รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14

เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง "โฆษกตำรวจ" โยนกลับไร้อำนาจชี้แจง ด้าน "คปท." รุกหนักระดมพลหน้า สตช. ไล่บี้ "บิ๊กต่าย" ไฟเขียวส่งเวชระเบียน "จตุพร"  จับอาการ "พ่อนายกฯ" ปากกล้าขาสั่น เผย 21   ม.ค. บุกทำเนียบฯ ประณามรัฐบาลอุ้มชั้น 14

จากกรณีคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ  แพทยสภา ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี   อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ได้ส่งหนังสือถึงแพทย์ใหญ่โรงพยาบาล (รพ.) ตำรวจ เมื่อกลางเดือนธันวาคม  2567 ให้ รพ.ตำรวจและคณะแพทย์ที่รักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นผู้ต้องขัง 3 คดีทุจริตในขณะนั้น ตลอดช่วง 6 เดือนที่พักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ มาให้คณะอนุกรรมการฯ ภายในวันพุธที่ 15 ม.ค.นี้

เมื่อวันที่ 12 มกราคม พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าได้ส่งเอกสารไปให้คณะกรรมการของแพทยสภาหรือยัง โดยกล่าวว่า “ขอปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ และทางโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นคนให้ข่าว”

ทั้งนี้ เอกสารสำคัญในการรักษานายทักษิณ ชินวัตร ที่อนุกรรมการเฉพาะกิจของแพทยสภาขอให้ รพ.ตำรวจส่งเอกสารให้คำชี้แจง ประกอบด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งหมดโดยละเอียด ขอทราบชื่อ-สกุลแพทย์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดูแล เลขใบประกอบวิชาชีพ  การขอความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตอนที่แพทย์ทำรายงาน 3 ครั้ง คือถึง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม  และ รมว.ยุติธรรม ในช่วงครบ 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ตามลำดับ ที่ทำให้ไม่ต้องส่งนายทักษิณกลับไปที่ รพ.ของกรมราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รวมถึงสำเนาเวชระเบียน สำเนาบันทึกการผ่าตัด สำเนาบันทึกการให้ยาระงับความรู้สึก สำเนาบันทึกการพยาบาล สำเนารายงานทางการแพทย์ และเอกสารหรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล เช่น ภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัย ผลการตรวจทางรังสี ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอกสารใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษานายทักษิณ โดยให้ระบุหมายเลขหน้าเอกสาร และให้เจ้าหน้าที่ลงนามรับรองเอกสารทุกหน้าด้วย

"ขอตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2566 ที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อการรักษาไปที่ รพ.ตำรวจ จนกระทั่งผู้ป่วยถูกจำหน่ายออกจาก รพ.ตำรวจ ซึ่งถือว่าเกี่ยวข้องกับการพิจารณาจริยธรรมในครั้งนี้ โดยขอให้ท่านทำคำชี้แจงพร้อมพยานหลักฐานที่สนับสนุนคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามประเด็นข้างต้น โดยให้ส่งมาให้คณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ ภายในวันที่ 15 ม.ค.2568" เอกสารสำคัญของแพทยสภาดังกล่าวระบุ

โฆษกตร.โยนกลับแพทย์ใหญ่

ขณะที่่ พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เราไม่สามารถชี้แจงได้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราที่จะชี้แจง ไม่ได้เป็นการโยนกันไปมา ส่วนกรณีที่กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นัดรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ เพื่อติดตามเรื่อง รพ.ตำรวจส่งเอกสารให้แพทยสภานั้น ทำได้ เป็นไปตามระเบียบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก

  ด้าน คปท. ได้นัดเคลื่อนไหวรวมตัวกันในวันจันทร์นี้ เวลา 10.30 น. โดยเชิญชวนประชาชนให้ไปรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดตามเรื่อง รพ.ตำรวจ ส่งเอกสารให้แพทยสภา พร้อมระบุในเพจของ คปท.ว่า “ผบ.ตร.ต้องมีคำตอบ!! กรณีแพทยสภาขอเวชระเบียนนายทักษิณ ที่พักรักษาตัว รพ.ตำรวจ 180 วัน”

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "จะส่งเวชระเบียนหรือไม่" ว่า จะส่งเวชระเบียนหรือไม่ ช่วงนี้ประชาชนจำนวนไม่น้อย คงใจจดใจจ่อว่า รพ.ตำรวจ และ รพ.ราชทัณฑ์ จะส่งเวชระเบียนและรายละเอียดการรักษาพยาบาลของนายทักษิณ ตามที่แพทยสภาขอหรือไม่ ซึ่งมีกำหนดไว้วันที่ 15 ม.ค.นี้ อย่าลืมนะว่าการดำเนินการของแพทยสภา ในฐานะเจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจตามกฎหมาย เพื่อการสอบสวนด้านจริยธรรมของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่สำคัญข้อเท็จจริงต่างๆ ของนักโทษรายนี้ มีการถูกตั้งข้อสังเกตโดยกลุ่มแพทย์

เช่น คนไข้วิกฤตจะไม่ทำ MRI แต่รายนี้ทำ คนไข้วิกฤตจะไม่ส่องกล้องผ่าเอ็นที่ไหล่ จะรอให้อาการไม่วิกฤต แต่รายนี้ทำ คนไข้วิกฤตต้องติดเตียง จะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อที่แขนและขา แขนขาต้องลีบลง แต่รายนี้ไม่มีร่องรอย จึงมีคำถามจากกลุ่มแพทย์ว่าผู้ป่วยรายนี้วิกฤตจริงหรือ หรือเป็นการช่วยไม่ต้องอยู่เรือนจำ

"สิ่งที่ต้องติดตาม ถ้ามีการส่งเอกสารให้แพทยสภา ต้องติดตามว่า เอกสารดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ หรือมีการแต่งเรื่องขึ้นมา ซึ่งไม่น่าจะง่าย เพราะระบบของรักษาพยาบาล ในทุกๆ มิติ รวมทั้งแล็บ ต้องสอดคล้องกันหมด และต้องตอบข้อสงสัยต่างไปได้หมด แต่ถ้าไม่มีการส่ง เท่ากับว่ามีนัยที่ไม่ปกติเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องย้ำ รพ.ตำรวจ และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขอให้ทำอะไรตรงไปตรงมา เคารพกฎหมาย รักษาเกียรติศักดิ์ศรีของแพทย์  อย่าดื้อแพ่งเหมือนกับที่นักการเมืองบางคนทำ ถ้าท่านดื้อแพ่งไม่ยอมส่ง ทำตัวเหนือกฎหมาย ท่านอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การล่มสลายของรัฐบาลชุดนี้ก็ได้" นพ.วรงค์ระบุ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า อ่านภาษากายของนายทักษิณ ที่พูดกร่างมากมายไม่ได้แสดงถึงความมั่นใจต่อสถานการณ์ แต่แสดงถึงความกังวลกับผลการไต่สวนของแพทยสภาและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีชั้น 14 โดยหวังว่า 15 ม.ค.นี้ ครบกำหนดเวลาของแพทยสภาให้แพทย์ รพ.ตำรวจและราชทัณฑ์ส่งรายงานชี้แจงการรักษานายทักษิณ ชั้น 14 ดังนั้นจึงเชื่อว่าความจริงจะปรากฏ แต่ขณะนี้ดูเสมือนนายทักษิณ ได้สร้างความมั่นใจปลอม เพื่อกลบซ่อนความไม่มั่นใจในการตรวจสอบเอาไว้ ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากวันที่ 15 ม.ค. เมื่อแพทยสภาได้รับคำชี้แจงจากแพทย์รักษาทักษิณแล้ว จะตรวจสอบอย่างรวดเร็วใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 45 วัน จึงจะรู้ผล

บุกทำเนียบฯ ประณามรบ.

นอกจากนี้ ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ฝ่ายห่วงใยบ้านเมืองซึ่งมีความเห็นต่างจากรัฐบาลเพื่อไทย จะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประณามรัฐบาล  เพราะนายกรัฐมนตรีกำกับตำรวจ และตำรวจกำกับดูแล รพ.ตำรวจ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการช่วยเหลือไม่ให้นักโทษได้รับโทษ ดังนั้นคนที่ไปเยี่ยมทักษิณ ชั้น 14 ที่มีรายชื่ออนุญาต 10 ชื่อ ย่อมเข้าข่ายปกปิดความจริงและมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วย

ส่วนการไต่สวนชั้น 14 ของ ป.ป.ช. นายจตุพรกล่าวว่า เชื่อมั่นในตัวนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นประธานไต่สวนชั้น 14 เพราะถ้าไม่มีจุดยืนมั่นคงแล้ว ย่อมถูกแทรกแซงให้ล้มการไต่สวนไปแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช.ไต่สวน 12 ผู้เกี่ยวข้องเอื้อประโยชน์นายทักษิณพักชั้น 14 รพ.ตำรวจเป็นแค่เบื้องต้นที่ตรวจสอบเท่านั้น แต่จะขยายผลไปถึงผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่งเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนั้นผลการตรวจสอบของแพทยสภาจึงโยงถึงการไต่สวนของ ป.ป.ช.ด้วย

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “พิชิต ชื่นบาน โมเดล” ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 348/2567 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติม ลำดับที่ 2 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศ ณ วันที่ 4 ต.ค.2567 ประเด็นพิจารณา คือ 1.นายณัฐวุฒิถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี สามารถรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ 2.ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นตำแหน่งทางการเมืองทางการเมืองหรือไม่  ประเด็นนี้ กฤษฎีกาตีความ 3 คณะว่า ที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นตำแหน่งทางการเมือง 3.เมื่อตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นตำแหน่งทางการเมือง กรณีของนายณัฐวุฒิจะเข้าข้อห้าม ไม่มีคุณสมบัติในการรับตำแหน่งทางการเมือง เหมือนกรณีนายพิชิต ชื่นบาน ใช่หรือไม่ และ 4.เมื่อเข้าข่ายไม่มีคุณสมบัติ จะทำให้ น.ส.แพทองธาร ผู้ตั้ง หลุดจากตำแหน่งเหมือนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ใช่หรือไม่

วันเดียวกัน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ที่บริเวณบึงบอระเพ็ด ต.แควใหญ่ อ.เมืองฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญของภาคกลาง ในการเป็นพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำปิง-วัง-ยม-น่าน ที่มารวมกันที่ปากน้ำโพ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และไหลลงสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ในโครงการ “ธนารักษ์เอื้อราษฎร์ สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่อาคารอเนกประสงค์ บึงบอระเพ็ด เพื่อสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ประชาชนมีพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน จากนั้นจะเดินทางไปที่บริเวณ "ประตูดำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์" ต.แควใหญ่ อ.เมืองฯ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ และการขุดลอกพื้นที่กักเก็บน้ำที่บริเวณจุดดังกล่าว หากเร่งแก้ไขจะทำให้นโยบายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ภาคกลางสำเร็จได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ