฝากขังได้

โดยในช่วงเวลา 10.00 น.เศษ มารดาของจ่าเอ็มได้เดินทางมาที่ศาลอาญาเพื่อเยี่ยมบุตรชายก่อนเดินทางกลับทันที ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวจ่าเอ็มไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตํารวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. และชุดสืบสวนคดีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งขยายผลในเรื่องของเส้นทางการเงิน รวมถึงตรวจสอบข้อมูลภายในโทรศัพท์มือถือของจ่าเอ็ม ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบต้องใช้เวลาซักระยะหนึ่ง หากได้ข้อมูลมาแล้วจะส่งต่อให้ชุดสืบสวนช่วยวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลใดบ้าง

สำหรับเรื่องของผู้มีพระคุณที่จ้างวานให้ก่อเหตุนั้น ผู้ต้องหายังคงให้การที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่คาดว่าบุคคลนี้น่าจะเป็นผู้มีพระคุณมากจนถึงขั้นยอมดำเนินการให้ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในต่างประเทศ แต่จะเป็นคนสัญชาติใดนั้นขอให้ชุดสืบสวนตรวจสอบรายละเอียดเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน และจะเกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ถามว่า ผู้จ้างวานเป็นคนที่เคยร่วมงานกัน หรือเป็นบุคคลที่ผู้ต้องหาอยู่ใต้บังคับบัญชา หรือเป็นบุคคลมีสีหรือไม่ พล.ต.ท.สยามตอบว่า เป็นบุคคลที่มีบุญคุณมาก ส่วนนายพิช กิมสริน ชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นคนชี้เป้า ขณะนี้ได้ออกหมายแดงให้ตำรวจสากล ตำรวจกัมพูชาจับกุมส่งตัวกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยแล้ว

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม  ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ทราบว่ายังไม่มีการนำตัวจ่าเอ็มเข้ามาที่เรือนจำ ซึ่งหากส่งมาจะมีการนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นั้น ผู้ต้องขังทุกคนเรามีการดูแลความปลอดภัย ส่วนกรณีของจ่าเอ็มเรือนจำต้องประเมินก่อน แต่สิ่งแรกที่อยากจะให้เห็นในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยในเรือนจำ นอกจากมีพัศดีแล้วยังมีอาสาสมัครที่ดูแลเรือนจำ ซึ่งเรียกว่า (อสรจ.) ที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี โดยจะดูเรื่องของความเจ็บป่วยครอบคลุมไปถึงความปลอดภัยของผู้ต้องขังในเรือนจำ

"กรณีของจ่าเอ็มอาจจะมีการส่งอาสาสมัครไปดูแล และปัจจุบันเรามีกล้องวงจรปิดตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการกระทำให้สูญหาย โดยจะมีการมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งเรือนจำยังมีระบบการประเมิน เช่นผู้ต้องหามีคู่อริหรือไม่ และผู้ราชทัณฑ์ที่เป็นสัญชาติเดียวกัน ซึ่งได้กำชับไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้บัญชาการเรือนจำ"

เมื่อถามว่า คดีดังกล่าวเหมือนเป็นการจ้างวานฆ่า เรือนจำจะมีมาตรการป้องกันการฆ่าปิดปากอย่างไร พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า เรามีมาตรการในการป้องกัน รวมถึงมาตรการการข่าวในการดูแลผู้ต้องขัง ยืนยันว่าในเรื่องการดูแลความปลอดภัยเรือนจำมีมาตรฐานเป็นสากล ส่วนความกังวลเรื่องการตัดตอนซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายนอกเรือนจำนั้น ต้องขอขอบคุณข้อกังวลต่างๆ หากเป็นเคสในลักษณะอย่างนี้ตำรวจจะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง